กรณีที่วินิจฉัยแล้วนั้น เรื่องนี้มันก็มีฝั่งตรงข้ามที่เขาจะดำเนินการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ซึ่งนี่เรียกว่าเป็นระบบการตรวจสอบโดยการเมืองท้องถิ่น เขาจะร้องเรียนมาเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเยอะแยะที่คนสอบช่วยก็โดนไปด้วย ถ้าหากผิดชัดๆแล้วเขาไปพลิกข้อเท็จจริง เขาก็คงไม่น่าจะเสี่ยงขนาดนั้น”
ประเด็นการสอบสวนกรณีการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงของผู้บริหารท้องถิ่น และข้าราชการหน่วยงานรัฐ กำลังถูกถกเถียงกันในวงกว้าง
เมื่อกฎหมายในปัจจุบันอ้างอิงตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่มีการกล่าวหาเรื่องใด มิใช่เป็นความผิดร้ายแรง หรือกล่าวหาในเรื่องที่มิได้อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้องดําเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอํานาจก็ได้
อย่างไรก็ดี การปฏิบัติตามข้อกฎหมายมาตราดังกล่าว ได้เกิดคำถามสำคัญว่า กระบวนการสอบสวนส่วนนี้ จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการเอื้อประโยชน์ช่วยเหลือกันได้หรือไม่ ถ้าหากการกระบวนการสอบนั้นอยู่ในมือของข้าราชการที่อยู่ในสังกัดเดียวกัน
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ในการตีความข้อกฏหมาย กรณี ผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า มีเจตนากระทําการทุจริตหรือทําให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ข้อกล่าวหาในทางอาญา ไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นตกไป แต่การกระทําของผู้บริหารท้องถิ่นมีความผิดฐานฝ่าฝืนต่อความสงบ เรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตําแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ สิ่งที่ท้องถิ่นจะดำเนินการต่อ คือ การตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามระเบียบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่จะไม่ดำเนินการถอดถอนออกจากตำแหน่งในทันที
จากหนังสือกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา แจ้งเวียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ระบุว่า ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้รับเรื่องหารือเกี่ยวกับกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับ เรื่องกล่าวหาผู้บริหารท้องถิ่น ว่ากระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่า ผู้บริหารท้องถิ่น มีเจตนากระทําการทุจริตหรือทําให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการแต่อย่างใด ข้อกล่าวหาในทางอาญา ไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นตกไป แต่การกระทําของผู้บริหารท้องถิ่นมีความผิดฐานฝ่าฝืนต่อความสงบ เรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตําแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 และคณะกรรมการพิจารณา ร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นดังนี้
1. การที่ผู้มีอํานาจถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น จะสามารถดําเนินการกับผู้ถูกกล่าวหาตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติได้เพียงใดนั้น ต้องปรากฏเหตุอันเป็นที่มาแห่งการถอดถอนนั้นด้วยว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดตามขอบเขต อํานาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกําหนดไว้หรือไม่ ซึ่งตามมาตรา 24 (2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอํานาจ ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทําความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทําความผิดต่อตําแหน่ง หน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
2. เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดผู้บริหารท้องถิ่นว่า มีความผิดฐานฝ่าฝืน ต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอํานาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนํามาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตําแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 73 โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ชี้มูลในความผิดสามฐานหลัก ได้แก่ ความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ ราชการ หรือความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ดังนั้น การดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจ กับผู้บริหารท้องถิ่นในกรณีดังกล่าว จึงต้องดําเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กําหนดในกฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2563 กฎกระทรวงการสอบสวน ผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่งในเทศบาล พ.ศ. 2563 กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่ง ในองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2563 กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่งในเมืองพัทยา พ.ศ. 2563
(ดูเอกสารประกอบ)
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งสี่ฉบับที่ปรากฏในหนังสือกระทรวงมหาดไทย ฉบับนี้ คือ 1. กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่งในองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2563 2.กฎกระทรวงการสอบสวน ผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่งในเทศบาล พ.ศ. 2563 3. กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่ง ในองค์การบริหารส่วนตําบล พ.ศ. 2563 และ 4.กฎกระทรวงการสอบสวนผู้ดํารงตําแหน่งบางตําแหน่งในเมืองพัทยา พ.ศ. 2563
พบว่ากฎกระทรวงทั้ง 4 ฉบับ ระบุว่า เมื่อมีเหตุให้ดำเนินการสอบสวนเจ้าหน้าที่ในส่วนงานปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ที่มีอำนาจในการสั่งให้ตั้งกรรมการก็คือเจ้าหน้าที่ในส่วนงานปกครองที่มีจากส่วนกลาง หรือก็คือผู้ว่าราชการจังหวัด
คำถาม คือ กระบวนการสอบสวนกันเอง ลักษณะนี้ จะเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และตรงไปตรงมามากน้อยแค่ไหน เมื่ออยู่ใต้ความรับผิดชอบของผู้บังคับบัญชาในสังกัดเดียวกัน
@ผู้ว่าราชการจังหวัดคงไม่ทำอะไรเสี่ยงตำแหน่งตัวเอง
ขณะที่ นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ให้สัมภาษณ์ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า “หลักการให้ท้องถิ่นสอบกันเองนั้นปกติเวลาผู้บริหารท้องถิ่นในจังหวัดทำผิด ผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเป็นผู้สอบ กฎหมายเขาเขียนอยู่แล้ว”
“ในกรณีนี้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ได้กระทำความผิดในสามฐานความผิดที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. ก็ต้องให้ผู้ว่าฯสอบว่าผิดไหม โดยการทำความผิดที่ว่านี้หลักฐานมันมีความแน่นหนาอยู่แล้ว การไปช่วยก็จะโดนข้อหาเอื้อประโยชน์ไปด้วย คิดว่าผู้ว่าฯคงไม่มาเสี่ยงกับตำแหน่งของตัวเองมาเพื่อที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่กระทำความผิด”
นายศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ก็ต้องแล้วแต่ตัวบุคคลด้วย แต่ว่าที่ผ่านมานั้นก็มีกรณีที่กระทรวงมหาดไทยสั่งให้พ้นตำแหน่งไปตั้ง300-400 ราย ดังนั้นการสอบให้โปร่งใสถือว่าเป็นหน้าที่ ถ้าไม่ทำก็เท่ากับทุจริตเสียเอง ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มเลย เขาคงไม่ทำ
“กรณีที่วินิจฉัยแล้วนั้น เรื่องนี้มันก็มีฝั่งตรงข้ามที่เขาจะดำเนินการตรวจสอบด้วยเช่นกัน ซึ่งนี่เรียกว่าเป็นระบบการตรวจสอบโดยการเมืองท้องถิ่น เขาจะร้องเรียนมาเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเยอะแยะที่คนสอบช่วยก็โดนไปด้วย ถ้าหากผิดชัดๆแล้วเขาไปพลิกข้อเท็จจริง เขาก็คงไม่น่าจะเสี่ยงขนาดนั้น” นายศิริวัฒน์กล่าว
นายศิริวัฒน์กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่มันไม่ชัดเจนในเรื่องของความผิด ผู้ที่สงสัยก็สามารถไปร้องหลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงมหาดไทย,ป.ป.ช. หรือหลายช่องทางอื่นให้สอบการทำหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดได้ว่ามีความถูกต้องหรือไม่ สรุปก็คือว่าในปัจจุบันนั้นก็มีหลายช่องทางอยู่แล้วที่จะตรวจสอบกาทำหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดได้
@นายศิริวัฒน์ บุปผาเจริญ
ด้านนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่าการส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการสอบการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงนั้นมีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ซึ่งก็คือกฎหมายว่าด้วย ป.ป.ช.ในมาตราที่ 64 คือส่งการตอบกลับมายัง ป.ป.ช.ว่าการตรวจสอบของท้องถิ่นนั้นเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ ป.ป.ช.ได้สอบหน้านี้เลยหรือไม่ ท้องถิ่นจะสอบแล้วทิ้งไปเลยไม่ได้
นายนิวัติไชยกล่าวอีกว่าในกระบวนการตั้งกรรมการสอบของท้องถิ่นนั้น ป.ป.ช.จะต้องรับรู้ด้วยว่าเป็นอย่างไร มีการช่วยเหลือกันหรือไม่ และผู้ถูกร้องได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ หรือก็คือ ป.ป.ช.นั้นจะต้องดำเนินการตรวจสอบซ้ำกับท้องถิ่นอีกทีหนึ่ง ซึ่งเรื่องนี้นั้นเป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตราที่ 64,65 และ 66 อยู่แล้วเช่นกัน
@ นิวัติไชย เกษมมงคล
อนึ่งสำหรับ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 64,65 และ 66 ที่นายนิวัติไชยกล่าวถึงนั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
มาตรา 64 ระบุว่า ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่าเรื่องที่มีการกล่าวหาเรื่องใดมิใช่เป็นความผิดร้ายแรง หรือกล่าวหาในเรื่องที่มิได้อยู่ในหน้าที่และอํานาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งหรือถอดถอนของผู้ถูกร้องดําเนินการทางวินัยไปตามหน้าที่และอํานาจก็ได้
มาตรา 65 ระบุว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐตามมาตรา 61มาตรา 62 มาตรา 63 และมาตรา 64 แล้ว ให้หน่วยงานของรัฐนั้นดําเนินการไปตามหน้าที่และอํานาจของตนและรายงานผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการและภายในกําหนดระยะเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
มาตรา 66 ระบุว่าในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่เห็นด้วยกับผลการดําเนินการตามรายงานตามมาตรา 65 หรือมีกรณีเห็นว่าผู้ถูกร้องอาจไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการดําเนินการนั้นจะไม่เที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอํานาจสั่งการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเรียกสํานวนการไต่สวนหรือสอบสวนมาเพื่อดําเนินการได้ โดยจะดําเนินการไต่สวนใหม่ทั้งหมด หรือนําผลการไต่สวนหรือสอบสวนของหน่วยงานของรัฐนั้นทั้งหมดหรือบางส่วนมาถือเป็นการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้
ทั้งหมดคือ ประเด็นข้อกังวลและข้อชี้แจงเกี่ยวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นเรื่องของการสอบการกระทำความผิดไม่ร้ายแรงกับผู้บริหารท้องถิ่น และข้าราชการหน่วยงานรัฐ
ส่วนการสอบกันเองนั้น จะมีความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาลภายใต้กรอบกฎหมาย ไร้ปัญหาการเอื้อประโยชน์มากน้อยเพียงใด
ภาคประชาสังคม คงจะต้องร่วมด้วยช่วยกัน จับตามองดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด