“...พื้นที่ที่ได้รับคะแนนรวมทั้ง 3 ด้าน มากที่สุด มีความเหมาะสมในการก่อสร้างสนามบินนครปฐม ได้แก่ พื้นที่ทางเลือกที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางเลน (ต.บางระกำ และ ต.ลำพญา) และ อ.นครชัยศรี (ต.แก้วฟ้า ต.บางพระ และ ต.วัดละมุด) ซึ่งจะได้นำไปออกแบบต่อไป...”
“พื้นที่ที่ได้รับคะแนนรวมทั้ง 3 ด้าน มากที่สุด มีความเหมาะสมในการก่อสร้างสนามบินนครปฐม ได้แก่ พื้นที่ทางเลือกที่ 2 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.บางเลน (ต.บางระกำ และ ต.ลำพญา) และ อ.นครชัยศรี (ต.แก้วฟ้า ต.บางพระ และ ต.วัดละมุด) ซึ่งจะได้นำไปออกแบบต่อไป”
คือ ข้อมูลสำคัญที่ปรากฎอยู่ในรายงานผลการศึกษาพื้นที่ทางเลือกสำหรับจัดตั้งสนามบินนครปฐมวงเงินลงทุนกว่าพันล้านบาท ที่สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว (อ่านประกอบ : ทย.เผยผลศึกษาทางเลือกตั้งสนามบินนครปฐมพันล. ชี้พื้นที่ อ.บางเลน-นครชัยศรี เหมาะสุด)
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ขอให้ช่วยตรวจสอบกรณีเกี่ยวกับการดำเนินการโครงการท่าอากาศยานในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ของ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เนื่องจากมีความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบจากมลพิษที่เกิดจากเสียงและของเสียต่างๆ โดยการก่อสร้างท่าอากาศยานฯ คาดว่าจะดำเนินการในพื้นที่บริเวณ ต.บางพระ ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี ซึ่งหากมีการสร้างสนามบินขึ้นบริเวณนี้จริง เกรงว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบๆ จะได้รับผลกระทบมลพิษที่เกิดจากเสียงและของเสียต่างๆ เนื่องจากเป็นพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยและทำเกษตรกรรมของชาวบ้าน อีกทั้งที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลรายละเอียดที่ชัดเจนเกี่ยวกับโครงการสนามบินดังกล่าวว่า หากมีการก่อสร้างแล้ว ประชาชนจะได้รับผลอะไร และหากมีปัญหาผลกระทบต่างๆ เกิดขึ้น จะมีการช่วยเหลือเยียวยาอย่างไรบ้าง (อ่านประกอบ : ชาวบ้านร้องสร้างสนามบินนครปฐมพันล.หวั่นได้รับผลกระทบ- ทย.จัดประชาพิจารณ์ 13 มิ.ย.นี้ , สร้างเสร็จทางด่วนมาแน่! ทย.ประชาพิจารณ์สนามบินนครปฐมพันล.นัดสอง-ยังไม่พูดเรื่องผลกระทบ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูล 7 พื้นที่ ที่อยู่ในข่ายถูกเลือกให้เป็นพื้นที่จัดทำโครงการตั้งสนามบินนครปฐมดังกล่าว ก่อนที่ ผลสำรวจจะชี้ว่า อ.บางเลน (ต.บางระกำ และ ต.ลำพญา) และ อ.นครชัยศรี (ต.แก้วฟ้า ต.บางพระ และ ต.วัดละมุด) เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุด มานำเสนอให้สาธารณาชน ได้รับทราบข้อมูลมากขึ้น ปรากฎรายละเอียดดังนี้
1. พื้นที่เขตการปกครอง อ.บางเลน
ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิประมาณ 1 ชม. 20 นาที ขนาดพื้นที่ 5 ตร.กม. สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนโดยรอบหนาแน่นมาก ความลาดชันร้อยละ 1 สิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน คือ พื้นที่การบินตัดผ่านแนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ระยะห่างจากโครงข่ายคมนาคมใกล้เคียง คือ ห่างจากทางหลวงหมายเลข 346 ประมาณ 3 กม. ห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 15 กม. ระยะห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ประมาณ 49 กม.
2. พื้นที่เขตการปกครอง อ.นครชัยศรี และ อ.บางเลน
ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิประมาณ 1 ชม. 10 นาที ขนาดพื้นที่ 5 ตร.กม. สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนโดยรอบหนาแน่นน้อย ความลาดชันร้อยละ 1 ไม่มีสิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน ระยะห่างจากโครงข่ายคมนาคมใกล้เคียง คือ ห่างจากทางหลวงหมายเลข 3233 ประมาณ 3 กม. ห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 7 กม. ระยะห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ประมาณ 45 กม.
3. พื้นที่เขตการปกครอง อ.นครชัยศรี
ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิประมาณ 1 ชม. ขนาดพื้นที่ 5 ตร.กม. สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนโดยรอบหนาแน่นมาก ความลาดชันร้อยละ 1ไม่มีสิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน ระยะห่างจากโครงข่ายคมนาคมใกล้เคียง คือ ห่างจากทางหลวงมหายเลข 3233 ประมาณ 500 ม. ห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 7 กม. ระยะห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ประมาณ 43 กม.
4. พื้นที่เขตการปกครอง อ.บางเลน
ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิประมาณ 1 ชม. ขนาดพื้นที่ 5 ตร.กม. สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนโดยรอบหนาแน่นปานกลาง ความลาดชันร้อยละ 1 สิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน คือ พื้นที่การบินตัดผ่านแนวเสาไฟฟ้าแรงสูง ระยะห่างจากโครงข่ายคมนาคมใกล้เคียง คือ ห่างจากทางหลวงมหายเลข 3233 ประมาณ 6 กม. ห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 7 กม. ระยะห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ประมาณ 37 กม.
5. พื้นที่เขตการปกครอง อ.นครชัยศรี
ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิประมาณ 1 ชม. ขนาดพื้นที่ 5 ตร.กม. สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนโดยรอบหนาแน่นน้อย ความลาดชันร้อยละ 1 ไม่มีสิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน ระยะห่างจากโครงข่ายคมนาคมใกล้เคียง คือ ห่างจากทางหลวงมหายเลข 3233 ประมาณ 3.5 กม. ห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 6 กม. ระยะห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ประมาณ 38 กม.
6. พื้นที่เขตการปกครอง อ.ดอนตูม และ อ.เมืองนครปฐม
ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิประมาณ 1 ชม. 10 นาที ขนาดพื้นที่ 5 ตร.กม. สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่ราบ พื้นที่เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ชุมชนโดยรอบหนาแน่นมาก ความลาดชันร้อยละ 1 ไม่มีสิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน ระยะห่างจากโครงข่ายคมนาคมใกล้เคียง คือ ห่างจากทางหลวงมหายเลข 3233 ประมาณ 3.4 กม. ห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 5.3 กม. ระยะห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ประมาณ 52 กม.
7. พื้นที่เขตการปกครอง อ.กำแพงแสน
ใช้เวลาเดินทางเข้าสู่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิประมาณ 1 ชม. 50 นาที ขนาดพื้นที่ 5 ตร.กม. สภาพพื้นที่เป็นพื้นที่สนามบินกำแพงแสน พื้นที่เกษตรกรรม ชุมชนโดยรอบหนาแน่นน้อย ความลาดชันร้อยละ 1 ไม่มีสิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน ระยะห่างจากโครงข่ายคมนาคมใกล้เคียง คือ ห่างจากทางหลวงมหายเลข 3040 ประมาณ 5.4 กม. ห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี 27 กม. ระยะห่างจากท่าอากาศยานดอนเมือง ประมาณ 76 กม. (ดูตารางและรูปภาพประกอบ)
ทั้งนี้ จากข้อมูลในตารางจะเห็นว่า พื้นที่ทางเลือกที่ระทางใกล้สนามบินดอนเมืองมากที่สุด คือ พื้นที่ทางเลือกที่ 4 และ 5 ระยะทางประมาณ 37 และ 38 กม. ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 2 พื้นที่ทางเลือกดังกล่าวนั้นใช้ระยะเวลาในการเดินทางโดยประมาณจากสนามบินถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ เร็วที่สุดเช่นกันคือ ประมาณ 1 ชม.
แต่พื้นที่ทางเลือกที่ 4 มีชุมชนโดยรอบหนาแน่นปานกลาง และมีสิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน
ส่วนพื้นที่ทางเลือกที่ 5 นั้น มีชุมชนโดยรอบหนาแน่นน้อย และไม่มีสิ่งกีดขวางที่ส่งผลกระทบต่อการบิน อีกทั้งพื้นที่ทางเลือกที่ 5 มีระยะห่างจากทางหลวงหมายเลข 3233 และห่างจากมอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่สั้นกว่าพื้นที่ทางเลือกที่ 4 เล็กน้อย
ขณะที่ พื้นที่ ต.แก้วฟ้า ต.บางพระ ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ทางเลือกที่ 2 ที่ได้คะแนนความเหมาะสมมากที่สุดนั้น เป็นเขตพื้นที่ที่มีชาวบ้านร้องเรียนเข้ามายังสำนักข่าวอิศรา ว่ามีความหวั่นเกรงเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับคนในชุมชนโดยรอบ ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วก่อนหน้านี้
โดยเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2562 ที่ผ่านมา ชาวบ้านรายหนึ่ง ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศรา ทย. ได้ดำเนินการจัดประชาพิจารณ์เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวขึ้นที่ วัดละมุด ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
เจ้าหน้าที่ ทย.ให้ข้อมูลชาวบ้านว่า สนามบินที่จะสร้างเป็นสนามบินขนาดเล็ก รองรับการบินภายในประเทศและประเทศแถบเอเชียเท่านั้น โดยปักหมุดในเขต 3 ตำบล คือ ทิศเหนือติดคลองเข้ ต.บางระกำ อ.บางเลน ทิศใต้ติดคลองรางยาว ต.วัดละมุด อ.นครชัยศรี และ ต.บางพระ อ.นครชัยศรี อยู่ตรงกลางและให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อมีการสร้างสนามบินขึ้น จะมีสิ่งก่อสร้างอื่นๆ ตามมา เช่น ถนน ทางด่วน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยไม่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบหรือผลเสีย
“เรื่องเงิน จะมีประชาชนประมาณ 100 ราย ที่จะได้รับและส่วนใหญ่ไม่ได้คัดค้านเลย แต่มาตรการเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะตามมาก็ยังไม่มีความชัดเจน มีการรับปากด้วยวาจาเท่านั้นว่า หากมีผลเสียจะดำเนินการแก้ไขให้ ประชาพิจารณ์ครั้งนี้ไม่ได้มีการลงรายละเอียดมาก ส่วนใหญ่กล่าวถึงหลักการทั่วไป และจะมีการจัดประชาพิจารณ์ครั้งต่อไปที่ จ.นครปฐม” แหล่งข่าวระบุ (อ่านประกอบ :สร้างเสร็จทางด่วนมาแน่! ทย.ประชาพิจารณ์สนามบินนครปฐมพันล.นัดสอง-ยังไม่พูดเรื่องผลกระทบ)
ส่วนผลการดำเนินงานโครงการนี้ ในท้ายที่สุดจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น คงต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
สร้างเสร็จทางด่วนมาแน่! ทย.ประชาพิจารณ์สนามบินนครปฐมพันล.นัดสอง-ยังไม่พูดเรื่องผลกระทบ
ชาวบ้านร้องสร้างสนามบินนครปฐมพันล.หวั่นได้รับผลกระทบ- ทย.จัดประชาพิจารณ์ 13 มิ.ย.นี้