"...ส่วนกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการแต่ละคน จะนำเอกสารไปพิจารณา และทำความเห็น มีลักษณะแบบเดียวกับการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ต่างคนต่างไปดูเอกสารมาก่อน ใครมีความเห็นอย่างไรก็ค่อยเอามาคุยกัน..."
กำลังเป็นที่จับตามองของคนในสังคม!
สำหรับมติแพทยสภาพิจารณาผลการสอบสวนจริยธรรมทางวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์และแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ เกี่ยวกับการพักรักษาตัวของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ โดยให้ลงโทษแพทย์ 3 ราย แยกเป็นให้ว่ากล่าวตักเตือน 1 ราย ในกรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรม ว่า บทสรุปสุดท้าย ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
เพราะภายหลังจากที่ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะนายกสภาพิเศษ ได้รับสำนวนการสอบสวนและมติของแพทยสภา สั่งลงโทษแพทย์ 3 ราย เกี่ยวกับการพักรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ ดังกล่าว นายสมศักดิ์ มีเวลา 15 วัน ที่จะพิจารณาว่าเห็นชอบตามที่แพทยสภาเสนอหรือมีคำสั่งให้ทบทวนมติ
โดยเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา พร้อมทีมกฎหมาย เดินทางยื่นมติของแพทยสภาต่อรัฐมนตรีสาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ เพื่อพิจารณาลงโทษแพทย์ 3 คน เป็นทางการแล้ว
ถัดมาเพียง 1 วัน เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2568 มีความเคลื่อนไหวในกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุขที่ 807/2568 วันที่ 15 พ.ค. 2568 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเสนอความเห็นสภานายกพิเศษเพื่อพิจารณา ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 มีจำนวน 10 คน แบ่งเป็น ประธาน 1 คน ที่ปรึกษา 1 คน กรรมการ 8 คน
สาเหตุการตั้งคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ระบุว่า สืบเนื่องจากปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณาวินิจฉัยขี้ขาดลงโทษผู้ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของคณะกรรมการแพทยสภา เมื่อวันที่ 8 พ.ค.2568 รมว.สาธารณสุข ในฐานะสภานายกพิเศษ จึงเห็นควรที่จะแต่งตั้งคณะบุคคลจำนวนหนึ่งทำหน้าที่ช่วยเหลือเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา สั่งการตามอำนาจหน้าที่ของสภานายกพิเศษต่อไป
น่าสนใจว่าที่มาของกรรมการทั้ง 10 ราย ในการทำหน้าที่ช่วยเหลือเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาสั่งการตามอำนาจหน้าที่ของสภานายกพิเศษ เป็นอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พลิกแฟ้มประวัติมานำเสนอให้ทราบ ณ ที่นี้
1.นายชัยนันท์ งามขจรกุลกิจ ประธานคณะกรรมการฯชุดนี้ คือ ‘ลูกหม้อ’ สำนักงานอัยการสูงสุด ดำรงตำแหน่งอัยการมายาวนานหลายตำแหน่ง เช่น รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ตำแหน่งอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแรงงานภาค 1 เลื่อนขึ้นมาเป็นอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแรงงานภาค 1 และอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นต้น
ที่ผ่านมาเมื่อปี 2559 นายชัยนันท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยยื่นสมัครเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่มิได้รับเลือก
2.นพ.ชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการฯชุดนี้ เป็นอีกหนึ่ง ‘แพทย์ระดับสูง’ มีความโดดเด่นในกระทรวงสาธารณสุข เคยดำรงตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ ปฏิบัติหน้าที่ด้านวิชาการ ในเขตสุขภาพที่ 5 ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาคร ก่อนหน้านี้เคยเป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ดำเนินหลายนโยบายตอบสนองกระทรวงสาธารณสุข และได้รับเสียงชื่นชมในพื้นที่ค่อนข้างมาก
ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข คือ ‘มือชง’ เข้า ครม.เพื่อขอมติแต่งตั้ง นายชัยวัฒน์ พัฒนาพิศาลศักดิ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์เชี่ยวชาญ) สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ (นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ โดย ครม.มีมติตามที่ รมว.สาธารณสุข เสนอ
3.นายพงษ์ศักดิ์ แก้วกมล กรรมการฯ เคยเป็นอธิบดีอัยการสำนักงานนโยบาย ยุทธศาสตร์ และงบประมาณ เป็นอธิบดีอัยการสำนักงานคณะกรรมการอัยการ(ก.อ.) เคยเป็นผู้ตรวจการอัยการ ทั้งนี้นายพงษ์ศักดิ์ เคยได้รับเลือกเป็นกรรมการอัยการ (ก.อ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ประเภทผู้รับบำเหน็จหรือบำนาญมาแล้ว
ทั้งนี้ ในยุค สนช. เมื่อปี 2560 เคยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ชุด พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ สนช. เป็นประธาน กมธ.
4.นายพิทักษ์ ฉันทประยูร กรรมการฯ เคยเป็นอธิบดีอัยการสำนักงานคดีล้มละลาย เคยเป็นอธิบดีอัยการสำนักงานอาญากรุงเทพใต้ เคยเป็นอัยการอาวุโส สำนักงานคดีศาลสูง เคยเป็นอัยการอาวุโส สํานักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เคยเป็นอัยการอาวุโส สํานักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เคยเป็นอัยการอาวุโส สํานักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด เป็นต้น
5.นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร กรรมการฯ ก่อนหน้านี้เคยเป็นผู้อำนวยการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำหรับประวัติการศึกษาเริ่มต้นจาก นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยมดี) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เนติบัณฑิตไทย สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, LL.M., University of Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา, LL.M., Harvard Law School ประเทศสหรัฐอเมริกา, เนติบัณฑิตแห่งรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และประกาศนียบัตรหลักสูตรนักบริหารระดับสูง Wharton Business School, University of Pennsylvania
ตำแหน่งงานในสายอาชีพของนายพสิษฐ์ เริ่มจากการเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำกระทรวง ก่อนเจริญในหน้าที่การงานก้าวสู่ตำแหน่งสำคัญต่างๆ อาทิ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ, ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกร) ระดับทรงคุณวุฒิ กระทรวงยุติธรรม, เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย, ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกร) ระดับทรงคุณวุฒิ กระทรวงยุติธรรม, รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม
ทั้งนี้ นายพสิษฐ์ เคยได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษที่สำคัญต่างๆ อาทิ การเป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมจัดทำร่างกฎหมายล้มละลายใน UNCITRAL, ผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมจัดทำร่างกฎหมายการขนส่งใน UNCITRAL, ผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมจัดทำร่างกฎหมายอนุญาโตตุลาการใน UNCITRAL, กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติล้มละลาย, อนุกรรมการและเลขานุการคณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ และอนุกรรมการพัฒนากฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า นอกจากนี้ เขายังเป็นอาจารย์พิเศษสำหรับระดับปริญญาตรีและโทให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยอัญสัมชัญ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร
นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) สำนักงาน คปก. แล้วกลับมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัด กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ทั้งนี้ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.พ.2556 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ.2556
อย่างไรก็ดีเมื่อปี 2557 มีรายงานว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 34/2559 ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 โยกย้ายนายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร พ้นจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม และให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม
ต่อมาปี 2563 ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้ง นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ผู้ไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรีกลับเข้ารับราชการให้ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาเฉพาะด้านกฎหมายมหาชน (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2563 สำหรับในส่วนของเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และค่าตอบแทนพิเศษนอกเหนือจากเงินเดือน ให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป
โดยกระทรวงยุติธรรมได้มีคำสั่งให้ นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย (นิติกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงยุติธรรม ลาออกจากราชการเพื่อไปปฏิบัติงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ซึ่งคำสั่งดังกล่าวออกตามความในมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 และตามความในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์การสั่งให้ข้าราชการไปทำการ ซึ่งให้นับเวลาระหว่างนั้นเหมือนเต็มเวลาราชการ พ.ศ. 2550) โดยปฏิบัติหน้าที่ที่สถาบันอนุญาโตตุลาการ เป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2559 ซึ่งจะครบกำหนด 4 ปี ในวันที่ 14 ก.ค. 2563 นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร ได้ยื่นแบบขอกลับเข้ารับราชการ ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 2563 เนื่องจากครบกำหนด 4 ปี
6.นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ กรรมการฯ ชุดนี้ เป็นนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย และทนายความในการขอปล่อยตัวชั่วคราวของ 7 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ผ่านมาเคยว่าความคดีทางการเมืองหลายครั้ง ที่สำคัญ ๆ เช่น ทนายความในคดีรถดับเพลิงปี 2544 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หัวหน้าคณะทนายความในการดำเนินการขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีอาญาที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ทนายความนายวรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในคดีของศาลกีฬาโลก Court of Arbitration for Sport ระหว่างนาย วิรัช ชาญพานิชย์ กับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ณ กรุงโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น
เคยเป็นที่ปรึกษา กมธ.หลายคณะในสภาฯ เช่น ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะทนายความผู้รับมอบหมาย จากคณะทำงาน ป.คอป. (คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ รองประธานที่ปรึกษากฎหมายของที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี (นาย สุชน ชาลีเครือ) ที่ปรึกษากฎหมาย สถาบันวิศวกรรมพลังงาน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษา คณะกรรมาธิการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่ปรึกษากฎหมายแก่บริษัทเอกชนอีกหลายแห่ง
ล่าสุด นายนรินท์พงศ์ ออกมาแสดงความเห็นทางกฏหมาย ว่า นายกทักษิณพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นไปโดยชอบด้วยมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 ถือได้ว่านายทักษิณได้ถูกจัดการตามหมายจำคุกแล้ว โดยถูกจำคุกตามหมายจำคุกของศาลที่โรงพยาบาลตำรวจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 55 ของกฎหมายราชทัณฑ์ อันเป็นกฎหมายอื่นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 89 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วทุกประการ
7.นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ กรรมการฯ เป็นอีกหนึ่ง ‘คนใกล้ชิด’ ของ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ เขาเคยเป็นเลขานุการ รมว.ยุติธรรม ในยุค 'สมศักดิ์’ และมาเป็นผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงสาธารณสุข ในยุค ‘สมศักดิ์’ อีกเช่นกัน โดยในช่วงเข้ามาทำงานในกระทรวงยุติธรรมนั้น ‘ธนกฤต’ เคยให้สัมภาษณ์เรียกตัวเองเปรียบเสมือน ‘พ่อบ้าน’
ประวัติส่วนตัวตามที่ ‘ธนกฤต’ เคยเล่าไว้ ระบุว่า เรียนจบมาก็เป็นอาจารย์สอนวิชากฎหมาย ม.เอกชน ร่วม 10 ปี มีความชอบสอนหนังสือ รักการสอน และเปิดสำนักงานกฎหมายว่าความทั่วไป มีเคสสำคัญ คือ ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าทีมกฎหมายคดี พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีต ผบช.น. พกปืนจิ๋วเข้าประเทศญี่ปุ่น ขนาดเท่าหัวเข็มขัด จากนั้นก็รวบรวมพยานหลักฐานในเมืองไทยส่งตำรวจญี่ปุ่น สุดท้ายทางโน้นก็ปล่อยออกมาเพราะมองเรื่องไม่มีเจตนา
แต่มาหยุดทำงานทางการเมืองเมื่อยุค คสช. เพราะเริ่มเกิดความเบื่อ พรรคการเมืองเป็นระบบอุปถัมภ์เป็นมรดกครอบครัว คนมีพื้นฐานญาติพี่น้องหรือผู้ใหญ่สนับสนุนจะสามารถก้าวต่อได้ แต่หากไม่มีมันยากที่จะรับตำแหน่งสำคัญ ดังนั้น ก็ลองผิดลองถูกในวงการ ประมาณ 12 ปี คิดว่าคงพอแล้วจะหันกลับไปทำอาชีพทนายอย่างเดียวพอ กระทั่งปี 2561 มีผู้ใหญ่ที่นับถือ สนิทสนมคุ้มเคยกับ ‘สมศักดิ์’ ทาบทามว่าอยากมาช่วยงานทีมกฎหมายหรือไม่ จึงได้พูดคุยกัน และได้มาอยู่ใน ‘กลุ่มสามมิตร’ ณ เวลานั้น จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลขึ้นได้ และถูกดึงมาเป็นเลขานุการ รมว.ยุติธรรม
8.นายวชิระ ปากดีสี กรรมการ และเลขานุการคนที่ 1 เคยเป็นนักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ เคยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก เมื่อปี 2564 เคยถูกสำนักนายกฯ ส่งมาชี้แจงความเห็นในการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของ สนช.เมื่อปี 2559
9.นายวิทยา พลสีลา กรรมการและเลขานุการ คนที่ 2 เป็นอีกหนึ่งในแพทย์ที่มีบทบาทในกระทรวงสาธารณสุขยุคปัจจุบัน โดยเป็นสาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 2 เคยเป็นรักษาการในตำแหน่งสาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 2 และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก เคยเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข
10.นายปิยะวัฒน์ ศิลปรัศมี กรรมการและเลขานุการ คนที่ 3 เคยเป็นผู้อำนวยการกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งหมด คือ ประวัติโดยสังเขปเท่าที่จะสืบค้นได้ทางสาธารณะของ 10 กรรมการฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดลงโทษผู้ประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมของคณะกรรมการแพทยสภา ที่กำลังถูกจับตามองจากสังคมอยู่ในขณะนี้
@ นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์
ขณะที่ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2568 นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ ออกมาเปิดเผยเป็นทางการว่า ได้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งจากแพทยสภา รวมถึงแพทย์ 3 คน ที่ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมรวม ๆ กันมากกว่า 4,000 หน้า ให้คณะกรรมการฯ ชุดนี้ ไปแล้ว เพื่อไปดูในรายละเอียดก่อนที่จะมีการประชุมกันนัดแรก ในช่วงบ่ายวันที่ 20 พฤษภาคม นี้
"ส่วนกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการแต่ละคน จะนำเอกสารไปพิจารณา และทำความเห็น มีลักษณะแบบเดียวกับการวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ต่างคนต่างไปดูเอกสารมาก่อน ใครมีความเห็นอย่างไรก็ค่อยเอามาคุยกัน" นายกองตรี ธนกฤต ระบุ
สุดท้ายบทสรุปจะเป็นอย่างไร โปรดติดตามดูต่อไป อย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ :
- คดีทักษิณ ชั้น 14! แพทยสภา สั่งลงโทษ 3 หมอ ตักเตือน 1 พักใบอนุญาต 2
- 6 รายอยู่ในข่าย? เช็กชื่อ '3 หมอ' แพทยสภา สั่งลงโทษคดี 'ทักษิณ' ชั้น 14
- เปิดชื่อ 3 หมอ 'รวมทิพย์-โสภณรัชต์-ทวีศิลป์' โดนแพทยสภา สั่งลงโทษคดีทักษิณ ชั้น 14
- วัดกึ๋น 'สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ใช้อำนาจวีโต้มติเอกฉันท์แพทยสภา ลงโทษ 3 หมอ คดีทักษิณชั้น14
- แพทยสภา ลงนามรับรองครบถ้วน! ผลสอบ '3 หมอ' คดี ทักษิณ ชั้น 14 ถึงมือ 'สมศักดิ์' แล้ว
- ย้อนหลักฐานคลิปสัมภาษณ์อดีตแพทย์ใหญ่ รพ.ตร. ชนวนพักใบอนุญาต 3 ด.-ยัน'ทักษิณ' อาการหนัก