นักวิชาการทีดีอาร์ไอเผยปี 61 แรงงานได้ค่าจ้างน้อยกว่าขั้นต่ำ 4 ล้านคน ทำให้เสียโอกาสด้านรายได้รวม 566 ล้านบาท/ปี ไม่เห็นด้วยปรับขึ้นก้าวกระโดด หวั่นกระทบเอสเอ็มอี ต้องแบบค่อยเป็นค่อยไป แนะเลี่ยงแนวคิดจ่ายสมทบประกันสังคมแทน-ประกันรายได้ 1 หมื่น สร้างภาระรัฐ พื้นที่คลังตึงตัว ปชช.เสพติดรัฐสวัสดิการ
วันที่ 31 ก.ค. 2562 ดร.สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ฝายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในเวทีเสวนาสาธารณะหัวข้อ “ค่าจ้างขั้นต่ำกับความท้าทายในสังคมไทย” จัดโดยสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ ม.ธรรมศาสตร์ ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) กรุงเทพฯ
ดร.สราวุธ กล่าวตอนหนึ่งถึงสถานการณ์ลูกจ้างเอกชนที่ได้ค่าจ้างระดับต่าง ๆ พ.ศ. 2562 ว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 14.9 ล้านคน ในจำนวนนี้มีผู้ได้ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 318 บาท/วัน หรือ 8,267 บาท/เดือน สูงถึง 4 ล้านคน (ร้อยละ 27) ในขณะที่มีผู้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 8,268-8,999 บาท/เดือน 1.2 ล้านคน (ร้อยละ 8) และได้มากกว่า 8,999 บาท/เดือน 9.6 ล้านคน (ร้อยละ 65) โดยจำนวนที่ได้ค่าจ้าง 10,000 บาท/เดือน หรือวันละ 400 บาท มี 900,000 คน (ร้อยละ 6)
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ระบุว่า ในแต่ละปีมีลูกจ้างเอกชนที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าขั้นต่ำ 4 ล้านคนนั้น ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะพบเป็นเงินที่ขาดหายไป 566 ล้านบาท/วัน หรือ 14,711 ล้านบาท/เดือน หรือ 176,537 ล้านบาท/ปี กลายเป็นค่าเสียโอกาสของลูกจ้างเอกชนเหล่านั้น
นอกจากนี้ในปี 2561 ตรวจแรงงานพบปฏิบัติไม่ถูกต้อง 9,882 คน ผิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึง 9,789 คน (ร้อยละ 99) แล้วขณะนี้ค่าจ้างเฉลี่ยของทั้งประเทศ 12,293 บาท/เดือน ขณะที่ค่าจ้างขั้นต่ำต่อเดือน 8,268 บาท แสดงว่า ต่ำกว่าค่าจ้างเฉลี่ย 4,025 บาท/เดือน ซึ่งปรากฎการณ์ดังกล่าวมีมาตั้งแต่ ปี 2544 ที่ค่าจ้างขั้นต่ำน้อยกว่าค่าจ้างเฉลี่ยมาโดยตลอด
นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า เวลานี้จึงต้องแยกเป็น 2 ระบบ คือ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำใช้สำหรับแรงงานแรกเข้า ยังไม่มีทักษะ และอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ขณะที่การขึ้นค่าจ้างในสถานการณ์เศรษฐกิจฝืดเคืองมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs จึงไม่ควรขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ควรค่อย ๆ ปรับขึ้นร้อยละ 5-10 แต่หากไม่ปรับขึ้นเลย แรงงานจะได้รับความเดือดร้อนจากเศรษฐกิจฝืด แต่มีภาวะเงินเฟ้อ (Stagflation)และเห็นว่า ควรยกเว้นการปรับขึ้นสำหรับ SMEs ที่มีขนาด 1-9 คน
ส่วนมาตรการทางออกอื่นที่มีการเสนอ เช่น การชำระเงินสมทบประกันสังคมแทนแรงงานและการประกันรายได้เดือนละ 10,000 บาท โดยให้เป็นภาระของรัฐ จะทำให้มีต้นทุนสูงและพื้นที่ทางการคลังที่ตึงตัวและอาจทำให้เสพติดการพึ่งรัฐสวัสดิการ รวมถึงการนำมาตรการระบบสวัสดิการสำหรับการทำงาน (Workfare) ของสิงคโปร์ ซึ่งใช้กับลูกจ้างที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ไม่เหมาะกับประเทศไทย เพราะคนไทยค่อนไปทางรัฐสวัสดิการจนเป็นนิสัย ในขณะที่คนสิงคโปร์ไม่เชื่อเรื่องสวัสดิการอยู่แล้ว .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/