“...ปทุมมันต้องไม่ใช่ปทุมแบบเก่าแล้ว จังหวัดนี้มีมหาวิทยาลัยเยอะ หมู่บ้านจัดสรรก็เยอะ ถ้าเป็นเมืองนอกในเมืองที่มีมหาวิทยาลัยเยอะขนาดนี้ เขายกให้เป็นเมืองปัญญาชน ทุกอย่างมันต้องเนี๊ยบ แต่ตอนนี้ปทุมธานีมันเป็นเมืองอะไร? อุตสาหกรรมโรงงานก็เยอะ มหาวิทยาลัยก็เยอะ สนามกอล์ฟก็เยอะ โจทย์มันเยอะ แล้วกรุงเทพฯเป็นยังไง ปทุมธานีก็เป็นอย่างนั้น หลายสิ่งหลายอย่างต้องพัฒนาไปพร้อมกัน แต่บอกตรงๆว่าอุปสรรคสำคัญตอนนี้คือนักการเมือง มันต้องปรับมายด์เซ็ท พวกบ้านใหญ่คิดว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านเมืองของมึงเหรอ? มึงจะทุจริตกันแบบนี้เหรอ? ใครจะถมดิน ต่อเติมบ้านอะไรต้องมาวิ่งที่มึงเหรอ? ไอ้แนวคิดแบบนี้มันต้องหมดไปได้แล้ว มันต้องคิดเพื่อประชาชนจริงๆ…”
จากบิ๊กตำรวจที่ได้รับฉายาจากสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2555 ว่า “น.1 พี่ให้มา” สู่เก้าอี้พ่อเมืองปทุมธานี ที่ไม่ได้เป็นแค่สมัยเดียว แต่เป็นมาแล้ว 2 สมัย
แม้ในสมัยที่ 2 จะพลาดท่าแพ้ ‘ชาญ พวงเพ็ชร’ ไปก่อน แต่เพราะสะดุดขาตัวเองจากกรณีจัดเลี้ยงและมหรสพ ทำให้ ‘กกต.-คณะกรรมการการเลือกตั้ง’ แจกใบเหลืองลุงชาญต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกรอบ นำมาสู่ชัยชนะอีกครั้งของ บิ๊กแจ๊ส ด้วยคะแนนเสียง 187,975 เสียง จากผู้มาใช้สิทธิ์ 357,695 คน และเข้าทำงานอย่างเป้นทางการเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา
เกือบ 2 เดือนในฐานะนายกอบจ.ปทุมธานี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สนทนากับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตตำรวจใหญ่ที่ตอนนี้ผันตัวเองมาลงเวทีการเมืองท้องถิ่นอย่างเต็มตัว
@สมัยแรก สู้โควิด ตั้ง 3 กองงานเติมเต็มภาระหน้าที่
นายกอบจ.ปทุมธานี ย้อนถึงการทำงานในช่วงสมัยแรกว่า ตลอด 3 ปี 3 เดือนในสมัยที่แล้ว พบเจอปัญหาเยอะมาก มีทั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เป็นอุปสรรค และไม่มีการนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้เลย และอีกอย่าง ก็มาเจอกับภัยจากโรคโควิด-19 ในปี 2564 ทำให้ปทุมธานีกลายเป็นเมืองร้าง แถมการระบาดก็พุ่งเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจากรุงเทพฯ คนเสียชีวิตก็มีมาก เผาศพกันจนเมรุระเบิด
ดังนั้น ในสมัยแรกจึงต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการบรรเทาปัญหาการแพร่ระบาดให้เร็วที่สุดก่อน ก็โชคดีว่ารู้จักกับเครือข่ายที่ใกล้ชิดกับทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงสามารถใช้การตรวจโรคจากเดิมที่ใช้ก้านเก็บตัวอย่างแหย่เข้าไปในโพรงจมูก (Swab) ซึ่งหลังตรวจแล้วต้องรอผลอีก 24 ชม. กว่าผลจะออก กว่าจะไล่ตามไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อก็ช้าเกินไป จึงใช้ชุดทดสอบโควิด 19 (Antigen Test Kit หรือ Rapid Antigen Test) แทน และยอมซื้อมาใช้ พอตรวจปุ๊บ มันรู้ผลใน 2 นาที รู้ผลแล้ว ก็นำผู้ติดเชื้อไปเฝ้าระวังและกักตัวตามขั้นตอน ป้องกันการแพร่ระบาด แล้วก็เข้าไปฉีดพ่นทำความสะอาดที่อยู่อาศัยของกลุ่มเสี่ยง
นอกจากนั้น ก็ทำการจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาจุฬาภรณ์จำนวน 800,000 โดส ก็ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติมาได้
เมื่อถามว่า ในสมัยแรกที่มาเป็นนายกอบจ. จากการแพร่ระบาดของโควิดและปัญหาคอร์รัปชั่น ทำให้เห็นปัญหาอะไรในจังหวัด พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า ทำให้รู้ว่าความล่าช้ามันเกิดจากระบบราชการ เพราะตอนระบาดไม่มีกองสาธารณสุขใน อบจ. ทำให้เมื่อผ่านสถานการณ์ไปได้ก็ตั้งกองสาธารณสุขขึ้นมาทันที เมื่อตั้งแล้วก็วางนโยบายได้ดีขึ้น ตอนนี้ก็เอาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ทั้ง 24 แห่งมาอยู่สังกัด อบจ.
นอกจากกองสาธารณสุขแล้ว เชื่อหรือไม่ว่าอีกสิ่งที่ปทุมธานีขาดคือ กองสาธารณภัย ถ้าดูในจังหวัด จะพบว่ามีนิคมอุตสาหกรรมอย่างน้อย 2 แห่งคือ สวนอุตสาหกรรมบางกะดีและเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร และยังไม่รวมแถวลาดหลุมแก้ว ที่ก็มีโรงงานตั้งเป็นจำนวนมากอีกแห่งหนึ่ง อีกทั้งตลาดขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง คือ ตลาดไทและตลาดสี่มุมเมือง ที่พูดมานี้ เพราะทั้งโรงงานและตลาดเป็นจุดที่ทำให้มีประชากรแฝงในจังหวัดเยอะ ขณะเดียวกับ จ.ปทุมธานี ก็เป็นเมืองรับน้ำ เวลามีน้ำท่วมไหลบ่ามา ท่วมทุกปี และมีปัญหาน้ำแล้งในอ.หนองเสือด้วย
หลังจากตั้งกองสาธาารณภัยแล้ว ก็เจออีกว่าไม่มีการดูแลด้านกีฬาและท่องเที่ยวในจังหวัดเลย ทำให้เยาวชนในจังหวัดเวลาไปแข่งขันกีฬาอะไรก็สู้เขาไม่ได้ จังหวัดก็ไม่เคยสนับสนุน เด็กก็ไปแข่งให้จังหวัดอื่นหมด ถ้าเป็นแบบนี้มันแย่ อีกทั้งจังหวัดไม่มีทะเล ภูเชา น้ำตก จะเอาอะไรดึงนักท่องเที่ยวก็ต้องชูแม่น้ำเจ้าพระยาสู้ เอาความเป็นมอญ ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งเป็นผู้อยู่อาศัยแรกๆในจังหวัดนี้มาชูให้เป็นจุดขาย ปัญหาต่างๆนำมาสู่การตั้งกองกีฬาและท่องเที่ยว
“สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเหน็ดเหนื่อยในช่วงแรก ในช่วง 3 ปี 3 เดือนจึงเสียเวลาไปกับเรื่องเหล่านี้ แต่ตอนนี้เราพร้อมแล้ว อย่างเรื่องการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏ เคยมีการซื้อรถกระเช้ามา 30-40 ล้านบาท ผมเข้ามาสมัยแรกเกิดเหตุไฟไหม้ที่โรงงานแห่งหนึ่ง ก็ปรึกษาหารือว่ามีรถกระเช้าทำไมไม่เอามาใช้ ปรากฏว่าไม่มีใครใช้รถดังกล่าวเป็น แล้วจะซื้อมาทำไม มันทำให้เห็นปัญหา” นายกอบจ.ปทุมธานีกล่าว
@เปิดแผนรับน้ำ - ปั้นเมืองปลอดภัย
อดีตผบช.น.คนดังกล่าวต่อไปว่า ส่วนปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ก็มีการประสานกับเอกชนในพื้นที่ในการขอใช้เทคโนโลยีดาวเทียม เพื่อช่วยดูพิกัดมวลน้ำในการจับตาดูว่า จะมาถึงปทุมธานีเมื่อไหร่ เมื่อพบวันเวลาที่แน่นอนแล้ว ก็จะพร่องน้ำในคลองทั้งหมดออกไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเตรียมรองรับมวลน้ำใหม่ที่กำลังจะเข้ามา และประสานกรมชลประทานในการพร่องน้ำออกไปทางคลองพระยาบันลือ คลองเจ้าเจ็ด ออกไปทาง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี รวมถึงการผันน้ำไปทางเขื่อนพระราม 6 จ.นครนายก เพื่อเตรียมรองรับมวลน้ำก้อนใหม่
นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีดาวเทียมในการทำรับบรักษาความปลอดภัยในจังหวัด โดยได้ทดลองในพื้นที่นครรังสิตแล้ว ซึ่งมีประสิทธิภาพดีกว่ากล้องวงจรปิด สาเหตุที่ต้องทำเพราะ จ.ปทุมธานี เป็นแหล่งพักของของการขนส่งยาเสพติดก่อนแพร่เข้าไปในกรุงเทพฯ เรายอมให้มันพัก แตายอมให้มันระบาดเข้ากรุงเทพฯไม่ได้ คาดว่าจะครอบคลุมทั้งจังหวัดในเร็วๆนี้ โดยมีการตั้งงบประมาณแล้ว
@ผุดโมโนเรลเชื่อมรังสิต-สวนสัตว์ใหม่คลอง 6 จีบ ‘ไชน่าเรลเวย์-ทุนญี่ปุ่น’ ลงทุน
ผู้สื่อข่ามถามต่อว่า หลังจาก 3 ปี 3 เดือนแรก เสียเวลาไปกับการสะสางของเก่าและตั้งสิ่งใหม่ๆในการพัฒนาเมือง แล้ววาระต่อจากนี้อีก 4 ปี จะทำอะไร นายกอบจ.ปทุมธานีตอบว่า สิ่งที่เป็นเรื่องเร่งด่วนคือ จ.ปทุมธานีกำลังจะมีแลนด์มาร์กใหม่คือ โครงการสวนสัตว์แห่งใหม่ คลองหก กำลังจะเสร็จในปี 2571 โดยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพื้นที่กว่า 300 ไร่ในการพัฒนา โดยแบ่งโซนเป็นทวีปๆ ดังนั้น ต้องเริ่มคิดถึงการจราจรแล้วว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร? เพราะเดิมทีถนนลำลูกกา ถนนรังสิต-นครนายก รถก็ติดมากอยู่แล้ว ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนารถไฟฟ้าโมโนเรลขึ้น
ความคืบหน้าตอนนี้ทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว 2-3 ขั้นตอน รูปแบบโครงการจะเป็นไปในทางรัฐร่วมเอกชน โดยเจ้าภาพจะเป็นอบจ.ปทุมธานีเอง ไม่ใช่รัฐส่วนกลาง ที่ผ่านมาก็ใช้งบประมาณไปแล้ว 126 ล้านบาทในการจ้างที่ปรึกษารวม 4 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล่าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งใกล้เสร็จแล้ว หลังจากนั้นจะนำผลการศึกษาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ จากนั้นก็จะเปิดประมูลโครงการต่อไป ซึ่งจากการรับฟังเสียงเอกชนผู้ลงทุนตอนนี้มีผู้ให้ความสนใจคือ บจ.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จากจีน และอีก 1 บริษัทจากญี่ปุ่นที่จะมาร่วมลงทุน
สำหรับเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดคือ ช่วงสถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดงรังสิต - สวนสัตว์ใหม่คลอง 6 ระยะทาง 16.6 กม. แบ่งออกเป็น 2 ช่วงได้ดังนี้ ช่วงที่ 1 จากสถานีรังสิต ตามแนวทางหลวงหมายเลข 346 จนถึงบริเวณทางยกระดับข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ระยะทาง ประมาณ 1.50 กม. เขตทางประมาณ 50 เมตร เป็นถนน 10 ช่องจราจร และช่วงที่ 2 จากบริเวณถนนวิภาวดีรังสิตไปสิ้นสุดที่สวนสัตว์แห่ง ใหม่ (คลองหก) ระยะทางประมาณ 15.10 กม. ซึ่งเป็นถนน ขนาด 6-8 ช่องจราจรเขตทางประมาณ 35-40 เมตร
“เท่าที่ประสานข้อมูลกัน มั่นใจว่าในปี 2568 น่าจะศึกษาเสร็จ แล้วค่อยไป ครม. ในปี 2569 จากนั้นก็จะเข้าสู่ขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเบื้องต้นรูปแบบสัมปทานจะให้เอกชนก่อสร้างและรับความเสี่ยงไปทั้งหมด โดยต้นทุนการก่อสร้างอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท” นายกอบจ.ปทุมธานีกล่าวอีกตอน
เมื่อถามว่า อะไรทำให้มั่นใจว่าบริษัทจากจีนและญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุน พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า ทั้งสองประเทศเข้ามาสำรวจเส้นทางเบื้องต้นแล้ว และต้องดูว่ามีจุดคุ้มทุนไหม คนใช้เท่าไหร่ ซึ่งจากที่ดูทั้งสองประเทศสนใจมาก และมีคนใช้แน่นอน คูคตก็หนาแน่น ถ.รังสิต-นครนายกก็มีประชากรจำนวนมาก คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารน่าจะอยู่ระดับหมื่นคน/วัน ส่วนค่าโดยสารก็ต้องมาคุยกัน โดยอบจ.ปทุมธานีจะดูแลเอง ไม่เกี่ยวกับกระทรวงคมนาคม และใน 4 ปีนี้จะต้องปักหมุดให้ได้
“เรามั่นใจว่าเราทำได้ ไม่ล้มเหลวเหมือนที่อื่น อบจ.จะมีหน้าที่แค่ศึกษา แต่เอกชนลงทุน และที่สำคัญจะหลีกเลี่ยงการเวนคืน โดยจะใช้พื้นที่เกาะกลางถนนรังสิต - นครนายกในการก่อสร้าง ซึ่งทำ MOU กับ 24 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อย ทั้งการไฟฟ้า การประปา กรมทางหลวง กรมธนารักษ์ มาหมดแล้ว ประสานกันหมดแล้ว และผมต้องการให้เสร็จในปี 2571 เพื่อให้ทันกับการเปิดใช้สวนสัตว์ใหม่” พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าว
@อวดผลงาน ขจัดทุจริต ภาษีเติมเข้างบ 481 ล้านบาท
หลังจากกางแผนโปรเจ็กต์ยักษ์จังหวัดแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาพจำของท้องถิ่นเวลามีโปรเจ็กต์ใหญ่ คือการทุจริตคอร์รัปชั่น จะแก้ปัญหาอย่างไร พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าวว่า ยอมรับว่าภาพของการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญของการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) มีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ซึ่งทีผ่านมาคะแนน ITA ในยุคที่ตนเป็นนายกอบจ.สามารถทำคะแนนได้ 94-98 คะแนน ต่างจากก่อนหน้านี้ที่ได้คะแนนต่ำมาโดยตลอด ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีใคร และจากการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นในยุคของตน ในปีที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งในสมัยที่แล้ว ทำให้มีเงินภาษีของประชาชนเติมเข้างบประมาณเพิ่มอีก 481 ล้านบาท จากงบประมาณที่มี 1,750 ล้านบาท และในปีงบประมาณถัดไป (2569) ต้องตั้งงบบประมาณไว้ที่ 2,000 กว่าล้านบาท เพราะไอ้เงินที่เกินมานี้แหละ
“ป.ป.ช.เขาตั้งหลักนี้ขึ้นมา (คะแนน ITA) ผมคิดว่าไม่มีใครไปวิ่งเต้น ป.ป.ช.ได้” นายกอบจ.ปทุมธานีกล่าว
@การเมืองท้องถิ่นต้องไม่มี ‘บ้านใหญ่’ แต่ต้องมี ‘พรรคพวก’
ช่วงท้าย ผู้สื่อข่าวถามถึงการเมืองท้องถิ่นที่เริ่มกรุ่นกลิ่นความรุนแรง ซึ่งมีบางจังหวัดที่เพิ่งเกิดเหตุยิงกันขึ้น นายกอบจ.เมืองปทุมฯสมัยที่ 2 มองอย่างไร พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ให้ความเห็นว่า การเมืองท้องถิ่น นายกอบจ.ไม่ควรจะต้องขึ้นตรงกับพรรคการเมือง เพราะถ้าขึ้นตรงกับพรรค เวลามีปัญหาเดือดร้อนเป็นเรื่องใหญ่ สมมติเรื่องเกี่ยวกับถนนหนทางต้องติดต่อกระทรวงคมนาคม เกิดรัฐมนตรีเป็นคนละพรรค มันจะช่วยคุณไหมล่ะ? กระทรวงสาธารณสุขเกิดโรคระบาดต้องของบมาเสริม เกิดเป็นคนละพรรค มันจะช่วยไหมล่ะ? ถ้ามีพรรคพวกมันจะไปได้ดีกว่า
เมื่อถามว่าแล้วตัวพล.ต.ท.คำรณวิทย์สังกัดพรรคการเมืองไหน นายกอบจ.ปทุมธานีตอบว่า ไม่มี มีแต่พรรคพวกจริงๆ
“ปทุมมันต้องไม่ใช่ปทุมแบบเก่าแล้ว จังหวัดนี้มีมหาวิทยาลัยเยอะเป็นสิบที่ หมู่บ้านจัดสรรก็เยอะ ถ้าเป็นเมืองนอกในเมืองที่มีมหาวิทยาลัยเยอะขนาดนี้ เขายกให้เป็นเมืองปัญญาชน ทุกอย่างมันต้องเนี๊ยบ แต่ตอนนี้ปทุมธานีมันเป็นเมืองอะไร? อุตสาหกรรมโรงงานก็เยอะ มหาวิทยาลัยก็เยอะ สนามกอล์ฟก็เยอะ โจทย์มันเยอะ แล้วกรุงเทพฯเป็นยังไง ปทุมธานีก็เป็นอย่างนั้น หลายสิ่งหลายอย่างต้องพัฒนาไปพร้อมกัน แต่บอกตรงๆว่าอุปสรรคสำคัญตอนนี้คือนักการเมือง มันต้องปรับมายด์เซ็ท พวกบ้านใหญ่คิดว่าพื้นที่นี้เป็นบ้านเมืองของมึงเหรอ? มึงจะทุจริตกันแบบนี้เหรอ? ใครจะถมดิน ต่อเติมบ้านอะไรต้องมาวิ่งที่มึงเหรอ? ไอ้แนวคิดแบบนี้มันต้องหมดไปได้แล้ว มันต้องคิดเพื่อประชาชนจริงๆ” นายกอบจ.ปทุมธานีทิ้งท้าย
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ (ซ้าย) กับบุตรชาย ร.ต.อ.ดร.ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง นายกเทศมนตรีนครรังสิต
ที่มาภาพ: Facebook พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง