เผยเนื้อหาแถลงนโยบายรัฐบาล 'บิ๊กตู่' ฉบับสมบูรณ์เสร็จแล้ว วาง 12 นโยบายหลัก 12 ด้านเร่งด่วน ยึดหลัก 4 ประการ น้อมนําพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นหลักบริหารประเทศ บูรณาการทํางานลักษณะประชารัฐ มุ่งแก้ไขปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบด้วย บังคับใช้กม.มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติเป็นธรรม
สืบเนื่องจากมีกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อแถลงนโยบายรัฐบาลที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 ก.ค.อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนนโยบายรัฐบาลฉบับสมบูรณ์ อยู่ระหว่างการจัดพิมพ์โดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อแจกจ่ายให้รัฐมนตรี ในช่วงบ่ายวันที่ 21 ก.ค. เพื่อไว้ศึกษาเตรียมความพร้อมข้อมูลล่วงหน้าก่อนวันแถลงนโยบาย จากนั้นจะแจกให้กับ ส.ส.ต่อไป ส่วนสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แจ้งให้ไปรับนโยบายในวันที่ 22 ก.ค. นั้น
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวทำเนียบรัฐบาล ว่า ขณะนี้นโยบายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 ฉบับสมบูรณ์จัดทำเสร็จเรียบร้อย และมีการจ่ายให้รัฐมนตรีนำไปศึกษาเตรียมความพร้อมข้อมูลล่วงหน้าก่อนวันแถลงนโยบายแล้ว
ประกอบไปด้วยนโยบายหลัก 12 ด้าน คือ 1. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. การสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ 3. การทํานุบํารุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 4.การสร้างบทบาทของไทยในเวทีโลก 5.การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย 6. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 7.การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 8. การปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย 9. การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม 10. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 11.การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ 12. การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม
ส่วน นโยบายเร่งด่วนมี 12 เรื่อง ประกอบไปด้วย 1. การแก้ไขปัญหาในการดํารงชีวิตของประชาชน 2. การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน 3. มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก 4.การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม 5. การยกระดับศักยภาพของแรงงาน 6. การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต 7. การเตรียมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 8. การแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายราชการประจํา 9. การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 10. การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน 11. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย 12. การสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดําเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ในคำแถลงนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากขณะนี้ ปัจจัย ทั้งภายนอกและภายในประเทศเปลี่ยนไปมาก ประเทศไทยในขณะนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนสูงทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ การเข้าบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ในครั้งนี้ จึงเป็นการบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่สถานการณ์ต่าง ๆ มีความไม่แน่นอนในทุกมิติ ทั้งในด้านเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยหลายประการ โดยเฉพาะการค้าระหว่าง ประเทศที่มีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปัจจัย ด้านการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และการเข้าสู่สังคมสูงวัย รวมทั้งปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่ประเทศไทย ต้องดําเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่ประเทศไทยได้มีข้อผูกพันไว้ในเวทีโลก
ประเทศไทยในขณะนี้ถือว่าอยู่ในช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่านและต้องต่อสู้กับปัญหาใหม่ ๆ หลายประการ อาทิ จากการต่อสู้กับความยากจนในอดีต ก็ได้แปรเปลี่ยนเป็น การต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำในหลากรูปแบบ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ของโอกาส และความเหลื่อมล้ำของรายได้และทรัพย์สิน หรือแม้แต่การต่อสู้กับความไม่สงบ ภายในประเทศในอดีต มาสู่การต่อสู้กับภัยคุกคามที่ไม่มีแบบแผนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น เครือข่ายยาเสพติดข้ามชาติ เครือข่ายการก่อการร้ายข้ามชาติ โรคระบาด และสงครามไซเบอร์ ประเด็นท้าทายข้างต้นเหล่านี้สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงของการบริหารประเทศที่รัฐบาล จะต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดัก ประเทศรายได้ปานกลาง มีการดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง แก้ไขปัญหาปากท้องและสร้างรายได้ให้ ประชาชนให้เพียงพอต่อการดํารงชีวิตเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ คนไทยในทุกช่วงวัยจะมีความพร้อม ทั้งในด้านหลักคิด คุณธรรม และจริยธรรม และมีศักยภาพที่จะดําเนินชีวิตในศตวรรษที่ 21 เราจะ ร่วมกันสร้าง “การเติบโตเชิงคุณภาพ” ไม่ใช่ “การเติบโตเชิงปริมาณ”
ทั้งนี้ การบริหารราชการ แผ่นดินของรัฐบาลนี้ จะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ให้ทันการเปลี่ยนแปลง เสริมสร้างความเข้มแข็งและแก้ไขปัญหาที่ยังดํารงอยู่ของภาคส่วนต่าง ๆ ภายในประเทศ เพื่อให้ ประเทศไทยมีภูมิคุ้มกันและมีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอน จากปัจจัยต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มแข็งในระยะยาว
นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีบทบาทมากขึ้นในประชาคมโลกและมีบทบาท นําในการขับเคลื่อนความยั่งยืนในประชาคมโลกผ่านการพัฒนาบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจ พอเพียงเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันจะทําให้ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้บรรลุตามวิสัยทัศน์และเป้าหมาย ที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยการบริหารราชการแผ่นดินในช่วง 4 ปีของรัฐบาลจะยึดหลักการ สําคัญสี่ประการ ได้แก่ 1. น้อมนําพระปฐมบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการบริหารประเทศ 2. ยึดมั่นในการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข 3. พัฒนาประเทศตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 4. บูรณาการการทํางานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคี การพัฒนาต่าง ๆ ในลักษณะประชารัฐเพื่อพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และทําให้ประชาชนคนไทยมีความมั่นคง อยู่ดีมีสุข
ทั้งนี้ ในส่วนนโยบายหลัก ข้อ 12 เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และกระบวนการยุติธรรม ระบุว่า แก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยจัดให้มีมาตรการและ ระบบเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ช่วยป้องกันและลดการทุจริตประพฤติมิชอบอย่างจริงจังและเข้มงวด รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการติดตามการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งเร่งสร้างจิตสํานึกของคนในสังคมให้ยึดมั่นในความซื่อสัตย์ สุจริต ถูกต้อง ชอบธรรม และสนับสนุนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและเฝ้าระวังการทุจริตประพฤติมิชอบ
นอกจากนี้ จะมีปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยส่งเสริมให้มีรูปแบบการลงโทษอื่น ที่ไม่ใช่โทษอาญาตามหลักสากล มุ่งเน้นยกระดับการพัฒนาระบบ แก้ไข บําบัด ฟื้นฟูผู้กระทําผิด ส่งเสริม ปกป้อง คุ้มครองสิทธิมนุษยชน พัฒนาประสิทธิภาพระบบการสืบสวนสอบสวน ด้านการปราบปรามอาชญากรรมพิเศษ กําหนดมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการ ยุติธรรมให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงําใด ๆ พร้อมทั้งบูรณาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้ดําเนินงานสอดประสานกันอย่างเป็นองคาพยพ เพื่อให้สามารถจัดการกับข้อขัดแย้งและกรณีพิพาทได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการทํางานเชิงรุก รวมทั้งพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมให้สามารถอํานวยความยุติธรรมได้อย่างเป็นธรรม เสมอภาค โปร่งใส รวดเร็ว ทั่วถึง และปราศจากการเลือกปฏิบัติ สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการ ยุติธรรมได้ และสร้างสังคมที่พัฒนาอย่างเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เกิดความเสมอภาค และเท่าเทียม พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการนําเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้ ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมาย พัฒนากฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นธรรม รวมทั้ง ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จําเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึง กระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวกและรวดเร็ว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/