"...เป็นความหวังของประชาชนเกือบทั้งประเทศ ที่จะขอบารมีผู้ทรงอำนาจสูงสุดขององค์กรฝ่ายตุลาการเป็นที่พึ่ง เพื่อรักษาหลักการพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 อำนาจ เพื่อถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน เพื่อให้ทั้งสามอำนาจอธิปไตยยังคงเป็นหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป..."
การบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำในเหตุที่เกี่ยวกับสุขภาพหรือความเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจในการอนุญาตขององค์กรฝ่ายบริหาร อีกฉบับหนึ่งบัญญัติให้ศาลซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายตุลาการเป็นผู้ออกคำสั่ง
อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารมาจาก กฎกระทรวงการส่งผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่เพิ่งออกมาใช้บังคับเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้บัญชาการเรือนจำ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้มีอำนาจอนุญาต มีทั้งกรณีผู้บัญชาการเรือนจำอนุญาตได้ด้วยตนเองโดยลำพัง หรือต้องขอความเห็นชอบจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และบางกรณีต้องรายงานต่อปลัดกระทรวงยุติธรรม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อทราบ ขึ้นกับระยะเวลาการรักษาตัวอยู่นอกเรือนจำของผู้ต้องขัง ส่วนอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการหรืออำนาจของศาลในการออกคำสั่งมาจาก ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 246 ที่ใช้บังคับกันมาหลายสิบปีและแก้ไขเพิ่มเติมล่าสุดเมื่อปี 2550 บัญญัติว่า ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ซึ่งเหตุหนึ่งเมื่อเกรงว่าผู้ต้องขังที่เจ็บป่วยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
การที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ส่งตัวผู้ต้องขังที่เป็นบุคคลสำคัญไปรักษาตัวที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ต้องจำคุก โดยไม่ต้องถูกจำคุกและร่วมกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤตินิสัยให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยใช้อำนาจอนุญาตตามกฎกระทรวงเพียงฉบับเดียว แต่ไม่บังคับใช้ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 เพื่อร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกเสียก่อนที่จะส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ซึ่งนอกจากไม่ร้องขอแล้วยังไม่เคยรายงานไปยังศาลอีกด้วย โดยอ้างว่าเป็นอำนาจในการบริหารงานด้านราชทัณฑ์ซึ่งเป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารแต่เพียงองค์กรเดียว ไม่เกี่ยวกับองค์กรฝ่ายตุลาการซึ่งพ้นอำนาจไปแล้วตั้งแต่มีคำพิพากษาให้จำคุก
แนวคิดเช่นนี้จะเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 อำนาจ เพื่อถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน หรือจะเป็นการทำให้การบังคับโทษตามหมายจำคุกเสื่อมประสิทธิภาพ และไม่บรรลุวัตถุประสงค์ตามคำพิพากษาขององค์กรฝ่ายตุลาการ อาจพิจารณาได้ดังนี้
1. ที่มาของการบังคับใช้กฎหมายที่อาจหลีกเลี่ยงหรือล้มล้างอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ
กฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคหนึ่ง และมาตรา 55 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 โดยมาตรา 55 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติให้หลักเกณฑ์และวิธีการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ระยะเวลาการรักษาตัว รวมทั้งผู้มีอำนาจอนุญาต ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงโดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการราชทัณฑ์
แต่เนื่องจาก พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ ไม่ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจโดยเด็ดขาดของผู้มีอำนาจอนุญาต และไม่ได้บัญญัติให้ยกเว้นการบังคับใช้ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 อันเป็นอำนาจของศาล อีกทั้ง พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ มาตรา 6 บัญญัติให้การออกกฎกระทรวงเพื่อให้กรมราชทัณฑ์สามารถดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีการอื่น นอกจากการควบคุม ขัง หรือการจำคุกไว้ในเรือนจำ ต้องไม่ขัดต่อ ป.วิ-อาญา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง กฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ จึงไม่อาจกำหนดผู้มีอำนาจเด็ดขาดในการอนุญาตที่แตกต่างไปจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระดับพระราชบัญญัติอื่นได้ กล่าวคือ กฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 แม้ได้รับอำนาจจาก พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ แต่เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าการอนุญาตตามกฎกระทรวงเป็นการอนุญาตโดยเด็ดขาด กฎกระทรวงที่ออกโดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ.ดังกล่าว จึงไม่อาจกำหนดผู้มีอำนาจอนุญาตที่ถือเป็นผู้มีอำนาจเด็ดขาดแทนศาลในการสั่งให้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้ เนื่องจากยังคงเป็นอำนาจของศาลตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 แต่หากได้มีการกำหนดผู้มีอำนาจอนุญาตไว้ในกฎกระทรวงก็เป็นแต่เพียงผู้มีอำนาจอนุญาตเบื้องต้นภายในหน่วยงานทางด้านราชทัณฑ์เท่านั้น ผู้บังคับใช้กฎหมายยังไม่อาจส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้ หากยังไม่ได้ร้องขอต่อศาลและศาลได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุก ตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 เสียก่อน จึงทำให้การบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้เพียงฉบับเดียวไม่ชอบด้วยวิธีการบังคับใช้กฎหมายที่จะต้องครบถ้วนทุกฉบับ และยังเป็นการขัดต่อมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์อีกด้วย การบังคับใช้กฎกระทรวงฉบับนี้หากไม่นำเอา ป.วิ-อาญา มาตรา 246 มาบังคับใช้ร่วมด้วย เป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาแฝงเร้นที่อยู่เบื้องหลัง คือการเปลี่ยนแปลงอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ ให้มาเป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายบริหาร โดยไม่ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติที่จะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา โดยมุ่งหมายที่จะเอื้อประโยชน์แก่ผู้ต้องขังรายใดรายหนึ่ง
2. เหตุที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายสองฉบับต่อเนื่องไปพร้อมกัน คือกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 และ ป.วิ-อาญา มาตรา 246
1) กฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 มีสาระสำคัญในเรื่องการส่งตัวผู้ต้องขังที่ป่วย มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือเป็นโรคติดต่อ ไปรับการตรวจรักษาในสถานพยาบาลนอกเรือนจำ เนื่องจากถ้ายังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้น โดยมีทั้งกรณีไปและกลับในวันเดียวกัน และกรณีสถานพยาบาลนอกเรือนจำรับตัวไว้รักษา
ขณะที่ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติว่า ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อน จนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีเมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
2) เหตที่จะส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำตามกฎกระทรวง กับเหตุที่ศาลจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกเพื่อให้ผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำได้ ตาม ป.วิ-อาญา เป็นเหตุในทำนองเดียวกันคือปัญหาด้านสุขภาพของผู้ต้องขัง แต่ระดับความรุนแรงของปัญหาสุขภาพทางกายมีความแตกต่างกัน โดย ป.วิ-อาญา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติให้ปัญหาสุขภาพทางกายมีระดับความรุนแรงถึงขั้นเกรงว่าผู้ต้องขังจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก ส่วนในกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 กำหนดปัญหาสุขภาพทางกายไว้ในระดับต่ำ เพียงถ้ายังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำจะไม่ทุเลาดีขึ้นเท่านั้น ไม่ถึงระดับที่จะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ซึ่งอาจตีความได้ว่าเมื่อผู้ต้องขังมีอาการป่วยไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดและระดับความรุนแรงไม่ว่ามากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ถ้ารักษาอยู่ในเรือนจำแล้วอาการป่วยนั้นไม่ทุเลาดีขึ้นก็สามารถส่งตัวออกไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้ ซึ่งกฎกระทรวงที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าจะต้องออกมาเพื่อบังคับใช้ให้สอดคล้องหรือไม่ขัดหรือแย้งต่อ ป.วิ-อาญาที่มีลำดับศักดิ์สูงกว่า หรือจะต้องออกมาโดยไม่ทำให้ตีความได้ว่าเมื่อได้ปฏิบัติตามกฎกระทรวงแล้ว ไม่จำต้องปฏิบัติตาม ป.วิ-อาญาอีก เมื่อ ป.วิ-อาญา มาตรา 246 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ ดังนั้นในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ นอกจากผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงแล้ว ยังจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ-อาญา มาตราดังกล่าวด้วย
กล่าวคือเมื่อมีการอนุญาตจากผู้มีอำนาจตามกฎกระทรวงแล้ว ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ-อาญา มาตรา 246 วรรคหนึ่ง จะต้องร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำสั่งด้วย ซึ่งระดับความรุนแรงของปัญหาสุขภาพทางกายของจำเลยหรือผู้ต้องขังที่จะสามารถร้องขอต่อศาลได้ จะต้องมีหลักฐานชัดเจนที่แสดงว่าถึงขั้นจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต ศาลจึงจะมีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกได้ เมื่อศาลมีคำสั่งแล้วเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครจึงจะสามารถส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำได้ ซึ่ง ป.วิ-อาญา มีเจตนารมณ์ให้มีการตรวจสอบโดยศาลก่อนที่หน่วยงานทางด้านราชทัณฑ์จะส่งตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำ เพื่อมิให้ขัดต่อหมายจำคุกที่ออกโดยศาล
3) การออกกฎกระทรวงฉบับนี้เพื่อให้ตีความได้ว่า การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ สามารถกระทำได้โดยเพียงแต่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับนี้เท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องร้องขอต่อศาลตาม ป.วิ-อาญา มาตรา 246 อีก ทำให้เห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นผู้ออกกฎกระทรวงได้ใช้อำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารออกกฎกระทรวง เพื่อนำเอาอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการมาเป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายบริหารที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทั้งที่เห็นได้ว่าหากปฏิบัติตามกฎกระทรวงเพียงอย่างเดียว จะขัดหรือแย้งต่อกฎหมายในระดับประมวลกฎหมายก็ตาม อันทำให้องค์กรฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยไม่ต้องได้รับการตรวจสอบหรือถ่วงดุลจากองค์กรฝ่ายตุลาการ แม้อำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการไม่ได้ถูกยกเลิกและยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ก็ตาม
การบังคับใช้เพียงกฎกระทรวง การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. 2563 เพื่อส่งตัวนายทักษิณไปพักอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ถูกคุมขังและทำกิจกรรมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครแม้แต่วันเดียว ทำให้สูญเสียหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย อันเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 1 บททั่วไป มาตรา 3 เป็นการล้มล้างอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ ที่มีศาลเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีโดยอิสระในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจเป็นการก้าวล่วงพระราชอำนาจ ไม่เคารพสักการะ และละเมิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ มาตรา 6 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย มาตรา 27 ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีรายงานผลการตรวจสอบแล้ว และเป็นการไม่ทำหน้าที่ของรัฐในการดูแลให้มีการบังคับใช้กฎหมายให้ครบทุกฉบับอย่างเคร่งครัด ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 53 การกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว เป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่โดยหลีกเลี่ยงอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลากรโดยใช้กฎกระทรวงดังกล่าวเป็นข้ออ้าง ซึ่งหากมีการถ่วงดุลจากองค์กรฝ่ายตุลาการ จะไม่สามารถกระทำการเช่นนี้ได้ หรือกระทำได้ยากขึ้น
การออกกฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการเตรียมการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องขังบางราย โดยมีเจตนาให้นำมาบังคับใช้แทนป.วิ-อาญา มาตรา 246 เพื่อหลีกเลี่ยงอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการ เป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เพื่อให้องค์กรฝ่ายบริหารง่ายต่อการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ต้องขังบางราย ให้สามารถนำตัวผู้ต้องขังออกไปนอกเรือนจำได้โดยง่ายด้วยเหตุเพียงเล็กน้อยที่มีระดับความรุนแรงต่ำกว่าเหตุที่บัญญัติไว้ในป.วิ-อาญา มาตรา 246 ซึ่งการกระทำที่มีเป้าหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้ต้องขังบางรายเช่นนี้ ย่อมจะมาจากการถูกครอบงำด้วยแรงจูงใจพิเศษในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากผู้ได้รับประโยชน์จากการกระทำ ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงจะยินยอมกระทำในเรื่องที่มีความเสี่ยงต่อการถูกลงโทษตามกฎหมาย และจะกระทบถึงหน้าที่การงานของตนในอนาคต
@ ทักษิณ ชินวัตร
การส่งตัวนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำที่ห้องพิเศษ ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของประชาชนในทุกสาขาอาชีพอย่างต่อเนื่องตลอดมา นอกจากการกล่าวถึงเรื่องการหลีกเลี่ยงหรือล้มล้างอำนาจอธิปไตยขององค์กรฝ่ายตุลาการ ที่ปฏิบัติหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์แล้ว ประชาชนในแวดวงต่าง ๆ ยังได้แสดงความเห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม การกระทำตนเป็นผู้อยู่เหนือกฎหมายของบุคคลบางคน การละเลยของรัฐบาลต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ และการเสื่อมศรัทธาของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนต่าง ๆ ต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา อันกระทบถึงความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และทำลายหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประมุขฝ่ายตุลาการคือประธานศาลฎีกา ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารองค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการ (ไม่ใช่ในฐานะผู้พิพากษาที่พิจารณาพิพากษาคดี) จึงควรเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาอันเป็นประเด็นสาธารณะที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศเคลือบแคลงสงสัยต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ถึงแม้การบังคับใช้กฎหมายจะเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรผู้ทรงอำนาจอธิปไตยฝ่ายบริหาร แต่ในกรณีนี้การบังคับใช้กฎหมายในการส่งตัวผู้ต้องขังตามหมายจำคุกของศาลออกไปนอกเรือนจำ เป็นจุดเชื่อมต่อของการปฏิบัติหน้าที่ระหว่างองค์กรฝ่ายตุลาการกับองค์กรฝ่ายบริหาร และ ป.วิ-อาญา ยังคงกำหนดให้เป็นอำนาจขององค์กรฝ่ายตุลาการที่จะพิจารณาออกคำสั่ง นอกจากนี้การใช้ดุลพินิจขององค์กรฝ่ายบริหารเช่นนี้ยังส่งผลทำให้การบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลเสื่อมประสิทธิภาพและไม่บรรลุผลในการใช้อำนาจอธิปไตยฝ่ายตุลาการที่ปฏิบัติหน้าที่ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ จึงควรให้มีการไต่ส่วนในเรื่องนี้ ซึ่งผลการไต่สวนขององค์กรฝ่ายตุลาการจะสามารถใช้เป็นข้ออ้างอิงในการปฏิบัติหน้าที่ให้กับข้าราชการประจำที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในองค์กรฝ่ายบริหารเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ถูกต้องต่อไป โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง
เป็นความหวังของประชาชนเกือบทั้งประเทศ ที่จะขอบารมีผู้ทรงอำนาจสูงสุดขององค์กรฝ่ายตุลาการเป็นที่พึ่ง เพื่อรักษาหลักการพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญที่แบ่งอำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 อำนาจ เพื่อถ่วงดุลและไม่ก้าวล่วงกัน เพื่อให้ทั้งสามอำนาจอธิปไตยยังคงเป็นหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขสืบไป
แต่จะหวังพึ่งบารมีของผู้มีอำนาจสูงสุดขององค์กรฝ่ายบริหารคงไม่ได้ เพราะผลประโยชน์ทับซ้อนกันอยู่ในเวลานี้