ตึกสตง.ถล่มยังสลดต่อเนื่อง พบศพรายที่ 12 แล้ว ด้าน ‘ชัชชาติ’ เผยสถานการณ์แผ่นดินไหวใน กทม. ใกล้คลี่คลายแล้ว เผยจำนวนผู้แจ้งเหตุอาคารมีปัญหาพุ่งแล้ว 13,000 ราย ประกาศไม่หยุดภารกิจตามหาผู้รอดชีวิตจากเหตุตึกสตง.ถล่ม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 31 มีนาคม 2568 เมื่อเวลา 14.30 น. มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้พบร่างผู้เสียชีวิตเป็นเพศหญิง และได้นำร่างลงมาเพื่อที่จะนำร่างไปที่สถาบันนิติเวช เพื่อตรวจสอบอัตลักษณ์ในลำดับต่อไป ทั้งนี้ ตัวเลขยอดผู้เสียชีวิตล่าสุด รวม 12 ราย เป็น ชาย 8 หญิง 4 คน
@สถานการณ์แผ่นดินไหว กทม.ใกล้คลี่คลายแล้ว
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) แถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหว ประจำวันที่ 31 มี.ค.68 ความคืบหน้าสถานการณ์วันนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.สถานการณ์โดยทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพฯ และ 2.สถานการณ์ ณ จุดเกิดเหตุอาคารถล่ม เขตจตุจักร
ภาพรวมในกรุงเทพฯ คลี่คลายเกือบ 100% การจราจรเปิดหมดทุกเส้นทาง รถไฟสายสีเหลือง สีชมพู ทุกเส้นเปิดหมดแล้ว ทางด่วนดินแดง ทั้งขาเข้า-ขาออก ก็เปิดแล้วเช่นกัน แต่ยังมีติดขัดอยู่ที่ถนนกำแพงเพชร 2 บริเวณหน้าตึกจุดเกิดเหตุอาคารถล่ม เขตจตุจักร และจุดที่มีการรื้อถอนเครนที่บางโพ เขตบางซื่อ ซึ่งถือเป็นส่วนน้อย การจราจรกลับคืนสู่สภาพปกติ
@แจ้งเหตุอาคาร 13,000 ราย
นายชัชชาติ กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบอาคาร ได้รับแจ้งจากประชาชนเข้ามา 13,000 กว่าราย แต่ 13,000 เรื่องนี้ ไม่ใช่ตัวเลขจำนวนอาคาร เนื่องจากหลายอาคารมีผู้แจ้งเข้ามาซ้ำซ้อนกัน บางเคสเป็นแค่รอยร้าวผนังซึ่งผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์สามารถให้ความเห็นได้ว่าต้องเข้าไปตรวจสอบหรือไม่ หลักการคือลำดับความสำคัญ ตรวจสอบเคสที่รุนแรงก่อน เคสระดับกลางเมื่อคลี่คลายแล้วจะลงไปดูให้อีกครั้ง เพราะเราไม่สามารถไปตรวจทั้งหมื่นเคสได้ ทั้งนี้ ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว พบอาคารไม่อนุญาตให้ผู้อาศัยเข้าไปอยู่ได้ จำนวน 2 อาคาร มีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 2,000 คน เราจึงได้จัดที่พักชั่วคราวให้ มีผู้เข้ามาขอรับความช่วยเหลือ 172 คน โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการจัดหาที่พักให้ ทั้งนี้ ส่วนที่เป็นอาคารราชการจะดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง หากประชาชนยังไม่มั่นใจในเรื่องอาคารสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สามารถแจ้งเข้ามาทาง Traffy Fondue ได้ ตลอด 24 ชม.
@ ปภ.เร่งสรุปเยียวยา
ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวต่อด้วยว่า เรื่องการช่วยเหลือเยียวยาจะมีมาตรการออกมา ขณะนี้ทางกรมป้องกันและบรรเทาธารณภัย (ปภ.) กำลังดำเนินการสรุปรายละเอียดว่าจะมีการเยียวยาอย่างไร และด้านญาติของผู้ประสบภัยที่มารอ กทม. ได้จัดเต็นท์ อาหารน้ำ จุดลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน และมีล่ามชาวเมียนมาพร้อมอำนวยความสะดวก มีภาคเอกชนมาช่วย ซึ่งกทม.ดูแลเขาเหมือนญาติ โดยมีสำนักงานเขตจตุจักรคอยดูพื้นที่นอกอาคารถล่ม ส่วนที่เกิดเหตุเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการเหตุการณ์คอยบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยภาพรวมเชื่อว่าสถานการณ์ของกรุงเทพมหานครกลับคือสู่ปกติเกือบทั้งหมดแล้ว
@72 ชม.ยังไม่หยุดภารกิจค้นหา
ในส่วนอาคาร สตง. ถล่ม เขตจตุจักร ผู้ว่าฯกทม.ระบุว่า วันนี้จะครบ 72 ชม. ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาวิกฤติในการค้นหาผู้รอดชีวิต ได้สั่งการให้เดินหน้าต่อ จากการประชุมร่วมกับผู้เชี่ยวชาญนานาชาติที่เข้ามาช่วย เชื่อว่ายังมีโอกาสที่จะพบผู้รอดชีวิต และเรามีการปรับยุทธวิธีตลอด เข้าใจว่าจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาในโลกนี้ เช่น เหตุการณ์ที่ตุรกี ผ่านไปเป็นอาทิตย์ก็ยังมีคนรอด ตนเชื่อว่าเรายังไม่หมดหวัง แม้จะกี่ชีวิตหรือชีวิตเดียวก็มีค่าในการพยายามต่อ โดยการดำเนินการหน้างานจะเน้นการตรวจสอบอาคารที่โซน B และ โซน C ซึ่งเป็นโซนของปล่องลิฟท์และบันไดหนีไฟ เพราะจากการสอบถามผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่จะวิ่งลงบันไดหนีไฟ ในส่วนที่มีผู้ตั้งคำถามถึงการทำงานล่าช้านั้นเนื่องจากการทำงานเป็นเรื่องละเอียดอ่อนจึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยผู้ที่รอดชีวิตและผู้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เป็นสำคัญ ต้องทำงานอย่างระมัดระวังเป็นไปตามมาตรฐานสากล ย้ำว่าขณะนี้เราเร่งดำเนินการ หน้างานอุปกรณ์พร้อม เจ้าหน้าที่พร้อม และขณะนี้ยังไม่ได้มีการเรียกขออุปกรณ์อะไรเพิ่มเติม ทั้งนี้ เนื่องจากมีฝนตกอาจปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ จะมีฝุ่นเศษปูนชิ้นเล็ก ๆ และเป็นผงอยู่เยอะ หากฝนตกหนักอาจเกิดการสะสมและแข็งตัวเป็นก้อนหนักขึ้น แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นปัญหาหลัก
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ความยากและข้อจำกัดในการเข้าพื้นที่ในการกู้ชีพ คือ ขั้นแรกคือการกำหนดจุดของผู้ที่รอดชีวิตต้องใช้เครื่องสแกน ถ้าเป็นบนพื้นราบในช่วง 2 วันแรก สามารถนำสุนัข K9 เข้าไปยืนยันได้ แต่เมื่อเป็นด้านบนซากอาคาร สุนัข K9 จะขึ้นไปยืนยันได้ยาก วิธีการคือต้องนำคนขึ้นกระเช้าเครน 8 คน ปฏิบัติในงานได้ครั้งละ 20 นาที เพราะเหนื่อย อุปสรรคอีกอย่างคือการรื้อโครงสร้างต่าง ๆ
ทั้งนี้ นายชัชชาติย้ำว่าพื้นที่ตึกถล่มห้ามเข้าเด็ดขาดตามกฎหมาย ได้สั่งการให้มีการล้อมพื้นที่โดยตอนนี้มีทางทหารควบคุมการเข้า-ออกอยู่ การนำวัสดุต่าง ๆ ในพื้นที่ไปตรวจสอบเป็นหน้าที่ของทางภาครัฐ ซึ่งต้องลงทะเบียนให้ชัดเจนเพราะเป็นทรัพย์สินของทาง สตง. สำหรับซากปรักหักพังจำนวนมากราว 5 หมื่น ลบ.ม. ก็ได้เตรียมพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้รองรับ
“การช่วยชีวิตถึงแม้ได้หนึ่งชีวิตก็คุ้มกับความพยายามทุกอย่าง ได้ย้ำกับทีมงานว่า ไม่ว่าหนึ่งชีวิต หรือสิบชีวิต ถ้าช่วยได้ก็คุ้มค่ากับทุกนาที คุ้มค่ากับความพยายามของทุกคน ขอให้เดินหน้าทำให้เต็มที่ ทีมงานทุกคนก็มีขวัญและกำลังใจในการทำงาน” นายชัชชาติกล่าวในช่วงท้าย
ขณะที่ รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ขณะตอนนี้ครบเวลา 72 ชม. หลังเกิดเหตุการณ์อาคารถล่ม ซึ่งหลักการทางการแพทย์เป็น 72 ชม. แรกที่ผู้ที่ติดอยู่ในซากตึกมีโอกาสรอดชีวิต จึงต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง เพื่อรักษาชีวิตผู้ที่ติดอยู่ในซากตึก และหากเลย 72 ชม. ผู้ติดอยู่ในซากตึกจะอ่อนแอลง จึงต้องเร่งการทำงานขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนการให้การช่วยเหลือ โดยเจ้าหน้าที่ของ สตง. ได้นำแบบแปลนมาใช้ประกอบการวิเคราะห์โครงสร้างอาคารโดยละเอียด เช่น การตั้งข้อสังเกตในการเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่และประเมินว่าจะมีกลุ่มคนอยู่บริเวณไหนมากที่สุดเพื่อทำการช่วยเหลือ
รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวว่า มีการตรวจพบสัญญาณชีพอ่อน 1 จุด ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญกำลังเร่งดำเนินการปรึกษาหาวิธีการเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด และอีกไม่นานจะสามารถสื่อสารให้ทุกคนได้ทราบ ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการสักครู่ โดยปกติการตรวจสอบจะเป็นการตรวจทั้งสัญญาณชีพและสัญญาณการเคลื่อนไหว จึงต้องขอความร่วมมือผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียงลดเสียงเพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่และให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในพื้นปฏิบัติการด้านในมีผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ส่วนพื้นที่ด้านนอกโดยรอบ มีผู้อำนวยการเขตจตุจักรเป็นผู้ดูแล จึงขอความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามผู้บัญชาเหตุการณ์เพื่อความสะดวกและเรียบร้อยในการปฏิบัติการ โดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมารับทราบสถานการณ์ทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปในระดับชาติ และการปฏิบัติการลื่นไหลขึ้น