ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้ ‘ยิ่งลักษณ์’ ชดใช้จำนำข้าว 10,028 ล้านบาท ยกเหตุระบายข้าวจีทูจีมีการทุจริต แต่ปล่อยปละละเลย ไม่ติดตามหรือสั่งยุติโครงการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 22 พฤษภาคม 2568 ที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลปกครองสูงสุดนัดอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อผ.163-166/2564 ระหว่าง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกับ พวกรวม 2 คน ในฐานะผู้ฟ้องคดี กับ นายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 9 คน ในฐานะผู้ถูกฟ้องคดี คดีพิพาทเกี่ยวกับการทีหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและคดีพิพาทเกี่ยวกบัความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าทีของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย
โดยคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการที่กระทรวงการคลัง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 6) มีคำสั่งที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 โดยให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและเพิกเฉยไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางราชการตามอำนาจหน้าที่ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาล
ซึ่งในชั้นศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 2559 ‘ที่เรียกให้นางสาวยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท รวมถึงเพิกถอนคำสั่ง ประกาศ และการดำเนินการใดๆของกรมบังคับคดี, อธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร 6 (ผู้ถูกฟ้องที่ 7-9 ตามลำดับ) ในการยึด อายัดทรัพย์สินเพื่อดำเนินการขายทอดตลาดที่สืบเนื่องจากคำสั่งกระทรวงการคลังดังกล่าว และเพิกถอนคำสั่งกระทรวงการคลัง ตามหนังสือลับ ด่วนที่สุด ที่ กค.0206/2174 ลงวันที่ 30 ส.ค. 2562 และที่ยกคำร้องขอกันส่วนในฐานะเจ้าของรวมของผู้ฟ้องคดีที่ 2 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่า ให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ชดใช้ค่าเสียหาย 10,028 ล้านบาท ซึ่งเป็นร้อยละ 50 ของความเสียหายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ(จีทูจี) ในฐานะที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ เป็นประธานกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติต้องชดใช้ค่าเสียหายส่วนระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ
โดยศาลปกครองสูงสุด เห็นว่านางสาวยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวฯ ไม่ได้ติดตามการระบายอย่างเต็มความสามารถและใกล้ชิด และเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการ กขค.เพียงครั้งเดียว และตลอดการดำเนินโครงการมีหนังสือทักท้วง และมีข้อเสนอแนะจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินว่าโครงการมีการทุจริต ขอให้ยกเลิกโครงการดังกล่าว แต่ก็ยังดำเนินโครงการต่อพฤติการณ์ดังกล่าว จึงเห็นได้ว่ายังคงละเว้นเพิกเฉยไม่ติดตามให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลความเสียหายให้ทราบเพื่อป้องกันปัญหาซึ่งโดยวิสัยของผู้ฟ้องคดีที่ 1 เมื่อได้รับทราบว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นก็ควรติดตามตรวจสอบอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ได้ดำเนินการจนทำให้เกิดเหตุทุจริตส่งผลให้การระบายข้าวไม่ทัน ต้องนำมาเก็บไว้และเกิดการเน่าเสียพฤติการณ์ของนางสาวยิ่งลักษณ์จึงเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงที่ต้องรับผิดทางละเมิดต่อกระทรวงการคลัง
ส่วนกรณีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีนาปังเป็นความผิดของเจ้าหน้าที่จึงเห็นว่านางสาวยิ่งลักษณ์ไม่ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายทางละเมิดในส่วนนี้
จึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้คำสั่งกระทรวงการคลังที่1351/2559 ลงวันที่ 13 ต.ค. 59 ที่สั่งให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท โดยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จ่ายชดใช้เฉพาะค่าเสียหายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ เป้นจำนวนเงิน 10,028 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50 ของความเสียหายที่เกิดขึ้นในขั้นตอนดังกล่าว