สธ.แนะมาตรการเฝ้าระวัง โนโรไวรัส พบ นร.-ครู ในงานกีฬาสี รร.ติดเชื้อ 1,436 ราย ชี้ต้องตรวจประเมินคุณภาพน้ำดื่ม-ใช้ หวั่นระบาดช่วงเทศกาล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 นพ.ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีเกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วงของนักเรียน และครูบุคลากร 2 โรงเรียน ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง พบผู้ป่วยรวม 1,436 ราย เป็นนักเรียน 1,418 ราย ครูและบุคลากร 18 ราย อันเกิดจากการติดเชื้อโนโรไวรัสที่ปนเปื้อนมากับ “น้ำและน้ำแข็ง” ที่บริโภคในช่วงสัปดาห์ของการจัดกิจกรรมกีฬาสี โดยโนโรไวรัส (Norovirus) มักจะแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กที่มีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว พบบ่อยตามโรงเรียน ภัตตาคาร โรงพยาบาล สถานที่เลี้ยงเด็ก รวมไปถึงรถหรือเรือท่องเที่ยว
โนไวรัสเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน สามารถติดต่อได้ง่าย จากการสัมผัสทางอาหาร น้ำดื่ม อากาศ การสัมผัส และการหายใจ เช่น การสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัสโดยตรง การสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อโนโรไวรัส รวมถึงสภาพแวดล้อมไม่ถูกหลักสุขาภิบาล โดยโนโรไวรัสมีระยะฟักตัวสั้น 12-48 ชั่วโมงหลังการรับเชื้อ อาการที่พบส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียนรุนแรง ปวดมวนท้อง ท้องเสีย มีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการรุนแรงในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ บางรายอาจทำให้มีอาการขาดน้ำ จึงควรดื่มน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนการเสียน้ำและเกลือแร่
“ทั้งนี้ ประชาชนควรมีมาตรการในการป้องกันตนเองจากโรโนไวรัสตามคำแนะนำ ดังนี้ 1) รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ใช้ช้อนกลาง 2) ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด 3) ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ก่อนและหลังทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และ 4) หลีกเลี่ยงดื่มน้ำที่ไม่สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำที่ไม่สะอาด ส่วนหน่วยงานและสถานประกอบกิจการควรมีมาตรการควบคุมป้องกัน ดังนี้ 1) การเติมคลอรีนในถังพักน้ำดื่มและน้ำใช้ 2) การตรวจประเมินคุณภาพน้ำใช้ น้ำดื่มอย่างต่อเนื่อง 3) จัดให้มีจุดล้างมือพร้อมสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ที่เพียงพอ และ 4) การให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพและส่งเสริมพฤติกรรมอนามัยส่วนบุคคลที่ดีสำหรับการป้องกันโรค สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สามารถตรวจแนะนำและออกคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการปรับปรุงแก้ไขด้านสุขลักษณะของสถานประกอบกิจการการสุขาภิบาลและสุขวิทยาส่วนบุคคลของคนงาน” นพ.ธิติ กล่าว
สำหรับ โนโรไวรัส (Norovirus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อของระบบทางเดินอาหาร ที่พบได้บ่อยในเด็ก เชื้อนี้มีความสามารถที่จะแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว แม้ได้รับเชื้อในปริมาณเพียงเล็กน้อย เนื่องจากสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน และทนต่อความร้อนและน้ำยาฆ่าเชื้อต่าง ๆได้ดี หลังจากได้รับเชื้อ มักจะมีอาการภายใน 12- 48 ชั่วโมง อาการแสดงของโรคที่พบได้บ่อย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง อาจมีไข้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีภาวะขาดน้ำที่อาจเกิดในผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1-3 วัน
ทางด้าน นพ.ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รองอธิบดีกรมการเเพทย์ เปิดเผย สถานการณ์ในสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี พบมีจำนวนมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยนอกมีจำนวนไม่มากนักที่มีอาการรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
อย่างไรก็ตามการรายงานอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อมีราคาค่อนข้างสูง จึงไม่ได้ส่งตรวจในผู้ป่วยทุกราย ยกเว้นในรายที่ต้องนอนโรงพยาบาล หรือมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจาย เพื่อใช้ในการแยกโรคเป็นหลัก
นพ.อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มียาหรือการรักษาเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการดูแลตามอาการที่เกิดขึ้น และส่วนใหญ่อาการต่าง ๆ จะดีขึ้นได้ในเวลา 3-4 วัน ในรายที่อาการไม่รุนแรง ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ ในกรณีที่อาเจียนและท้องเสียให้ทานอาหารอ่อนๆ ร่วมกับให้ยาแก้อาเจียน ยาแก้ปวดท้อง ตามอาการ ในรายที่มีภาวะขาดสารน้ำค่อนข้างมาก หรือมีอาเจียน ปวดท้อง และถ่ายตลอด อาจเกิดอันตรายจากการขาดน้ำ ส่งผลให้เกิดภาวะทำให้ช็อค ความดันโลหิตต่ำ พิจารณาให้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือทางหลอดเลือด และติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิด
ผู้ป่วยที่จะมีโอกาสเกิดอันตรายจากการขาดน้ำได้แก่ ผู้ป่วยเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว วิธีการป้องกันในสถานศึกษาหรือในศูนย์เด็กเล็กแนะนำให้หมั่นรักษาสุขอนามัยด้วยการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ ทำความสะอาดพื้นหรือสิ่งแวดล้อม หรือจุดเสี่ยงที่คาดไม่ถึง ที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวัน - ปุ่มลิฟต์ ลูกบิดประตู แท็บเล็ตหรือโทรศัพท์ที่ใช้ร่วมกัน พื้นผิวเหล่านี้สามารถเป็นแหล่งสะสมเชื้อได้เป็นเวลาหลายวัน โดยโซเดียมไฮโปคลอไรด์ ไม่ควรใช้ 70% แอลกอฮอล์ เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสไม่มีเปลือกหุ้ม และมีคุณสมบัติที่ทนทานต่อการฆ่าเชื้อด้วยแอลกอฮอล์ การล้างมือบ่อยๆ จึงสำคัญมาก กรณีที่มีเด็กป่วย แนะนำให้แยกตัวเพื่อรักษาอาการที่บ้านเป็นเวลา 48 ชั่วโมงหลังจากอาการดีขึ้นเป็นปกติ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป