"…แม้ว่าการประกาศยกระดับที่ออกมาช่วงนี้ และมีผลดำเนินการเลย ถือเป็นการให้คุมการระบาดได้ และสร้างความมั่นใจในการเปิดประเทศในอนาคต แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องเร่งจัดวัคซีนลงพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่มีการระบาดมาก และการประกาศล็อกดาว์นก็ไม่ควรให้ระยะเวลานานเกินไป เพราะจะกระทบเศรษฐกิจยาว ควรมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเข้มข้นและตรงถึงผู้ประกอบการ …"
……………………………………………….
หลังจากราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ที่ 6/2564 และแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) เมื่อช่วงกลางดึก ในวันที่ 26 มิ.ย.2564 เพื่อยกระดับมาตรการคุมเข้มโควิดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี นราธิวาส ปทุมธานี ปัตตานี ยะลา สงขลา สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 28 มิ.ย.2564
มีสาระสำคัญในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล คือ การสั่งปิดแคมป์คนงาน ห้ามการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นการชั่วคราว อย่างน้อย 30 วัน รวมถึงให้มีมาตรการบูรณาการเร่งด่วน ให้การจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม อนุญาตให้ซื้อกลับบ้านเท่านั้น ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า เปิดได้ถึง เวลา 21.00 น. แต่ให้งดการจัดกิจกรรมในพื้นที่โรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ และสวนน้ำ และงดกิจกรรมรวมกลุ่มที่เกิน 20 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่
การแพร่ประกาศในครั้งนี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก จนแฮชแท็ก #ล็อกดาวน์กรุงเทพ ติดเทรนด์ยอดนิยมในทวิตเตอร์ โดยส่วนใหญ่มองว่าการประกาศในครั้งนี้กะทันหันเกินไป ขณะที่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ต่างเกิดความกังวลว่าจะได้รับการเยียวยาหรือไม่? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมนานาทัศนะจากทีมแพทย์ นักวิชาการ สมาคมภัตตาคารไทย และหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มีต่อการประกาศกึ่งล็อกดาวน์ในครั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
(นางฐนิวรณ์รณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย)
สำหรับความในใจของผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ถูกสั่งห้ามนั่งกินในร้านอาหารกะทันหันนั้น นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ฐนิวรรณ กุลมงคล ระบุว่า “ความในใจของผู้ประกอบการร้านค้า ไม่ว่ารายเล็ก รายกลาง หรือรายใหญ่ เจอเหมือนกันหมด เหมือนโดนฟ้าผ่ากลางวันแสกๆ ซ้ำๆ กัน 4-5 หน ตายก็ไม่ตาย นอนพะงาบๆ แบบทรมาน ไม่มีหมอ ไม่มีเครื่องมือใด ๆ มาช่วยรักษา อยู่กลางแดดร้อนระอุ เพื่อรอเวลาตายอย่างเดียว เพราะรอบนี้หมอเป็นผู้ลงมือสั่ง จากคำให้สัมภาษณ์ ของ นพ.อุดม คชินทร ในรายการของนายสุทธิชัย หยุ่น ว่า ผู้เสียชีวิตที่เป็นผู้สูงอายุไปกินอาหารในร้านอาหาร และเปิดแมสก์ กินอาหาร จึงติดเชื้อโควิด ดังนั้น การเปิดแมสก์กินอาหาร จึงอันตรายที่สุด สมควรให้ซื้อกลับไปกินได้อย่างเดียว ไม่ให้นั่งกินที่ร้าน ซึ่งเป็นรายได้ 90% ของร้านอาหาร”
(นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้า)
@ วอนอย่าล็อกดาวน์นาน ชี้หลายธุรกิจกระทบซ้ำ อาจตกงานในอนาคต
ส่วนการประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจเบื้องต้น จากการประกาศยกระดับคุมเข้ม นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหอการค้า ระบุอีกว่า ทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินไว้ว่า การประกาศยกระดับมาตรการครั้งนี้ จะสร้างความเสียหายเพิ่มจากเดิม ประมาณวันละ 1,000-2,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มจากเดิมมาก เนื่องจากทางรัฐบาลเพิ่งคลายกฎให้กลับมานั่งทานในร้านอาหารได้ 50% ไม่นานนัก และยังไม่แน่ใจในรายละเอียดของมาตรการที่อาจมีเพิ่มอีก โดยคำนวณแล้วจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 30,000-60,000 ล้านบาท กระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 0.1-0.3%
“อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการประกาศยกระดับที่ออกมาช่วงนี้ และมีผลดำเนินการเลย ถือเป็นการให้คุมการระบาดได้ และสร้างความมั่นใจในการเปิดประเทศในอนาคต แต่สิ่งสำคัญ คือ ต้องเร่งจัดวัคซีนลงพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่มีการระบาดมาก และการประกาศล็อกดาว์นก็ไม่ควรให้ระยะเวลานานเกินไป เพราะจะกระทบเศรษฐกิจยาว ควรมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเข้มข้นและตรงถึงผู้ประกอบการ การประกาศครั้งนี้ถึงแม้จะจำกัดบางพื้นที่ แต่หลายธุรกิจกระทบซ้ำ สะสมมาหลายระลอก โดยเฉพาะ ร้านอาหาร กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มผู้ใช้แรงงานในภาคบริการที่ อาจจะตกงานในอนาคตอีก เพราะกรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุด ที่สำคัญต้องติดตามมาตรการเยียวยาประคองธุรกิจ” นายสนั่น กล่าว
(นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
@เฝ้าระวังปรากฎการณ์ผึ้งแตกรัง - กทม.ต้องลุยตรวจเชิงรุก
นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุถึงการยกระดับมาตรการคุมโควิดใหม่ด้วยว่า มี 3 ประเด็นที่ จะต้องเตรียมรับมือ ดังนี้
1.ปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง ซึ่งจะเกิดขึ้นในสองกลุ่มหลัก คือ แรงงานจากแคมป์คนงาน และผู้ติดเชื้อที่ไม่มีเตียงใน กทม.และปริมณฑล เนื่องจากคนงานจำนวนไม่น้อย เริ่มทยอยออกต่างจังหวัด หรือกลับถิ่นฐาน ตามแบบแผนพฤติกรรมมนุษย์ที่คาดการณ์ได้ เหตุเพราะตกอยู่ในภาวะ 'Risk taking for loss' เฉกเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่รอเตียงเป็นเวลานาน ต่างเริ่มหาทางไปรับการดูแลรักษาในต่างจังหวัด
ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณา คือ แต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ควรจะเตรียมระบบตรวจตราคนที่เดินทางมาจากต่างถิ่น และให้กักตัวเพื่อสังเกตอาการ หรือนำสู่ระบบการตรวจคัดกรองโรค เนื่องจากหากหลุด จะพบกับการระบาดแบบดาวกระจายในช่วงต้นถึงกลางเดือนหน้า
ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลในจังหวัดต่างๆ ควรเตรียมแผนจัดสรรทรัพยากรคน เงิน ของ และยาให้พร้อมรับมือ ทั้งในกรณีการระบาดแบบดาวกระจายจากแคมป์คนงาน และในกรณีมีผู้ติดเชื้อจากพื้นที่ระบาดหนักเดินทางไปขอรับการดูแลรักษา โดยจะต้องเตรียมความพร้อมในการแบ่งทีมงาน เผื่อสลับเวลากรณีเกิดปัญหาการติดเชื้อจากการปฏิบัติงาน และเตรียมระบบการตรวจคัดกรองโรคให้เพียงพอ
ส่วนจังหวัดที่มีความเป็นเมืองสูง ให้เตรียมระดมทรัพยากร จัดระบบการตรวจคัดกรองโรคให้สามารถทำได้มากและต่อเนื่อง และควรเปิดให้ประชาชนในพื้นที่ตรวจได้ฟรี โดยไม่ติดกฎเกณฑ์เรื่องอาการหรือประวัติเสี่ยง
2.The weakest link ใน กทม.และปริมณฑล แม้จะมีการประกาศมาตรการเข้มข้น คล้ายกึ่งล็อคดาวน์ก็ตาม แต่เมื่อประเมินแล้วยากที่จะควบคุมการระบาดได้ในเวลาสั้น เนื่องจำนวนผู้ติดเชื้อในระลอกสามตอนนี้มีจำนวนมาก หากปล่อยไว้นานต่อเนื่อง กระจายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะจุดเสี่ยงกิจกรรมเสี่ยงกิจการเสี่ยงอีกต่อไป เห็นได้ชัดเจนว่าทุกคนในสังคมมีโอกาสติดเชื้อได้โดยไม่รู้ตัว ซึ่งหากไม่มีระบบบริการตรวจคัดกรองโรคที่มากพอ หรือเข้าถึงได้ง่า การติดเชื้อแพร่เชื้อย่อมแพร่กระจายไปอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นถึงทำมาตรการกึ่งล็อคดาวน์ไปหนึ่งเดือน ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจะยังไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่
ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณา คือ กทม.และจังหวัดปริมณฑล ควรทุ่มทรัพยากรเพื่อจัดระบบบริการตรวจคัดกรองโรคให้มีศักยภาพมากกว่าที่มีในปัจจุบัน ทำในหลายรูปแบบ ทั้งการตรวจในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน จุดให้บริการตรวจในชุมชน รถเคลื่อนที่ รวมถึงอาจต้องจัดทีมเพื่อดำเนินการเคาะประตูในพื้นที่ที่จำเป็น และรัฐควรปลดล็อคกฎเกณฑ์การตรวจคัดกรองโรค ให้ทุกคนในประเทศ ทั้งไทยและต่างชาติ สามารถรับบริการตรวจได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีอาการ มีประวัติเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็ตาม
3.การกักตัวที่บ้าน หรือ Home isolation ปัญหาเตียงไม่พอใน กทม. และปริมณฑล เนื่องจากมีคนติดเชื้อจำนวนมาก ทำให้มีหลายหน่วยงานพยายามคิดวางแผนจะให้กักตัวที่บ้าน ซึ่งด้วยสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนใน กทม. และปริมณฑล ที่มีความเป็นเมืองสูง การกักตัวที่บ้านคงทำได้แค่บางพื้นที่ ซึ่งคาดว่าหากเราต้องกักตัวที่บ้านจริงๆ ไทยจะมีโอกาสระบาดหนัก คงต้องช่วยกันประคับประคองหารูปแบบที่เหมาะสม โดยปัจจุบัน โอกาสเฉลี่ยในการติดเชื้อภายในบ้านมีอยู่ 30%
ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณา คือ การวางแผนการนำส่งผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียงรักษา ไปยังจังหวัดอื่นๆ ที่ยังพอมีทรัพยากรรองรับ สำหรับกรณีหลีกเลี่ยงการกักตัวที่บ้านไม่ได้ จะต้องจัดบริการตรวจคัดกรองโรคให้แก่ทุกคนในบ้านหรือที่อาศัยร่วมกัน และจัดอุปกรณ์ป้องกัน ทั้งหน้ากาก และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อ ให้แก่ประชาชนและผู้ติดเชื้ออย่างเพียงพอ และระบบสนับสนุนในชุมชน เรื่องอาหารการกิน และน้ำดื่ม
(นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล)
@ เชื่อสายพันธุ์เดลต้าแพร่ใน กทม. หวั่น ‘ล็อกดาวน์แบบจำกัดขอบเขต’ ไม่ตอบโจทย์
ด้าน นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก นิธิพัฒน์ เจียรกุล ระบุถึงความกังวลใจต่อมาตรการ ‘ล็อกดาวน์แบบจำกัดขอบเขต’ ด้วยว่าจะตอบโจทย์การควบคุมการระบาดได้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) แพร่กระจายไปในกรุงเทพมหานครแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการปอดอักเสบเร็วและดูรุนแรงกว่าสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่เดิม ขณะนี้มียอดผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจใน กทม.ประมาณ 225 คน หากมาตรการที่กำหนดร่วมกันมานี้ใช้ได้ผล จะต้องเห็นตัวเลขนี้ลดลงไม่เกินครึ่งหนึ่ง คือ 123 คน ใน 28 วันข้างหน้า นั่นคือต้องไม่เกินสามในสี่ หรือ 169 คนในอีก 14 วันข้างหน้า
“การที่กำหนดตัวเลข 123 คนไว้เป็นเป้าหมายสุดท้าย เนื่องจากอยากเห็นไอซียูโควิดในกทม.กลับไปใช้งานเท่าจุดสูงสุดของระลอกแรกคือไม่เกิน 200 เตียง ซึ่งครึ่งหนึ่งจะใช้เครื่องช่วยหายใจ อีกครึ่งหนึ่งใช้ไฮโฟลว์หรืออุปกรณ์พยุงชีวิตอื่น เพื่อที่จะได้หวังให้ลดลงไปอีกครึ่งหนึ่งในอีกหนึ่งรอบ 28 วันถัดไป ถ้าเป็นดังนี้บุคลากรทางการแพทย์จะไม่เหนื่อยล้าจนเกินไปและทนไม่ไหว ผู้ป่วยโควิดก็จะได้รับการดูแลตามมาตรฐาน ที่สำคัญคือ ผู้ป่วยอื่นที่ไม่ใช่โควิดจะได้กลับมารับการดูแลรักษาตามมาตรฐานวิถีใหม่ที่ควรจะเป็น” นพ.นิธิพัฒน์ ระบุ
ทั้งนี้ นพ.นิธิพัฒน์ ระบุทิ้งท้ายอีกว่า การตรวจค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ทั้งเชิงรับและเชิงรุก ต้องระดมทำเต็มความสามารถ เพื่อเร่งควบคุมโรคในภาพรวม อย่าให้เป็นแบบที่ผ่านมาในบางพื้นที่ คือ ตรวจน้อยเท่ากับติดน้อย ผู้ใหญ่จะได้ไม่กังวล จนคนโรงพยาบาลรับไม่ไหวแล้ว ผู้ใหญ่จะต้องกังวลไปอีกแบบหนึ่ง ที่อาจน่ากลัวกว่า อย่างไรก็ตามถึงจะตรวจน้อย คนที่ติดแล้ว ไม่ได้ตรวจ หรือรอตรวจหรือรอเตียง ถ้าอาการทรุดลงจะตรวจจับได้ เมื่อต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ
(น.ส.รสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค)
@ แนะรัฐเร่งกระจาย ‘ฟ้าทะลายโจร’ รักษาผู้ติดเชื้อทันที
ขณะที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล ด้วยว่า ภาวะวิกฤตเช่นนี้ การมองแค่มุมสาธารณสุขแบบกระแสหลักอย่างเดียว จะไม่สามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้จริง สิ่งที่รัฐาบาลควรทำโดยรีบด่วนคือกำหนดมาตรการขอความร่วมมือ การเข้าไปเยียวยาชดเชย และให้ความช่วยเหลือในระหว่างที่มีมาตรการกักตัว
“การจัดการคุมมาตรการเข้ม เป็นเรื่องจำเป็นพอๆ กับการคิดถึง การดำรงชีวิตของคนงานด้วย เมื่อปิดแคมป์แล้ว การกินการอยู่ของคนงานจำนวนมากจะเป็นอย่างไร มีเงินช่วยเหลือเยียวยาเขาจริงๆ ตามที่ประกาศหรือไม่ ต้องคิดให้รอบด้าน ไม่ใช่จัดการราวกับคนงานเหล่านี้เป็นเหมือนนักโทษ” น.ส.รสนา กล่าว
จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล และ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ประกอบด้วย เมื่อปิดแคมป์คนงาน ให้กระจายยาฟ้าทะลายโจร ให้กับกลุ่มผู้ติดเชื้อทันที โดยให้กินเป็นเวลา 5 วัน วันละ 4 ครั้ง ครั้งละ 3-4 แคปซูล ซึ่งจะเป็นวิธีการที่ช่วยรักษาผู้ติดเชื้อได้รวดเร็วที่สุด เนื่องจากการเก็บข้อมูลของ นพ.อเนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่4 สระบุรี ที่ทดสอบการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร พบว่าผู้ต้องขังที่ติดโควิดเมื่อได้รับยาฟ้าทะลายโจร เป็นเวลา 5 วันแล้ว ตรวจไม่พบเชื้อโควิดภายในเวลา 8 วัน
หลังจากนั้น เมื่อครบเวลา 8 วัน ให้มีการตรวจเชื้อโควิดแบบ ชุดตรวจโควิดอย่างง่ายและรวดเร็ว หรือ swab rapid test ถ้าพบว่าผู้เคยติดเชื้อมีเชื้อเป็นลบ ให้แคมป์นั้นสามารถเปิดทำการได้ โดยไม่ต้องถูกปิดถึง 1 เดือน ขณะเดียวกัน ระหว่างการปิดแคมป์คนงาน ขอให้มีการชดเชย ช่วยเหลือ ตามจำนวนวันเทียบเท่ากับการทำงาน จะช่วยไม่ให้แรงงานหนีกลับบ้าน เนื่องจากกลัวขาดที่พึ่งพาการกินการอยู่ และหากรับรู้ว่ามาตรการปิดแคมป์คนงาน เป็นการปิดเพื่อป้องกันการระบาดในระยะสั้น ย่อมได้รับความร่วมมือง่ายขึ้น
“หากการใช้ฟ้าทะลายโจร สามารถหยุดการแพร่ระบาดได้ในแคมป์คนงาน ก็สามารถนำโมเดลนี้ไปใช้กับคลัสเตอร์อื่น และกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ซึ่งจะช่วยเปิดกิจการได้ในเวลาที่เหมาะสมต่อไป จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลกระจายยาฟ้าทะลายโจรลงในคลัสเตอร์และกลุ่มเสี่ยงต่างๆ อย่างทั่วถึงและรวดเร็วที่สุด ตามที่นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 ให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วยโควิด และคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้เพิ่มสรรพคุณยาฟ้าทะลายโจรในการใช้กับผู้ป่วยโควิดเพื่อป้องกันอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งได้ประกาศในราชกิจาจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.2564” น.ส.รสนา ระบุ
ทั้งหมดนี้เป็นเสียงสะท้อนจากหลากหลายภาคส่วนต่อการประกาศห้ามนั่งกินในร้านและปิดแคมป์คนงาน ซึ่งผลการดำเนินตามมาตรการคุมโควิดที่รัฐกำหนดใหม่ครั้งนี้ จะสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้โดยเร็วหรือไม่ จะต้องติดตามกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/