"...พิเคราะห์พฤติการณ์คดีประกอบรายงานการสืบเสาะแล้ว จำเลยรับราชการมาโดยตลอด ได้ทำคุณงามความตีต่อบ้านเมืองมาหลายประการ ไม่เคยมีคดีถูกกล่าวหาในทางเสื่อมเสียใด ๆ สิ่งที่จำเลยได้รับไว้ก็เป็นการรับไว้ในโอกาสที่ทุกคนมาแสดงความยินดี มิใช่การมุ่งร้ายในทางทรัพย์สินทำนองแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เมื่อทราบเรื่องจำเลยก็เร่งดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชาวินิจฉัยสั่งการโดยพลันกับทั้งได้ส่งคืนนาฬิกาตังกล่าวให้กับผู้ร้องเรียนได้รับไปแล้ว ..อีกทั้งผู้ร้องเรียนกล่าวหาจำเลยเป็นผู้ให้ทรัพย์สินนี้แก่จำเลยเสียเอง..."
นายทวีป บุตรโพธิ์ อดีตรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีรับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท พร้อมส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามขั้นตอนทางกฎหมาย
ล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 เตือน และปรับ 10,000 บาท แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุก 1 ปี หลังเจ้าตัวให้การรับสารภาพ
ข้อเท็จจริงคดีนี้ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบยืนยันข้อมูลพบว่า ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2566 มีมติชี้มูล นายทวีป บุตรโพธิ์ อดีตรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาตไทย รับนาฬิกา TAG HEUER รุ่น WAY 2113, BA 0910 SERIED RZE9871 จากผู้กล่าวหา ซึ่งเป็นบุคคลอื่นมิใช่ญาติมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสเกินสามพันบาท
หลังจากไต่สวนข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันที่ นายทวีป บุตรโพธิ์ เข้ารับตำแหน่งรองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นายทวีป ได้รับนาฬิกายี่ห้อ TAG HEUER รุ่น WAY 2113, BA0910 SERIED RZE9871 ราคาประมาณ 85,500 บาท จากบุคคลที่มาแสดงความยินดีในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ซึ่งเป็นการรับทรัพย์สินจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท และหลังจากรับนาฬิกาดังกล่าวมาแล้ว ได้นำกลับไปเก็บไว้ที่บ้านของตนเอง โดยมิได้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงและเหตุผลความจำเป็นในการรับทรัพย์สินไว้เป็นสิทธิของตนต่อผู้บังคับบัญชา
จนกระทั่งมีการร้องเรียนกรณีดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. นายทวีป บุตรโพธิ์ จึงได้มีหนังสือลงวันที่ 25 กันยายน 2562 รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินต่อผู้บังคับบัญชา และส่งมอบนาฬิกาคืนให้แก่กรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งเป็นการส่งมอบ คืนภายหลังได้รับทรัพย์สินดังกล่าวมาเป็นระยะเวลา 3 ปี 11 เดือน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติว่า การกระทำของ นายทวีป บุตรโพธิ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 103 ประกอบมาตรา 122 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 (ปัจจุบันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ประกอบมาตรา 169) และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง
ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐานความผิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไป
@ ทวีป บุตรโพธิ์
ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ก.ย.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ ว่า นายทวีป บุตรโพธิ์ จำเลย มีความผิดตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช.พ.ศ. 2542 มาตรา 103, 103/1 ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 (2), 7
จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท
จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง
คงจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท
พิเคราะห์พฤติการณ์คดีประกอบรายงานการสืบเสาะแล้ว จำเลยรับราชการมาโดยตลอด ได้ทำคุณงามความดีต่อบ้านเมืองมาหลายประการ ไม่เคยมีคดีถูกกล่าวหาในทางเสื่อมเสียใด ๆ
สิ่งที่จำเลยได้รับไว้ก็เป็นการรับไว้ในโอกาสที่ทุกคนมาแสดงความยินดี มิใช่การมุ่งร้ายในทางทรัพย์สินทำนองแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
เมื่อทราบเรื่องจำเลยก็เร่งดำเนินการให้ผู้บังคับบัญชาวินิจฉัยสั่งการโดยพลันกับทั้งได้ส่งคืนนาฬิกาดังกล่าวให้กับผู้ร้องเรียนได้รับไปแล้ว หน่วยงานสังกัดจำเลยได้ลงโทษทางวินัยในขั้นรุนแรงอันไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำผิด อีกทั้งผู้ร้องเรียนกล่าวหาจำเลยเป็นผู้ให้ทรัพย์สินนี้แก่จำเลยเสียเอง
พฤติการณ์แห่งคดีโดยรวมไม่ร้ายแรง ในปัจจุบันจำเลยมีอายุมากแล้ว มีสถานที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีบุคคลในครอบครัวที่คอยห่วงใย
โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ.มาตรา 29, 30
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
เบื้องต้น ยังไม่มีรายงานว่า นายทวีป บุตรโพธิ์ ยื่นอุทธรณ์คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกหรือไม่
แต่ไม่ว่าบทสรุปการต่อสู้คดีในชั้นศาล จะออกมาเป็นอย่างไร กรณี นายทวีป บุตรโพธิ์ นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญของผู้บริหารหน่วยงานราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศ ไม่ให้กระทำผิดซ้ำรอย เอาเป็นเยี่ยงอย่างทั้งในปัจจุบัน และอนาคต สืบไป
จากการรับนาฬิกาหรือสิ่งของมีค่าจากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ญาติและมีมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคลแต่ละโอกาสเกินสามพันบาท ตามที่กฏหมายกำหนดไว้
ที่น่าสนใจ คือ ผู้ร้องเรียนกล่าวหานายทวีป เป็นผู้ให้ทรัพย์สินนี้แก่นายทวีป เองด้วย