"...องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้พิจารณา เชิญชวนและเลือก ผู้รับจ้างเพียงรายเดียวเป็นคู่สัญญาในห้วงระยะเวลาเดียวกัน เป็นจำนวนมากหลายสัญญา จนส่งผลกระทบต่อการบริหารสัญญาจนอาจเกิดความเสียหายต่อทางราชการและมีความเสี่ยงการทุจริตของการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันกับ ผู้รับจ้าง/การมีส่วนได้เสียในสัญญาจะเป็นลักษณะที่เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจจัดจ้างเข้าไปมีผลประโยชน์หรือเชื่อมโยง มีส่วนได้เสียกับคู่สัญญา ..."
การขอรับเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยช่วงฤดูฝน ปี 2567 จังหวัดสงขลา ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 17 กันยายน 2567 ที่มีปัญหาการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐที่ส่อว่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นเกี่ยวกับการรับรองเอกสารอันเป็นเท็จ ขณะที่ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้กระบวนการการช่วยเหลือเยียวยาน้ำท่วมดังกล่าว เพื่อผลักดันให้ได้คะแนนเสียงในระยะยาวและเป็นการสร้างความนิยมในตัวผู้บริหารท้องถิ่น
มิใช่เรื่องเดียวที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดสงขลา ตรวจสอบพบและได้มีการแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเข้ามาตรวจสอบ ระงับยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว
หากแต่กรณีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2567 และ 2568 ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ตรวจสอบพบเรื่องการใช้จ่ายเงินงบประมาณสะสมซึ่งมีความเสี่ยงเอื้อผลประโยชน์ผู้รับจ้างรายเดียว และมีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ และผู้ควบคุมงาน ละเลยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ2560 อีกทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐหากงานโครงการเหล่านั้น มีปัญหา หรือได้ผู้รับจ้างไม่มีศักยภาพ และแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเข้ามาตรวจสอบ ระงับยับยั้งไม่ให้เกิดปัญหาเช่นกัน
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้น!
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจาก สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบสังเกตการณ์และเฝ้าระวังการทุจริตซึ่งได้ประเมินจากข้อมูลพฤติการณ์ การร้องเรียนและแจ้งเบาะแสหรือช่องทางความเสี่ยงของการทุจริตในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างกรณีการใช้จ่ายเงินงบประมาณสะสมซึ่งมีความเสี่ยงเอื้อผลประโยชน์ผู้รับจ้างรายเดียวและมีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ และผู้ควบคุมงาน ละเลยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ2560 อีกทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐหากงานโครงการเหล่านั้น มีปัญหา หรือได้ผู้รับจ้างไม่มีศักยภาพ
โดยได้ลงพื้นที่เฝ้าระวังสังเกตุการณ์หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2567 และ 2568 ณ หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7 หน่วยงาน ดังนี้
- องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหวัง
- องค์การบริหารส่วนตำบลจะทิ้งพระ
- องค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์
- องค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อดาน
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อตรุ
- เทศบาลตำบลปากแตระ
@ ข้อตรวจพบ
กลุ่มงานป้องกันการทุจริต พบข้อเท็จจริงอันเป็นมีความเสี่ยงของการดำเนินการที่มีเหตุอันควรระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ ดังนี้
1.กระบวนการก่อนการจัดซื้อจัดจ้าง
1.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง มีการเพิ่มโครงการ ฯ ในแผนพัฒนาท้องถิ่นที่จะดำเนินการไม่เป็นไปตามขั้นตอนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น พ.ศ.2548 ที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2561 ข้อ 9 อาทิ การเพิ่มเติมโครงการก่อสร้างในแผนพัฒนาท้องถิ่นก่อนเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจ่ายเงินสะสม ของสภาฯ เพียง 3 วัน
1.2 การจัดทำงวดงานและระเวลาการก่อสร้างโครงการกำหนดงาน แล้วเสร็จนานเกินจริง เช่น ถนน ค.ส.ล. ยาว 70 เมตร กำหนดงานแล้วเสร็จ 90 วัน
1.3 หน่วยงานมีการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีให้มีวงเงินที่น้อย กว่า 500,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ถือว่าเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างและสามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ซึ่งอาจจะทำให้ภาครัฐจัดซื้อในราคาที่สูงและข้อมูลจำนวนวงเงินเฉลี่ยต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างในปีงบประมาณพ.ศ. 2567 ที่มีมูลค่าไม่เกิน 500,000 บาท จากการลงพื้นที่ในกรณีดังกล่าวมีจำนวนมากแสดงให้เห็นว่าหน่วยงานภาครัฐใช้วิธีดังกล่าวเพื่อเป็นการแบ่งซื้อแบ่งจ้างตั้งแต่การจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างที่จะส่งผลให้สามารถจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้เป็นการดำเนินการที่เสี่ยงต่อการเข้าไปมีส่วนได้เสียและภาครัฐต้องจัดซื้อในราคาที่สูง
กล่าวคือ การกระทำดังกล่าวเป็นการแบ่ง ซื้อแบ่งจ้างที่ถูกกฎหมายและการใช้วิธีเฉพาะเจาะจงก็เป็นไปตามระเบียบ ทั้งที่อาจจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันราคากัน และเสี่ยงต่อการเข้าไปมีส่วนได้เสียซึ่งในข้อเท็จจริงส่วนใหญ่หน่วยงานก็จะเลือกใช้วิธีเฉพาะเจาะจง
ดังนั้น กรณีนี้หากหน่วยงานที่ต้องการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างให้เกิดการแข่งขันราคา หน่วยงานภาครัฐได้ราคาการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่สูงเกินรวมถึงเพื่อไม่ให้เกิดคำถามถึงการเข้าไปมีส่วนได้เสียจากการจัดทำแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีให้วงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ในงานที่หากดำเนินการในครั้งเดียวแล้ววงเงินมากกว่า 500,000 บาท หน่วยงานนั้นก็ไม่ควรใช้การจัดซื้อจัด จ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ควรจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 111 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561 เรื่อง ซ้อมความเข้าใจการเลือกใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 กรณีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท
1.4 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
มักดำเนินการโครงการก่อสร้างฯ โดยไม่ได้ดำเนินการขออนุญาตขอดำเนินการ เช่นการขอใช้ที่ดินจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่หรือโครงการขุดบ่อบาดาล หน่วยงานไม่ได้ขออนุญาตเจาะน้ำบาดาลและขออนุญาตใช้น้ำบาดาลต่อพนักงานน้ำบาดาลประจำท้องที่เขตน้ำบาดาล จังหวัด ตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการน้ำบาดาลตามพระราชบัญญัติน้ำบาดาล พ.ศ.2520 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เป็นต้น
2.กระบวนการระหว่างการจัดซื้อจัดจ้าง
2.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวมีการจัดทำโครงการทำถนน โครงการขุดเจาะบ่อบาดาลอันเป็นการจ่ายขาดเงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในคราวเดียวกันเป็นจำนวนมาก หลายโครงการและมีผู้รับจ้างเพียงรายเดียวได้เป็นคู่สัญญาซึ่งอาจเป็นการเข้ามีส่วนได้เสียในสัญญา อันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล กับ ประโยชน์ส่วนรวม
2.2 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยคณะกรรมการซื้อหรือจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้พิจารณา เชิญชวนและเลือก ผู้รับจ้างเพียงรายเดียวเป็นคู่สัญญาในห้วงระยะเวลาเดียวกัน เป็นจำนวนมากหลายสัญญา จนส่งผลกระทบต่อการบริหารสัญญาจนอาจเกิดความเสียหายต่อทางราชการและมีความเสี่ยงการทุจริตของการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันกับ ผู้รับจ้าง/การมีส่วนได้เสียในสัญญาจะเป็นลักษณะที่เจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจจัดจ้างเข้าไปมีผลประโยชน์หรือเชื่อมโยง มีส่วนได้เสียกับคู่สัญญาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้าง หรือผู้มีอำนาจอนุมัติมักจะเป็นผู้รับผลประโยชน์หรือประโยชน์อย่างอื่นตอบแทนอันเป็นการกระทำที่ผิดตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 13 ระบุว่า “ในการจัดซื้อจัดจ้างผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับผู้ยื่นข้อเสนอหรือคู่สัญญาใน งานนั้น....” และกฎหมายอื่น ๆ ด้วย รวมถึงผลจากการกระทำดังกล่าวทำให้หน่วยงานรัฐเกิดความ เสียหายใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพประชาชนเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากการดำเนินโครงการของหน่วยงานรัฐ ดังนี้
- เทศบาลตำบลลำไพล เป็นคู่สัญญากับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดแอลพีแอสฟัลท์ จำนวน 37 โครงการ
- องค์การบริหารส่วนตำบลจะทิ้งพระ เป็นคู่สัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดประดิษฐ์ก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ
- องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งหวัง เป็นคู่สัญญากับ บริษัท พินันท์พัฒน์ก่อสร้าง จำกัด จำนวน 26 โครงการ
- เทศบาลตำบลบ่อตรุ เป็นคู่สัญญากับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด จีวายพี
- องค์การบริหารส่วนตำบลวัดจันทร์ เป็นคู่สัญญากับ ห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์มหาศาลก่อสร้าง
- องค์การบริหารส่วนตำบลบ่อดาน เป็นคู่สัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์มหาศาลก่อสร้าง
- องค์การบริหารส่วนตำบลสนามชัย เป็นคู่สัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์มหาศาลก่อสร้าง
- เทศบาลตำบลปากแตระ เป็นคู่สัญญากับห้างหุ้นส่วนจำกัดทรัพย์มหาศาลก่อสร้าง
3.กระบวนการหลังการจัดซื้อจัดจ้าง
การควบคุมงานไม่ถูกต้อง/ ตรวจรับงานเท็จ ไม่เป็นไปตามแบบไม่ได้มาตรฐาน การตรวจรับพัสดุนับเป็นขั้นตอนที่สำคัญขึ้นตอนหนึ่งในการจัดซื้อจัดจ้างเนื่องจาก หากคณะกรรมการตรวจรับฯ ยังไม่ได้ตรวจรับและลงนามในบันทึกการตรวจรับรวมทั้งไม่ได้รายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบแล้ว จะนำพัสดุเข้าบัญชีควบคุมพัสดุหรือนำงานที่จ้างไปใช้ในทางราชการไม่ได้ตลอดจนไม่สามารถดำเนินการเบิกจ่ายเงินให้กับผู้ขายหรือผู้รับจ้างได้ ซึ่งในการตรวจรับ พัสดุหรือตรวจรับการจ้างนั้นคณะกรรมการตรวจรับจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ มีความเข้าใจในหน้าที่และข้อกำหนดเงื่อนไขในสัญญาเพื่อให้ทำการตรวจรับตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามกฎหมายให้ถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดของสัญญา หากทำการตรวจรับพัสดุหรือตรวจรับการจ้างที่ ไม่เป็นไปตามคุณลักษณะเฉพาะหรือเงื่อนไขที่ข้อกำหนดในสัญญาหรือตรวจรับโดยขาดความรู้ ความ เข้าใจที่ถูกต้องซึ่งทำให้ทางราชการเสียประโยชน์หรือเกิดผลเสียหายกับทางราชการหรือมีเจตนาที่ จะช่วยเหลือผู้ขายหรือผู้รับจ้างแล้ว คณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือตรวจรับการจ้างอาจถูกตั้งกรรมการสอบสวนความผิดในทางวินัยหรือทางแพ่งได้ ฯลฯ ทั้งนี้ การตรวจรับพัสดุจะต้องดำเนินการตาม หลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ประกอบระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 175 กรณีงานซื้อหรืองานจ้าง ข้อ 176 กรณีงานจ้างก่อสร้าง ข้อ 179 กรณีงานจ้าง
โดยกลุ่มงานป้องกันการทุจริตพบว่าเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
3.1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่แจ้งคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและแต่งตั้งคณะกรรมตรวจรับงานจ้างทราบถึงคำสั่ง และมิได้ส่งมอบสำเนาสัญญาฯ ให้แก่คณะกรรมการฯเพื่อใช้ในการบริหารสัญญา
3.2 คณะกรรมการตรวจรับฯ ตรวจรับงานอันเป็นเท็จ เนื่องจากผู้รับจ้างยังมิได้ดำเนินการตามปริมาณงานได้ครบถ้วนตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
3.3 ผู้ควบคุมงานไม่จัดทำรายงานการควบคุมงานให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งมักจะดำเนินการย้อนหลังเพื่อใช้ประกอบการส่งมอบงานอันเนื่องมาจากมีจำนวนโครงการก่อสร้างฯที่ต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนมากในห้วงระยะเวลาเดียวกัน
3.4 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ มิได้เร่งรัดปฏิบัติงานตามสัญญาเมื่อผู้รับจ้างทำงานล่าช้า และได้รายงานผู้บริหารทราบ
3.5 ผู้ควบคุมงานและคณะกรรมการตรวจรับพัสดุงานจ้างก่อสร้างมักปล่อยปละละเลยมิได้ดำเนินการใดๆ กับ ผู้รับจ้างที่ไม่เข้าปฏิบัติงานก่อสร้างในพื้นที่ก่อสร้างเลยและยังไม่มีความคืบหน้าการก่อสร้าง ซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวมีเหตุผลอันสมควรและเชื่อได้ว่าผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาก่อสร้างฯ ให้สำเร็จตามเป้าหมายดังที่ระบุไว้ในสัญญา
3.6 ผู้ควบคุมงานไม่ส่งรายงาน และ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ ละเลยไม่ติดตามทวงถามตามหน้าที่ซึ่งประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ! เพราะ “คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ” ไม่ได้มีหน้าที่แค่ตรวจรับงานเมื่อเสร็จสิ้นเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่บริหารสัญญาตลอดระยะเวลาของโครงการก่อสร้างซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อย และมีผลให้เกิดกรณีที่ผู้ควบคุมงานไม่ส่งรายงานประจำสัปดาห์ คณะกรรมการตรวจรับไม่มีข้อมูลติดตามงานและ งานจ้างนั้นอาจผิดพลาด แต่ไม่ถูกแก้ไขตั้งแต่ต้น
@ ข้อพิจารณา/ข้อเสนอ
1. กลุ่มงานป้องกันการทุจริต ฯ พิจารณาแล้วเห็นว่าจากข้อมูลที่กล่าวไปข้างต้นเป็นข้อเท็จจริงที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริตสูงมีข้อมูลประกอบที่ชัดเจนอันจะเป็นฐานข้อมูลให้การดำเนินการด้านการปราบปรามการทุจริตสามารถกระทำได้ด้วยความรวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพ
2. หากพบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด พบข้อเท็จจริงที่ชัดเจนกรณีว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการดำเนินการอย่างใดในหน่วยงานของรัฐอันอาจนำไปสู่การทุจริตหรือส่อว่าอาจมีการทุจริตเห็นควรให้กลุ่มงานป้องกันการทุจริตดำเนินการตามมาตรา 35 หรือมาตราอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
3 กลุ่มงานป้องกันการทุจริตพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงข้างต้น เห็นควรดำเนินการป้องปรามการทุจริตเพื่อระงับยับยั้งมิให้เกิดการทุจริต หรือเกิดความเสียหายต่อราชการทั้งการลงพื้นที่เฝ้าระวังแบบขยายผลการลงพื้นที่ไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่พบความเสี่ยงของการดำเนินการในลักษณะกรณีดังกล่าว
4. สำนักงานคลังจังหวัดสงขลา สำนักงานส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานจังหวัดสงขลา และสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดสงขลา ควรดำเนินการจัดกิจกรรม/โครงการ หรือคลินิกให้คำปรึกษาเคลื่อนที่หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อระงับยับยั้งลดความเสี่ยงการทุจริตในกรณีข้อตรวจพบและข้อเสนอแนะเพื่อการป้องกันการทุจริตกรณีการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2567 และ 2568
**************
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเชิงลึกการตรวจสอบกรณีการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดสงขลา ประจำปีงบประมาณ 2567 และ 2568 ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ถูกสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดสงขลา ตรวจสอบพบปัญหาการใช้จ่ายเงินงบประมาณสะสมซึ่งมีความเสี่ยงเอื้อผลประโยชน์ผู้รับจ้างรายเดียว และมีความเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุฯ และผู้ควบคุมงาน ละเลยหรือละเว้นไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ2560 อีกทั้งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐหากงานโครงการเหล่านั้น มีปัญหา หรือได้ผู้รับจ้างไม่มีศักยภาพ ตามที่กล่าวไปข้างต้น
หากมีรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักข่าวอิศรา จะนำมาเสนอต่อไป