“…สำหรับแนวทางในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในอนาคต ประกอบด้วย 3 แนวทาง คือ 1. จัดสรรวัคซีนให้พนักงานอย่างต่ำ 70% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด 2. การมีบริการขนส่งที่ได้รับมาตรฐาน 3. บริษัทนำเที่ยวต้องเตรียมตัวให้พร้อม ในการรองรับการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันอยากให้มาร่วมเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศด้วย…”
……………………………………………….
หลังจากรัฐบาลได้ตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว โดยเริ่มนำร่องด้วยโครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ หรือ Phuket Sandbox ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ก่อนจะเปิดโครงการ ‘สมุย พลัส โมเดล’ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ก.ค. และเตรียมขยายผลไปในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป อาทิ กระบี่ พังงา เชียงใหม่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และกรุงเทพมหานคร
ผ่านมาแล้ว 2 สัปดาห์ แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโควิดภายในประเทศ ยังพบผู้ติดเชื้อรายวันจำนวนมาก แต่เมื่อดูเฉพาะพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ถือว่ายังอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ โดยมีข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ในช่วง 1-7 ก.ค.พบผู้ติดเชื้อในช่วงสัปดาห์แรก 27 คน และในช่วง 8-14 ก.ค. พบผู้ติดเชื้อสัปดาห์ที่สองรวม 36 คน ซึ่งน้อยกว่าแผนเผชิญเหตุโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่มีใจความตอนหนึ่งระบุไว้ว่า หากพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 คนต่อสัปดาห์ จะต้องปรับแผนยกระดับคุมเข้มโควิดใหม่
จะเห็นได้ว่าแผนการระดมฉีดวัคซีนเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดโครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ และมาตรการคุมเข้มโควิดที่ทางจังหวัดภูเก็ตได้เสนอ ศบค. ไปแล้วนั้น สามารถทำได้ดี ดังนั้นแล้วทิศทางการท่องเที่ยวต่อจากนี้ควรจะเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากงานเสวนาทิศทาง ท่องเที่ยว โดยสมาคมผู้ประกอบการนำเที่ยวไทย (สนท.) มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
พ.ต.ท.เอกชัย ศิริ สารวัตรสถานีตำรวจท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่วันที่ 1 – 13 ก.ค.2564 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ต จำนวน 5,174 คน และมียอดจองห้องพักพุ่งไปถึง 200,000 ห้อง ขณะเดียวกันพบเชื้อจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาไม่มากนัก ถือว่าอยู่ตามกรอบของกระทรวงสาธารณสุข และการตรวจพบอยู่ในสถานที่ที่เราได้เตรียมไว้ สามารถมั่นใจได้ว่าหากพบผู้ติดเชื้อ เราสามารถที่จะตัดวงจรการระบาดได้ทันที
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้โครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ ยังดำเนินต่อไปได้ด้วยดี เนื่องจากเรามีมาตรการคุมเข้ม กล่าวคือ ในส่วนของนักเที่ยวต่างชาติ เราจะเริ่มคัดกรองตั้งแต่ต้นว่า ผู้เดินทางจะต้องมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงกลางและต่ำตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ ศบค.ได้กำหนด ต้องได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ผ่านการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมง พร้อมตรวจหาเชื้อระหว่างการพำนักในวันที่ 1, 6 และ 12 ด้วย เดินทางด้วยรถยนต์และอาศัยในที่พักที่ได้รับมาตรฐาน SHA+ ตลอดการพำนัก 14 วัน และให้นักท่องเที่ยวติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ
สำหรับ นักท่องเที่ยวชาวไทย จะแบ่งเกณฑ์ออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1. ผู้เดินทางออกมาจากพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด และพื้นที่ควบคุมสูงสุด 24 จังหวัด จะต้องได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 โดส หรือหลังได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส 14 วัน, ต้องได้รับการตรวจโควิดด้วยวิธี RT-PCR หรือ Antigen Test kit และต้องติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ และ 2. ผู้เดินทางมาจากจังหวัดอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ จะต้องมีอย่างใดอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นผู้ได้รับวัคซีนครบโดส หรือมีผลการตรวจโควิดไม่เกิน 7 วัน
ส่วนเจ้าหน้าที่ เราได้กำชับให้ตั้งจุดตรวจช่วยตรวจคัดกรอง อำนวยความสะดวกและรักษาความปลอดภัยในแก่นักท่องเที่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวออกนอกพื้นที่ อาทิ ท่าอากาศยานภูเก็ต และด่านท่าฉัตรไชย นอกจากนั้นได้ดำเนินการตรวจความพร้อมของสถานที่ท่องเที่ยว 8 ประเภท ได้แก่ 1. โรงแรม ที่พัก บังกะโล โฮสเทล 2. ร้านอาหาร สถานบริการ 3.ตลาดน้ำ ตลาดวิถีชุมชน Walking Street 4. ทะเล 5. ภูเขา น้ำตก แคมป์ปิ้ง 6. แพ 7. บ่อน้ำร้อน น้ำพุ และ 8. ท่าเรือ ตามแบบตรวจสอบมาตรฐานภายใต้ความร่วมมือของจังหวัดภูเก็ตและตำรวจท่องเที่ยว ที่จะต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สาธารณสุข และธรรมชาติของแหล่งท่องเที่ยว ทั้งนี้จากการตรวจสอบที่ผ่านมา เราถือว่าสถานที่ท่องเที่ยวภายในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ประสบความสำเร็จและไม่พบข้อกังวลใจใดที่จะเป็นปัญหาหนัก
@ เปิดแนวทางการดูแลนักท่องเที่ยว 14 วัน
ด้าน ดร.จันทร์พร ช่วงโชติ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว กล่าวด้วยว่า โครงการ ‘สมุย พลัส โมเดล’ มีการคุมมาตรการเข้มเช่นเดียวกันกับโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ประกอบด้วย การกำหนดนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำและปานกลาง การตรวจหาเชื้อก่อนเดินทาง และการตรวจหาเชื้อภายในประเทศไทยจำนวน 3 ครั้ง
สำหรับการท่องเที่ยวภายใน 14 วันนั้น ดร.จันทร์พร กล่าวอีกว่า ในวันแรกที่เดินทางมาถึงจะให้นักท่องเที่ยวได้พักผ่อนภายในห้องพักก่อน จากนั้นในวันที่ 1 -3 จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมภายในบริเวณที่พัก อาทิ ออกกำลังกาย ทานอาหาร และเดินชมทัศนียภาพ ในวันที่ 4-7 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวภายในจังหวัดที่สำคัญต่างๆ ตามเส้นทางที่เราได้ Seal ไว้ โดยจะต้องมีการจองจากทางโรงแรมไปก่อน และในวันที่ 8 – 14 นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางข้ามเกาะระหว่าง เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่าได้ ทั้งนี้หากหลังจาก 14 วัน นักท่องเที่ยวไม่พบติดเชื้อ สามารถเดินทางทั่วราชอาณาจักรไทยต่อไปได้
อย่างไรก็ตาม การจะรับนักท่องเที่ยวของโครงการ ‘สมุย พลัส โมเดล’ จะเปิดรับในลักษณะค่อยๆเป็นค่อยๆไปก่อน เพราะเรายังไม่อยากรับความเสี่ยงมาก ขณะเดียวกันก็รอดูโมเดลของจังหวัดภูเก็ตก่อน ทำให้ในขณะนี้เปิดมาได้ 2 วัน มีนักท่องเที่ยวรวมกันได้ประมาณ 15 คน
(นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
@ 3 แนวทางเตรียมความพร้อม ‘ผู้ประกอบการท่องเที่ยวไทย’ ยุคโควิด
สำหรับแนวทางในการเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวในอนาคต นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประกอบด้วย 3 แนวทาง ดังนี้
1. จัดสรรวัคซีนให้พนักงานอย่างต่ำ 70% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) และสามารถขอรับมาตรฐาน SHA+ ได้ ซึ่งหากไม่ได้รับมาตรฐานดังกล่าวกิจการนั้นจะไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ ตามนโยบายของ ศบค.
2. การมีบริการขนส่ง จะต้องได้รับมาตรฐานตามกรอบที่ส่วนราชการได้กำหนดไว้ จึงจะสามารถรับนักท่องเที่ยวได้
3. บริษัทนำเที่ยวต้องเตรียมตัวให้พร้อม ในการรองรับการท่องเที่ยว โดยอาจเริ่มประชาสัมพันธ์แพ็กเกจการท่องเที่ยวได้แล้ว ขณะเดียวกันอยากให้มาร่วมเป็นสมาชิกกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศ
“การท่องเที่ยวจะไปได้ดีนั้น ผมเชื่อว่าการควบคุมการระบาด และการกระจายวัคซีน คือคำตอบในการเดินหน้าท่องเที่ยวไทย” นายชำนาญ กล่าว
@ ขอมาตรฐาน SHA+ ได้ผ่านทางเว็บไซต์
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นว่า การได้รับมาตรฐาน SHA+ มีความสำคัญมากสำหรับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงที่มีสถานการณ์การระบาดของโควิด ซึ่ง นางสาวปทิตตา ตันติเวชกุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า SHA+ เปรียบเสมือนตราสัญลักษณ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีความเชื่อมั่นว่าเราได้รับมาตรฐานด้านสินค้าและบริการ รวมถึงสุขอนามัย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด
โดยผู้ประกอบการ 10 ประเภท ได้แก่ ร้านอาหาร, โรงแรม ที่พัก และสถานที่ประชุม, นันทนาการ และสถานที่ท่องเที่ยว, ยานพาหนะ, บริษัทนำเที่ยว, สุขภาพและความงาม, ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า, กีฬาเพื่อการท่องเที่ยว, การจัดกิจกรรม การประชุม หรือโรงละคร และร้านค้าของที่ระลึกและร้านค้าอื่นๆ สามารถขอลงทะเบียนรับมาตรฐาน SHA ได้ ผ่านทางเว็บไซต์ Thailandsha
ทั้งนี้ จำนวนสถานประกอบการที่ผ่านการลงทะเบียนมาตรฐาน SHA+ 10 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ตเชียงใหม่ ชลบุรี กระบี่ สุราษฎร์ธานี นนทบุรี สมุทรปราการ นครราชสีมา และเชียงราย ตามลำดับ จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นสาเหตุด้วยว่าทำไมภูเก็ตถึงมีความพร้อม และเป็นจังหวัดแรกที่ได้เริ่มโครงการนำร่อง ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ ขึ้นมา เนื่องจากเขามีการเตรียมความพร้อมมาก
@ แนะ 5 สถานที่ทางเลือก ให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม
สำหรับแหล่งท่องเที่ยวทางเลือก ที่ผู้ประกอบการสามารถบรรจุไว้เป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม พ.ท.ญ.ดร.ศิริกุล มลศักดิ์ หัวหน้าฝ่ายการประชาสัมพันธ์และการตลาด สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบก กล่าวด้วย ทางกองทัพบกได้เปิดพื้นที่ด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวของประเทศ โดยจุดเด่นของการท่องเที่ยวของทหาร หรือที่เรารู้จักกันว่า ‘Army Land’ คือทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีความสมบูรณ์มาก ด้วยความมีระเบียบและการดูแลรักษามาโดยตลอด
โดยสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมมาก มีผู้ดูคลิปการแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวผ่านทางยูทูปแชแนล Army Land สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบกมากที่สุด 5 อันดับแรก มีดังนี้
1. ค่ายสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จ.พิษณุโลก แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่เรียกว่า ‘เกษตรเขาฟ้า’ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเยี่ยมชมแปลงสาธิตเกษตรผสมผสาน จิบกาแฟ แลวิวแบบ 360 องศา และสัมผัสกับศาลาทรงงานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯได้
2. ค่ายศรีสอง จ.เลย แหล่งท่องเที่ยวศาสนสถานที่นักท่องเที่ยวสามารถไปสัมผัสกับบรรยากาศสงบภายในแลนด์มาร์คพระพุทธรูปบนเขา
3. ค่ายเปรมติณสูลานนท์ จ.ขอนแก่น แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่นักท่องเที่ยวสามารถไปเรียนรู้การทำสมาร์ทฟาร์ม พร้อมรับพันธุ์พืชพระราชทานได้ ขณะเดียวกันยังมีจุดพักผ่อนหย่อนใจ อาทิ สวนน้ำ สวนสัตว์ และสวนหย่อมให้ได้ออกกำลังกาย
4. กรมการสัตว์ทหารบก จ.เชียงใหม่ แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการบำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิเศษด้วย ‘อาชาบำบัด’
5. ค่ายธนะรัชต์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ที่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสบรรยากาศการกระโดดหอ ด้วยอุปกรณ์ฝึกหน่วยรบพิเศษของจริงและจะได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญด้านการกระโดดหอด้วย
ทั้งนี้หากผู้ประกอบการ จะจองให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ผ่านเฟซบุ๊ก Armyland สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกองทัพบก
ภาพจาก: Freepik
อ่านข่าวประกอบ:
เช็กความพร้อม'ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์'ประเดิมรับนักท่องเที่ยว ก่อนเปิดประเทศตามโรดแมป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/