"...ก้าวแรกเมื่อย่างเท้าเข้าสู่เมืองฉงชิ่ง นอกจากกลิ่นหมาล่าที่ลอยมาเข้าจมูกแล้ว จะพบว่าตึกอาคาร เครื่องใช้ บรรยากาศจะมีความทันสมัยโดยเฉพาะบริเวรย่านการค้า และผู้หญิงที่เมืองฉงชิ่งได้ขึ้นชื่อว่า เป็นสาวงามที่สุดในมณฑลเสฉวน มีทั้งความสวยเผ็ดร้อนเปรียบเสมือนกับรสชาติของหม้อไฟหมาล่า..."
หลังจากการลงนามในความตกลงยกเว้นวีซ่าไทย-จีน มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 ซึ่งเป็นมาตรการที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ทำให้คนไทยจำนวนมากให้ความสนใจไปเที่ยว โดย 1 ใน 5 มุดหมายยอดนิยม คือ 'ฉงชิ่ง' มหานครแห่งขุนเขา และต้นกำเนิดหม้อไฟหมาล่าแสนอร่อยจากมณฑลเสฉวน
'ฉงชิ่ง' (Chongqing) หนึ่งในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของจีนและเป็นศูนย์กลางสำคัญในภาคตะวันตกของจีน โดยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมหนักที่สำคัญ เช่น เครื่องจักร ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่มีบทบาทสำคัญ ด้วยเขตปลอดภาษี 3 แห่ง ได้แก่ เหลี่ยงลู่ชู่นทาน ซีหย่ง และเจียงจิน รวมถึงระบบขนส่งที่ครอบคลุมครบวงจร ทั้งทางน้ำผ่านแม่น้ำแยงซีเกียง ทางรถไฟระหว่างประเทศสาย Yuxinou (Chongqing-Xinjiang-Europe) ที่เชื่อมต่อกับยุโรประยะทาง 11,000 กิโลเมตร และทางอากาศผ่านสนามบินนานาชาติเจียงเป่ย
นอกจากนี้ 'ฉงชิ่ง' ยังมีบทบาทสำคัญเป็นจุดสำคัญของระเบียงการค้าทางบก-ทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (ILSTC) หนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติของจีนในการพัฒนาความเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่ง ซึ่งกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 (ปี 2021-2025) อันจะเชื่อมต่อกับโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) โดยเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่เชื่อมโยงการค้าระหว่างจีน ยุโรป และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงเส้นทางเศรษฐกิจแม่น้ำแยงซี และสามารถเชื่อมต่อกับไทยและอาเซียนผ่านท่าเรือชินโจว ท่าเรือฝางเฉิงก่าง และด่านบกผิงเสียงในกว่างซี
ปัจจุบันเส้นทางขนส่งทางรถไฟ จีน-ยุโรป, จีน-ลาว, จีน-เวียดนาม, จีน-เมียนมา และเฉิงตู-ฉงชิ่ง รวมกว่า 10 สาย ได้ช่วยเชื่อมต่อเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศและภายในประเทศ เสริมสร้างยุทธศาสตร์ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” และ การก่อสร้างวงกลมเศรษฐกิจเมืองแฝดเฉิงตู-ฉงชิ่ง จนปัจจุบันเครือข่ายโลจิสติกส์ของฉงชิ่งขยายครอบคลุมประเทศและภูมิภาค 124 แห่ง และท่าด่าน 532 แห่ง หนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ที่ใช้เวลาเพียง 4 วัน ในการขนส่งทุเรียนสดจากไทยมายังฉงชิ่งผ่านรถไฟสินค้าห่วงโซ่ความเย็นที่เปิดให้บริการเมื่อปี 2020 และในปี 2024 นี้ฉงชิ่งก็เพิ่งเปิดบริการรถไฟขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างจีน ลาว ไทย และ มาเลเซีย
ทั้งนี้ ฉงชิ่ง ยังมุ่งพัฒนาเมืองให้เป็นศูนย์กลางกระจายความเจริญของจีนในพื้นที่ตะวันตก-ตอนกลาง โดยมีทางออกสู่ 4 ทิศทางทั้งเหนือตกออกใต้ และมีจุดเชื่อมสำคัญคือ ‘แม่น้ำแยงซี’ ที่ไหลผ่านเมืองฉงชิ่งรวม 18 เขต เป็นระยะทาง 600 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังพัฒนาเส้นทางขนส่งทางรถไฟที่แตกแขนงออกไปรอบด้านมากถึง 8 ทิศทางอีกด้วย
เขตเมืองหลักของเทศบาลนครฉงชิ่งฉงชิ่งประกอบด้วย 9 เขตย่อย
แต่กว่าที่ 'ฉงชิ่ง' จะขึ้นมาเป็นมหานคร เดิมเป็นเมืองที่ขึ้นกับเสฉวนแต่เนื่องจากการขยายตัวของประชากรที่มีจำนวนมากขึ้น ปัจจุบันมีประชากรกว่า 30 ล้านคน และการสภาพภูมิประเทศที่ตั้งเหมาะสม รัฐบาลจึงได้ประกาศให้ฉงชิ่งเป็น 1 ใน 4 มหานครของเมืองจีนเมื่อปี 1997 จึงทำให้ฉงชิ่งมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจขึ้นอย่างรวดเร็ว
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสเยือน มหานครฉงชิ่ง ในโครงการมองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้ ครั้งที่ จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย
ก้าวแรกเมื่อย่างเท้าเข้าสู่เมืองฉงชิ่ง นอกจากกลิ่นหมาล่าที่ลอยมาเข้าจมูกแล้ว จะพบว่าตึกอาคาร เครื่องใช้ บรรยากาศจะมีความทันสมัยโดยเฉพาะบริเวรย่านการค้า และผู้หญิงที่เมืองฉงชิ่งได้ขึ้นชื่อว่า เป็นสาวงามที่สุดในมณฑลเสฉวน มีทั้งความสวยเผ็ดร้อนเปรียบเสมือนกับรสชาติของหม้อไฟหมาล่า
นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้อัศจรรย์ใจ คือ สิ่งก่อสร้างในมหานครแห่งนี้ เนื่องจากภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาล้อมรอบและเนินเขาลาดชัน อีกทั้งยังมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำสองสายสำคัญ
สิ่งก่อสร้างระฟ้า อาคารสูง และถนน ถูกสร้างขึ้นแตกต่างหลายระดับเพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ต่างๆ เข้าด้วยกัน อีกทั้งสะพานยกระดับข้ามแม่น้ำหรือบันไดวนสูงรอบภูเขาก็สามารถพบได้ทั่วไป จนทำให้ ดูคล้ายกับว่ามีเมืองอีกเมืองหนึ่งซ้อนทับอยู่ด้านบน ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ในฉบับเมืองภูเขา ทำให้การสัญจรภายในเมือง จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนคดเคี้ยว จนได้รับฉายาว่า เมืองแฟนตาซี เพราะถนนหนทางส่วนใหญ่มักจะสร้างไว้ติดกับสิ่งก่อสร้าง สะพานลอยสร้างขึ้นมาเหมือนเป็นเขาวงกต แม้ว่าจะใช้ GPS นำทางก็ไม่อาจจะเดินทางได้ถูก
‘รถไฟลอยฟ้าทะลุตึก’ เป็นเส้นทางรถไฟฟ้าสาย 2 ของฉงชิ่งที่วิ่งผ่านสถานีหลีจื่อป้า (Liziba Station) ซึ่งถูกสร้างขึ้นในตัวอาคารที่พักอาศัยของประชาชนสูง 19 ชั้น ที่มีผู้คนพักอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ก่อนวิ่งทะลุผ่านอาคารนั้นไปยังพื้นที่สูงชันและซับซ้อนในเขตอื่นๆ โดยสถานีสถานีหลีจื่อป้านี้มีพื้นที่ตั้งแต่ชั้นที่ 6-8 ของอาคาร โดยขบวนรถไฟสายนี้มีการสร้างและออกแบบให้สามารถลดเสียงการทำงานได้ต่ำเฉลี่ยประมาณ 75.8 เดซิเบล และไม่สร้างแรงสั่นสะเทือน เพื่อไม่ให้รบกวนผู้พักอาศัย ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของการออกแบบและวางผังเมืองโดยใช้ความสร้างสรรค์ในการสร้างระบบขนส่งสาธารณะและโครงการที่พักอาศัยให้อยู่ร่วมกันภายในเมือง และเป็นอีกหนึ่งจุดแลนด์มาร์กสำคัญของมหานครแห่งนี้
นอกเหนือจากเทคโนโลยีในด้านสถาปัตยกรรมแล้ว ‘ฉงชิ่ง’ ยังมีมรดกโลกทางวัฒนธรรม 'ต้าจู๋สือเค่อ' หรือ 'ผาหินแกะสลักต้าจู๋' ที่แปลว่าเมืองเท้าใหญ่ ว่ากันว่าถ้ามองจากจุดที่มีการแกะสลักลงไป จะเหมือนเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรอยเท้าของพระพุทธเจ้าที่ประทับลงมา
ผาหินแกะสลักในต้าจู๋ มีจุดไฮไลท์ที่ยิ่งใหญ่อลังการและสวยที่สุดอยู่ที่ 'เป๋าติ่ง' ผาแกะสลักแห่งนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์ซ่งไปจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง โดยผู้สร้างคนแรกเป็นพระชื่อ 'จ้าวจื้อเฟิง' ในรัชสมัยราชวงศ์ซ่งของจักรพรรดิ 'ฉุนซี' ผู้บุกเบิกในการขุดเจาะแกะสลักอย่างยากลำบากกว่า 70 กว่าปี
หินแกะสลักเป่าติ่งซานที่ต้าจู๋ ประกอบด้วยกลุ่มรูปสลักพระพุทธรูป 13 จุด ซึ่งมีรูปสลักอยู่กว่า 10,000 ชิ้น มีโค้งพระพุทธรูปใหญ่ ต้าฝอวัน เป็นจุดศูนย์กลางตามแนวยาวของหน้าผากว่า 500 เมตร สูง 15-30 เมตร
ผาหินแกะสลักของที่นี่จะแกะตามรูปลักษณะของตัวภูเขาที่ทอดยาว ด้วยความพิถีพิถันและประณีต ซึ่งจะบันทึกเรื่องราวในโลกของปุตุชน กำแพงด้านเหนือ ตะวันออก และใต้ มีจุดที่แกะสลักบันทึกเรื่องราวในพระไตรปิฏกเอาไว้ บางจุดก็เป็นภาพหินแกะสลักต่อเนื่อง ที่มีเนื้อหาเป็นการบอกเล่าและเตือนสติ เช่น เรื่องนรก-สวรรค์ เหล่าเทพผู้ปกปักษ์รักษา การเวียนว่ายตายเกิด พระโพธิสัตว์กวนอิมพันมือ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเสน่ห์ของมหานครฉงชิ่ง เมืองภูเขาที่ได้รับการเนรมิตให้เป็นเมืองการค้าการลงทุนที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน ถ้าหากมีโอกาส ก็ขอเชิญชวนให้ไปสัมผัสและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มหานครฉงชิ่ง เมืองแห่งภูเขา ต้นกำเนิดหม้อไฟหมาล่าที่เผ็ดร้อนสักครั้งในชีวิต