‘ดีเอสไอ’ วางแนวดำเนินคดี ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ หลังมีผู้เสียหายจากญี่ปุ่นพบเห็นการกระทำของผู้ต้องหาในคดี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 20 มีนาคม 2568 สืบเนื่องจากคดีพิเศษที่ 119/2567 กรณีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ส่งสำนวนร้องทุกข์หรือกล่าวโทษ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก กระทำความผิดอาญาอันเป็นคดีพิเศษ พบว่ามีผู้เสียหายซึ่งพักอาศัยอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นได้พบเห็นการกระทำของผู้ต้องหา ถูกชักชวน และหลงเชื่อสมัครเป็นผู้จัดจำหน่ายสินค้าของผู้ต้องหากับพวก โดยพนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร จึงให้แยกสอบสวนโดยมอบหมายให้ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวนเพื่อทำการสอบสวน ซึ่งมอบหมายให้พนักงานอัยการร่วมสอบสวน ต่อมาอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษได้อนุมัติให้สอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 17/2568 โดยมี ร.ต.อ. วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน และอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งมอบหมายให้คณะพนักงานอัยการ สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุดรวม 6 รายนำโดย นายวัชรินทร์ ภาณุรัตน์ รองอธิบดีสำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด เข้าร่วมสอบสวนคดีพิเศษดังกล่าว
ต่อมาวันนี้ (20 มี.ค. 68) เวลา 09.30 น. คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 17/2568 และคณะพนักงานอัยการสอบสวน ได้ประชุมร่วมกันเปิดคดีเพื่อกำหนดแนวทางการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และพยานสำคัญในคดี ในความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 ประมวลกฎหมายอาญา และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ เป็นกรณีที่มีผู้เสียหายอยู่ต่างประเทศ จึงต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535
ทั้งนี้ การดำเนินการสอบสวนคดีพิเศษให้มีความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม เป็นนโยบายหลักของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการสอบสวนคดีพิเศษและให้เป็นที่น่าเชื่อถือ ศรัทธาของสังคม ในการป้องกันปราบปราม สืบสวนสอบสวนคดีในความรับผิดชอบเพื่อให้การบริหารองค์การมีความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป