อัยการเห็นควรสั่งฟ้อง 18 บอส 'ดิไอคอน' หลัง DSI ส่งสำนวน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2567 ณ ห้องรับรอง ชั้น 2 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ถนนแจ้งวัฒนะ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดี กรมสอบสวนคดีพิเศษ พันตำรวจโท อนุรักษ์ โรจน์นิรันดร์กิจ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมด้วย พันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ/โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ร่วมกันแถลงข่าว ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับสำนวนการสอบสวน กรณีกล่าวหา บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชนและความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ จากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) มาดำเนินการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 119/2567 ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2567 กรมสอบสวนคดีพิเศษบูรณาการการทำงานร่วมกับ 7 หน่วยงาน ซึ่งในคดีนี้มีพยานเอกสารถึง 348,209 แผ่น พยานบุคคล 8,071 ปาก มีผู้เสียหายจำนวน 7,875 ราย มูลค่าความเสียหาย จำนวน 1,644 ล้านบาท ปรากฏตัวผู้ต้องหา จำนวน 19 ราย ซึ่งเป็นนิติบุคคลจำนวน 1 ราย คือ บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด และผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา จำนวน 18 ราย ได้แก่ นายนายวรัตน์พล หรือบอสพอล กับพวก ได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินในคดีฟอกเงิน จำนวน 747,640,000 ล้านบาท อาทิ อาคารและที่ดิน
หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในคดีดังกล่าวได้มีการประชุมมีมติเห็นควรเสนอให้พนักงานอัยการสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 19 ราย ในความผิดฐาน (1) “ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน (แชร์ลูกโซ่)” อันเป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (2) “ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น” (3) “ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต” อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.2545 (4) "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน” และ (5) “ร่วมกันโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวงนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน”อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550
โดยในวันนี้อธิบดีกรมสอบสวนคีดพิเศษได้ลงนามในหนังสือส่งสำนวนการสอบสวนคดีดิไอคอนพร้อมพยานหลักฐานทั้งหมด โดยมอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอก วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจตรี วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยารกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และคณะพนักงานสอบสวน เป็นผู้นำสำนวนการสอบสวนฯ จำนวน 161 ลัง รวม จำนวน 348,209 แผ่นไปส่งมอบที่สำนักงานคดีพิเศษเพื่อให้พนักงานอัยการมีความเห็นทางคดีต่อไปรวมระยะเวลาในการสอบสวนคดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการแล้วเสร็จในระยะเวลา เพียง 54 วัน
พันตำรวจตรี ยุทธนาฯ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษยังกล่าวว่า “ขอขอบคุณ สำนักงานอัยการสูงสุดที่ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการมาเป็นที่ปรึกษาในคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่รับเรื่องและประสานความร่วมมือด้วยดีตลอดมา กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สถาบัน นิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งสนับสนุนในการเก็บและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์เพื่อนำไปเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหาย ตลอดถึงขอขอบคุณ คณะที่ปรึกษาคดีพิเศษทุกท่าน และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษทุกท่านที่ได้ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานจนสามารถทำให้คดีนี้ส่งพนักงานอัยการเพื่อให้มีความเห็นทางคดีตามกรอบระยะเวลาของกฎหมายซึ่งเป็นการอำนวยความยุติธรรมให้เกิดแก่ผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพ และในส่วนของการดำเนินการในคดีฟอกเงินของกรณีบริษัท ดิไอคอนฯ ยังคงมีการดำเนินการต่อไป”
ทั้งนี้ การบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน (Strong Collaboration) เป็นนโยบายหลักประการสำคัญของ พันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรมเพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในการป้องกันปราบปรามสืบสวนสอบสวนคดีในความรับผิดชอบเพื่อให้การบริหารองค์การมีความยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลต่อไป
นอกจากนี้ในวันเดียวกัน นายศักดิ์เกษม นิไทรโยค ผู้ตรวจการอัยการและโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สำนักงานอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกรมสอบสวนคดีพิเศษ คดีระหว่าง นายณัฏฐ์ ธนาพิพัฒน์ดลภัค กับพวก ผู้กล่าวหา บริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด โดย
นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล ผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกรวม 19 คน ข้อหา "ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน, ร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็น
การฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรง ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจโดยตกลงว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น, ร่วมกันประกอบธุรกิจขายตรงโดยไม่ได้รับอนุญาต" เหตุเกิดระหว่างวันที่ 12 สิงหาคม 2563 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2567 ในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และหลายท้องที่ทั่วราชอาณาจักรต่อเนื่องกัน คิดเป็นค่าเสียหายรวมประมาณ 649,912,290 บาท
ผู้ต้องหาที่ 2 ถึง ที่ 19 เป็นบุคคลธรรมดา ถูกควบคุมตัวและฝากขังไว้ตามคำสั่งศาลอาญา โดยจะครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 7 ผู้ต้องหาที่ 2 ในวันที่ 8 มกราคม 2568 ส่วนผู้ต้องหาที่ 3 ถึงที่ 19 จะครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 7 ในวันที่ 9 มกราคม 2568 โดยพนักงานสอบสวนคดีพิเศษมีความเห็นควรสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 19 คน ตามข้อกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น
คดีนี้เป็นคดีที่ประชาชนและสื่อมวลชนให้ความสนใจติดตามความคืบหน้า เมื่อพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้องพิจารณาสำนวนแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงความคืบหน้าให้ทราบในโอกาสต่อไป