"...จำนวนขวดพลาสติก PET 18 ขวด ปริมาณ 600 มิลลิลิตร สามารถนำมาผลิตชุด PPE ได้ 1 ชุด ซึ่งแคมเปญแยกขวดช่วยหมอ 3 ครั้งที่ผ่านมา เราสามารถผลิตชุด PPE รวมกันสะสมได้จำนวน 20,000 ชุดแล้ว..."
……………………………………………..
'ชุด PPE’ จัดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สำคัญมากที่ช่วยป้องกันการสัมผัสกับเชื้อโรค ลดโอกาสการติดเชื้อให้กับบุคลากรการแพทย์ พยาบาล รวมถึงบุคลากรด่านหน้า เราจึงต้องการชุด PPE จำนวนมากในการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังไม่หยุดนิ่ง ทำให้มีการนำเข้าชุด PPE มาจากต่างประเทศจำนวนมาก
ชุด PPE ถือเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิดที่บุคลากรสาธารณสุขต่างๆ ต้องใช้ในทุกๆวัน ประกอบกับในการควบคุมการระบาด อุปกรณ์การแพทย์ชนิดอื่น เช่น ถุงมือยาง ชุดตรวจโควิด ATK และหน้ากากอนามัย เป็นต้น ต้องใช้แล้วทิ้งจำนวนมากเช่นเดียวทำให้ตั้งแต่ช่วงวิกฤตการระบาด เราต้องประสบกับปัญหาขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด
โดยข้อมูลจาก สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร รายงานข้อมูลขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด 5 วันย้อนหลัง เปิดเผยว่า วันที่ 3 ก.ย.2564 มีขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด 71,931 กิโลกรัม, วันที่ 2 ก.ย.2564 มีขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด 60,064 กิโลกรัม, 1 ก.ย.2564 มีขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด 72,179 กิโลกรัม, 31 ส.ค.2564 มีขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด 71,505 กิโลกรัม และ 30 ส.ค.2564 มีขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด 58,575 กิโลกรัม
รวมทั้งยังมีข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ณ วันที่ 20 ส.ค.2564 คาดการณ์สถานการณ์ขยะมูลฝอยติดเชื้อปี 2564 จะไม่ต่ำกว่า 61.3 ล้านกิโลกรัม เพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงที่ยังไม่มีการระบาดปี 2562 ส่งผลต่อทุนการจัดการขยะที่ต้องเพิ่มขึ้นเป็น 920 ล้านบาท
ปัญหาการใช้ PPE ที่ต้องใช้เป็นประจำ มีความสัมพันธ์กับการเกิดขยะมูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่พื่อควบคุมการระบาด อย่างไรก็ตามความต้องการชุด PPE ยังมีมาก จะมีแนวทางใดที่เราจะบาลานซ์ทั้งการเพิ่มชุด PPE ให้บุคลากรสาธารณสุข และลดขยะมูลฝอยได้ ? ซึ่งเครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand พบว่า พลาสติกจากขวดเพ็ท (PET) อย่างขวดน้ำเปล่า หรือน้ำอัดลมสามารถทำมาผลิตชุด PPE ได้ ซึ่งไต้หวันก็ใช้เทคนิคนี้เหมือนกันในการผลิต ขณะที่จากการสำรวจโรงงานภายในประเทศไทย ก็พบว่ามีศีกยภาพในการผลิตชุด PPE เชเช่นเดียวกัน
นายเมธา เสนทอง ผู้ประสานงานโครงการแยกขวดช่วยหมอ
เครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand
โดย นายเมธา เสนทอง ผู้ประสานงานโครงการแยกขวดช่วยหมอ เครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ด้วยความที่เราเห็นโอกาสในการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ ผลิตเป็นชุด PPE เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือบุคลากรสาธารณสุขไทย ให้มีชุด PPE ต่อสู้กับไวรัสโควิดที่เพียงพอ และช่วยลดจำนวนขยะมูลฝอยภายในประเทศ จึงป็นที่มาของ ‘โครงการแยกขวด ช่วยหมอ’ ซึ่งเราทำแคมเปญนี้มาแล้วด้วยกันถึง 3 ครั้ง ขณะนี้กำลังเปิดให้ร่วมกิจกรรมเป็นครั้งที่ 4
นายเมธา เปิดเผยอีกว่า โครงการแยกขวดช่วยหมอ เป็นแคมเปญที่เราอาศัยความร่วมมือจากประชาชนทั่วประเทศให้มาร่วมบริจาคขวดเพ็ท (PET) ผ่านจุดเปิดรับบริจาคกว่า 57 แห่ง หรือให้ร่วมสมทบทุนในการผลิตชุด PPE เข้ามา อาทิ ในกรณีที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลจุดรับบริจาค เนื่องจากเรามองเห็นว่าหากทุกคนส่งขวดเพ็ท (PET) ผ่านไปรษณีย์กันเข้ามา จะไม่คุ้ม ผู้บริจาคต้องเสียค่าขนส่งไปรษณีย์เยอะ และยังเป็นการตัดเส้นทางอาชีพของซาเล้งด้วย เราจึงพยายามรณรงค์ว่า หากพื้นที่ห่างไกลจุดรับบริจาค ผู้บริจาคสามารถขายขวดเพ็ท (PET) ให้ซาเล้งได้ นอกจากจะช่วยลดขยะพลาสติกได้แล้ว ยังสามารถเก็บสะสมเงินมาบริจาคโครงการแยกขวดช่วยหมอได้อีกทาง
พลาสติก PET อัพไซเคิล-ถักทอเป็นชุดใหม่
ชุด PPE มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ได้แก่ 1.แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และ 2.แบบหมุนเวียนนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ซึ่งชุด PPE ที่ได้จากแคมเปญนี้ จะเป็นชุดที่สามารถนำไปซักกลับมาใช้ใหม่ได้ 20 ครั้ง และที่สำคัญชุดนี้ เป็นชุดที่มาจากการทอผ้า การทอจะทำให้ระบายอากาศได้ดี ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรสาธารณสุขใส่สบายมากขึ้น ไม่ร้อนนอก จากนั้นยังเคลือบสารป้องกันการซึมเหลว ให้ช่วยสะท้อนละอองน้ำต่างๆ เพื่อป้องกันเชื้อโควิดด้วย
การผลิตชุด PPE จากโครงการแยกขวดช่วยหมอนี้ ได้ผ่านระดมความคิด การออกแบบมาจากผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลาย ที่สำคัญยังผ่านมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว แต่การจะผลิตชุดที่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติดังกล่าวได้ เป็นที่มาของการใช้ขวดพลาสติก PET ได้แก่ ขวดน้ำเปล่า ขวดน้ำอัดลม แต่พลาสติกเพ็ทประเภทอื่น เช่น กล่องพลาสติกเพ็ท แก้วเพ็ท เป็นต้น ไม่สามารถนำมาใช้ได้
18 ขวดพลาสติกผลิต 1 ชุด PPE
สำหรับกระบวนการผลิตชุด PPE นั้น นายเมธา เปิดเผยอีกว่า จะนำขวดพลาสติก PET มาล้างทำความสะอาด และส่งให้โรงงานรีไซเคิลตัดเป็นชิ้นๆ แปรรูปเป็นเส้นใย ก่อนนำเข้าสู่โรงงานทอผ้า ให้ทอผ้าเป็นผืน หลังจากนั้นเคลือบสารป้องกันการซึมผ่านของเหลว และส่งต่อให้โรงงานตัดชุด ตัดเย็บเป็นชุด โดยใน 1 สัปดาห์ โรงงานตัดชุดมีศักยภาพในการทำชุด PPE ได้ประมาณ 500 ชุด
ด้วยกระบวนการผลิตที่ต้องผ่าน 3 โรงงาน และต้องอาศัยบุคลากรในการผลิต ทำให้นอกเหนือจากขวดเพ็ทที่ได้รับบริจาคมาแล้ว จะต้องมีค่าใช้จ่ายในการผลิตด้วย รวมแล้วตกชุดละ 450 บาท และหากคิดเฉลี่ยต่อการนำไปซักแล้วกลับมาใช้ได้ใหม่อีก 20 ครั้ง ค่าชุดต่อการสวมใส่แต่ละครั้ง จะตก 50-60 บาท ถูกกว่าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งถึง 3 เท่า
"จำนวนขวดพลาสติก PET 18 ขวด ปริมาณ 600 มิลลิลิตร สามารถนำมาผลิตชุด PPE ได้ 1 ชุด ซึ่งแคมเปญแยกขวดช่วยหมอ 3 ครั้งที่ผ่านมา เราสามารถผลิตชุด PPE รวมกันสะสมได้จำนวน 20,000 ชุดแล้ว" นายเมธา กล่าว
ปัจจุบันในครั้งที่ 4 นี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมบริจาคจำนวนมาก โดย 1 เดือนที่ผ่านมา มียอดผู้บริจาคขวดพลาสติก PET ถึง 15 ตัน ซึ่งมากกว่า 3 แคมเปญที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามแคมเปญที่ 4 นี้ยังเปิดให้บริจาคขวดพลาสติก PET และเงินทุนได้จนถึง 25 ธ.ค.2564 คาดว่าจะสามารถผลิตชุด PPE ได้อีกจำนวนมาก ซึ่งจะตั้งเป้าจะบริจาคให้กับ 200 โรงพยาบาลทั่วประเทศไทยที่มีห้องซักล้างและซักอบต่อไป
น.ส.มณีรัตน์ เรืองรัตนนิธิ เจ้าของร้าน Get Well Zone
'แยกขวดช่วยหมอ'ตอบโจทย์แก้ปัญหาขยะ
ด้าน น.ส.มณีรัตน์ เรืองรัตนนิธิ เจ้าของร้าน Get Well Zone พันธมิตรโครงการแยกขวดช่วยหมอ ที่ร่วมเปิดจุดรับบริจาคขวดเพ็ทแบบ Drive-Thru แห่งแรก ย่านเอกมัยและทองหล่อ เปิดเผยให้ฟังด้วยว่า จากการเป็นนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตัวยง ชอบเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ด้านสิ่งแวดล้อม จนได้มาเปิดร้านรีฟิลเป็นของตัวเอง และมีลูกค้าขาประจำเข้ามาแนะนำให้มาร่วมงานกับคุณเมธา เครือข่ายสังคมลดขยะ Less Plastic Thailand จึงได้มีโอกาสมาทำงานในส่วนนี้
น.ส.มณีรัตน์ เปิดเผยอีกว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก โดยปัจจุบันเทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนมาเน้นเรื่องของความสะอาดและปลอดภัยมากขึ้น ทำให้มีการบริโภคน้ำดื่มจากขวดจำนวนมาก และขวดเหล่านี้กลายเป็นขยะตกค้างจำนวนหลายตันภายในประเทศ เมื่อขวดเหล่านี้ไม่ได้ถูกจัดการอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่ภัยด้านสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามขวดเพ็ทเหล่านี้ จริงๆแล้วเป็นขวดที่มีคุณค่า เป็นพลาสติกชั้นเยี่ยม สามารถนำไปอัพไซเคิลทำสิ่งต่างๆ ได้หลายอย่าง แต่ในที่นี้เรารู้ว่าบุคลากรสาธารณสุขต้องการชุด PPE จำนวนมาก โครงการแยกขวดช่วยหมอนี้จึงเป็นโครงการที่ช่วยกำจัดขยะ และนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ตัดชุด PPE ส่งต่อให้บุคลากรสาธารณสุขสู้ภัยโควิด
"ตอนนี้เราบริโภคน้ำดื่มแบบขวดเยอะ ขยะเลยเยอะขึ้น การทิ้งไม่ถูกลักษณะ หรือการนำไปส่งหน่วยงานบางแห่ง ขวดน้ำดื่มนั้น ไม่ได้ถูกรีไซเคิลอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นโครงการแยกขวดช่วยหมอ จะช่วยให้กลุ่มคนที่เขามองว่าขวดนี้จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงและนำไปช่วยบุคลากรการแพทย์ได้ ในยุคที่คนบริโภคน้ำน้ำดื่ม น้ำอัดลมแบบขวด โครงการนี้จะตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี" น.ส.มณีรัตน์ เปิดเผย
สำหรับการเปิดจุดรับบริจาคขวดพลาสติก PET ของร้าน Get Well Zone จะเปิดทุกวันอาทิตย์แรกของเดือน ตั้งแต่เวลา 10.00 - 14.00 น. ซึ่งทุกคนที่จะเข้ามาบริจาค จะต้องมีการลงทะเบียนเข้ามาก่อนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ @getwellzone เพื่อให้ทางร้านสามารถเตรียมอำนวยความสะดวกในการ Drive-Thru และเตรียมรถมาขนส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ โดยจะมีการโทรศัพท์คอนเฟิร์มนัดหมายการเข้ามาบริจาคขวดเพ็ทอีกครั้ง ก่อนถึงวันนัดหมาย
น.ส.มณีรัตน์ เปิดเผยอีกว่า ในเดือนที่ผ่านมา แม้ขั้นตอนการเข้ามาบริจาคจะดูยุ่งยาก แต่ประชาชนที่ขับรถเข้ามาบริจาคต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี และเราได้รับบริจาคเข้ามากว่า 200 กิโลกรัม จากผู้เข้ามาบริจาคประมาณ 50 คน ซึ่งครั้งที่ผ่านมานับเป็นครั้งแรกที่เราได้เปิดรับบริจาค โดยในวันที่ 5 ก.ย.นี้ จะนับเป็นครั้งที่ 2 แล้ว จึงอยากเชิญชวนให้ผู้ที่อยากลดขยะ อยากช่วยบุคลากรสาธารณสุข หรืออยากเปลี่ยนแปลงตัวเองมาร่วมบริจาคขวดเพ็ทในโครงการแยกขวดช่วยหมอกันต่อไป
ในช่วงวิกฤตการระบาด เทรนด์ของผู้บริโภคเปลี่ยนมาเน้นความสะอาดและความปลอดภัยมากขึ้น ส่งผลให้เกิดขยะมูลฝอยพลาสติกจำนวนมาก หากไม่ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี จะส่งผลต่อภัยด้านสิ่งแวดล้อมตามมา โครงการแยกขวดช่วยหมอนี้ นับเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยตอบโจทย์ทั้งการลดขยะ และการนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งตรงกับความต้องการของบุคลากรสาธารณสุขในยุคนี้ได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/