8 ภาคีนักวิชาการวิชาชีพ จัดเวทีถอดบทเรียน Fake News 'วสันต์' ชี้สร้างความเสียหายวงกว้าง หวังผู้ใช้งานสื่อใหม่รู้เท่าทัน ด้านผู้เเทนองค์กร FNF เเนะทุกประเทศหาเครืองมือควบคุมข่าวปลอม 'รมว.ดิจิทัลไต้หวัน' ยกโมเดลรัฐต้องเเบ่งปันข้อมูลถูกต้องภายใน 60 นาที หากเกิดข่าวลวง
วันที่ 17 มิ.ย. 2562 กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน ม.ธรรมศาสตร์ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จัดงาน International Conference on Fake News ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการร่วมลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอมที่ผ่านมา ณ โรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส กรุงเทพฯ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า Fake News หรือข่าวลวง ข่าวปลอม เป็นเรื่องสามารถสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและวงกว้าง โดยเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งสถานการณ์ของปัญหานี้มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เครือข่ายวิชาการวิชาชีพทั้ง 8 องค์กร ที่รวมจัดงานในครั้งนี้ได้ร่วมลงนามและประกาศปฏิญญารวมพลังขับเคลื่อนต่อต้านข่าวลวงข่าวปลอม โดยนับเป็นปฏิญญาของภาคพลเมืองร่วมผนึกกำลังต่อต้านปัญหาดังกล่าว (อ่านประกอบ: 8 องค์กรลงนามประกาศปฏิญญาต้านข่าวลวงข่าวปลอม)
ทั้งนี้ กองทุนพัฒนาสื่อฯ คาดหวังว่า ความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้ สามารถสร้างจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนให้สังคมไทยสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ใช้งานสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสมัยใหม่ มีทักษะในการรู้เท่าทันและเฝ้าระวัง
วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
ด้าน Katrin Bannach Head of Thailand and Myanmar Office, Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF) กล่าวว่า หลายประเทศใช้แนวคิดเรื่อง ‘ข่าวลวง’ และ ‘ข่าวปลอม’ มานาน เพื่อใช้ในการเมือง บางครั้งใช้ในการเมืองรุนแรง ซึ่งหากย้อนกลับไปในสมัยนาซีที่มีความเก่งมากในการใช้ข่าวลวงข่าวปลอม โดยจัดตั้งกระทรวงโฆษณาชวนเชื่อ สนับสนุนการเผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับนาซี ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเกี่ยวกับเผด็จการควบคุมไปทั่ว การศูนย์กลางควบคุมทุกด้านในการใช้ชีวิตและวัฒนธรรมของเยอรมัน
จะเห็นว่า การโฆษณาชวนเชื่อลักษณะเช่นนี้อาจไม่ได้ทำแบบโจ่งแจ้ง แต่อาจทำแบบเนียนมากขึ้น อย่างไรก็ดี ถือเป็นสิ่งท้าทายและปัจจุบันถึงแม้ข้อมูลนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ สื่อโซเซียลมีเดียกลายเป็นแนวคิดพิเศษขึ้นมา เมื่อทุกอย่างเป็นดิจิทัล จึงเป็นโอกาสสามารถมีความโปร่งใสมากขึ้น ต้องรับผิดชอบมากขึ้น และมีประชาธิปไตยมากขึ้น ทุกคนจึงสามารถเข้าถึงและตีพิมพ์ข้อมูลข่าวสารได้
“ทุกคนเข้าถึงข้อมูลและตีพิมพ์หรือลงข่าวเหมือนกันได้ เพราะประชาธิปไตยขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ต้องมีการหารือกันชัดเจนเกี่ยวกับข้อเท็จจริง เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่สำหรับหลายประเทศ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกประเทศต้องหารือร่วมกัน โดยเราควรหาเครื่องมือดูแลเรื่องการควบคุมข่าวปลอม” Bannach กล่าว
Katrin Bannach Head of Thailand and Myanmar Office, Friedrich Naumann Foundation for Freedom (FNF)
ขณะที่ Audrey Tang Taiwan’s Digital Minister กล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่มีการเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ และทุกครั้งที่มีสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลลวง ข้อมูลปลอม ทำให้พวกเราต้องทำงานเพื่อป้องกันให้ได้ ซึ่งหากทำสำเร็จ จะทำให้ภาครัฐไม่ต้องเข้ามาข้องเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเรา
ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อมูลเหล่านั้นจะเกิดขึ้นจากความตั้งใจหรือไม่ และอาจจะเป็นข่าวลือ แต่จะต้องแก้ไขให้สำเร็จภายใน 60 นาที
“หากพบเห็นข่าวลือข่าวลวง รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต้องเข้าใจบริบทว่า ทำอย่างไรต้องแก้ข่าวให้ได้ภายใน 60 นาที เพื่อจะบอกได้ว่า เรื่องข้อมูลของภาครัฐจริงเท็จอย่างไร ซึ่งกระบวนการจะเป็นไปในลักษณะการแบ่งปันข้อมูล ความคิดเห็นของเราเข้าไปในสื่อสาธารณะ”
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการตรวจสอบข่าวร่วมกัน ภายใต้ภาคประชาสังคม เรียกว่า CoFacts ในกลุ่มไลน์ ที่มีสมาชิกร่วม 1 แสน มีวิธีการทำงาน บ่อยครั้งข้อมูลต่างๆ ที่เห็น กุข่าวลือขึ้นมา หากมีความรู้สึกต้องส่งต่อข่าวลือนี้ไปที่หุ่นยนต์ (Robot) หากหุ่นยนต์โมโหจะตีข้อมูลกลับมาว่า เป็นข่าวจริงหรือไม่ ซึ่งผู้คนจะมาเจอกันทุกสัปดาห์ โดยเป็นการพูดคุยกันอย่างเป็นมิตร .(อ่านประกอบ:ถอดบทเรียนต้านข่าวลวง Fake News ของไต้หวัน)
Audrey Tang Taiwan’s Digital Minister
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/