"...จำเลยยังเป็นแพทย์สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเจ็บป่วยได้อีกต่อไป เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับไปตรวจรักษาประชาชนให้พ้นจากการเจ็บป่วย..."
จำเลย มีความผิดตามกฏหมาย ตัดสินลงโทษ 87 กระทง จำคุก 261 ปี 348 เดือน เมื่อรวมโทษทุก กระทงแล้วคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปี และปรับ 174,000 บาท
แต่ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 2 ปี
คือ บทลงโทษของ นายสุรพันธ์ วิชิตนาค อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาตัดสินในคดีสั่งจ่ายยาโดยใช้ชื่อเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นชื่อผู้ป่วย เพื่อซื้อยาจากโรงพยาบาลป่าโมกไปใช้ในคลีนิกรักษารักษาโรคของตนเอง ซึ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ลงมติชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157 และ 162 (1)(4) พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
ส่วนเหตุที่ทำให้ นายสุรพันธ์ วิชิตนาค ได้รับการรอลงอาญาโทษจำคุก ทั้งที่ถูกตัดสินลงโทษจำคุก เป็นระยะเวลากว่า 261 ปี 348 เดือน (ติดจริง 50 ปี)
สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นไปแล้วว่า เนื่องจากศาลฯ เห็นว่า รับราชการแพทย์มานาน ใช้ความรู้ช่วยเหลือประชาชนมาจำนวนมาก ความเสียหายที่เกิดขึ้นมีจำนวนไม่มาก
มาดูเหตุผลฉบับเต็มของศาลฯ กัน
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 มีคำพิพากษาว่า นายสุรพันธ์ วิชิตนาค จำเลยมีความผิดตามมาตรา 151 (เดิม), 157 (เดิม), 162 (1) (เดิม) พ.ร.ป.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1
การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป และความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหน้กที่สุด
ให้จำคุกกระทงละ 5 ปีและปรับกระทงละ 3,000 บาท
คำให้การและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน และปรับกระทงละ 2,000 รวม 87 กระทง จำคุก 261 ปี 348 เดือน และปรับ 174,000 บาท
เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลยมีกำหนด 50 ปี และปรับ 174,000 บาท
เห็นว่า จำเลยรับราชการเป็นแพทย์ตรวจรักษาคนเป็นเวลานานก่อนเกิดเหตุจนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลป่าโมก ได้ใช้วิชาความรู้ช่วยเหลือประชาชนให้พ้นจากอาการเจ็บป่วยเป็นจำนวนมาก ทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี
นับว่าได้สร้างประโยชน์และความดีต่อประเทศชาติและแผ่นดิน
เมื่อพิจารณาผลของการกระทำของจำเลยทำให้โรงพยาบาลป่าโมกได้รับความเสียหายเป็นเงินเพียง 63,089 บาท นับว่าไม่มาก และจำเลยได้บรรเทาผลร้าย โดยใช้เงินค่าเสียหายให้แก่โรงพยายาลป่าโมกครบถ้วนแล้ว
ทั้งจำเลยยังเป็นแพทย์สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเจ็บป่วยได้อีกต่อไป
เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับไปตรวจรักษาประชาชนให้พ้นจากการเจ็บป่วย
โทษจำคุก จึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30
**********
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 26 ส.ค.2567 มีมติขอความอนุเคราะห์อัยการสูงสุด (อสส.) อุทธรณ์คำพิพากษาในส่วนรอการลงโทษจำเลย
บทสรุปสุดท้ายผลการต่อสู้คดีนี้ในชั้นศาลอุทธรณ์จะออกมาเป็นอย่างไร คอยติดตามดูกันต่อไป