"...ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึง อายุ การศึกษาและประวัติการรับราชการของจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยรับราชการมานานจนได้รับพระราชทานยศ พลเรือโท และได้ทำคุณงามความดีรับใช้ประเทศชาติด้านงานวิจัย ของกองทัพมาก่อน ประกอบกับจำเลยได้บรรเทาผลร้ายโดยการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมแล้ว คดีมีเหตุอันควรปรานี เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ประพฤติตัวกลับตนเป็นพลเมืองดีรับใช้ประเทศชาติต่อไป จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตาม ป.อ. ม.56 ที่แก้ไขแล้ว มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไป..."
พลเรือโทสหพงษ์ เครือเพ็ชร อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหารกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ถูกศาลทหารกรุงเทพ พิพากษาตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ลดจาก 4 ปี หลังเจ้าตัวรับสารภาพ ในคดีทุจริตเบียดบังกังหันเติมอากาศในน้ำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบ
แต่ได้รับการรอลงอาญาไว้ 2 ปี หลังจากเจ้าตัวยื่นคำร้องขอรอการลงโทษจำคุก โดยอ้างประวัติการทำประโยชน์คุณงามความดีรับใช้ประเทศชาติด้านงานวิจัยจำนวนมาก จนได้รับพระราชทานยศเรือโท พร้อมชดใช้ค่าเสียหายแล้ว
โดยคดีนี้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อวันที่ 19 ก.พ.2563 ชี้มูลความผิด พลเรือโทสหพงษ์ เครือเพ็ชร เมื่อครั้งมียศเป็น พลเรือตรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหารกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กรณีกล่าวหา ทุจริตเบียดบังกังหันเติมอากาศในน้ำ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์อันมิชอบ ฐานความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2567 ศาลทหารกรุงเทพ มีคำพิพากษาว่า พลเรือโทสหพงษ์ เครือเพ็ชร จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. ม.157 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.อ.พ.ศ. 2502 ม.13 ให้ลงโทษ จำคุก 4 ปี ปรับ 10,000 บาท
ลดโทษที่จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุบรรเทาโทษ ตาม ป.อ. ม.78 ลงกึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี ปรับ 5,000 บาท
ตามที่จำเลยได้ยื่นคำร้องขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้จำเลย พร้อมทั้งได้แนบเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องประกอบคำร้องว่าระหว่างรับราชการได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ โดยจำเลยเป็นนักวิจัยดีเด่น ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการทหารประจำปี 2538 และได้รับประกาศชมเชยจากกองบัญชาการทหารสูงสุด เมื่อปี 2545 กับได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่น กระทรวงกลาโหม ประจำปี 2546 และได้รับใบประกาศเกียรติคุณจากกองทัพเรือ เมื่อปี 2546 เนื่องจากดำเนินการวิจัยและพัฒนาโครงการที่เป็นประโยชน์แก่กองทัพเรือ ในโครงการวิจัยและพัฒนาการปรับแต่งกล้องส่องตาด้วยแสงเลเซอร์
นอกจากนี้ จำเลยยังได้ชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดคืนให้กับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหมสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมเรียบร้อยแล้ว
ศาลฯ ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึง อายุ การศึกษาและประวัติการรับราชการของจำเลยแล้ว เห็นว่าจำเลยรับราชการมานานจนได้รับพระราชทานยศ พลเรือโท และได้ทำคุณงามความดีรับใช้ประเทศชาติด้านงานวิจัย ของกองทัพมาก่อน ประกอบกับจำเลยได้บรรเทาผลร้ายโดยการชดใช้ค่าเสียหายให้แก่กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว
คดีมีเหตุอันควรปรานี เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ประพฤติตัวกลับตนเป็นพลเมืองดีรับใช้ประเทศชาติต่อไป จึงให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้ตาม ป.อ. ม.56 ที่แก้ไขแล้ว มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไป
ในส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินจำนวน 1,500 บาท ให้กับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่กรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมแล้ว
จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้ บังคับค่าปรับตาม ป.อ. ม. 29, 30 แก้ไขแล้ว หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับหรือชำระไม่ครบถ้วนให้กักขังแทนค่าปรับ
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลทหารกรุงเทพดังกล่าว
ปิดฉากคดีนี้เป็นทางการ หลังจากต่อสู้คดีในชั้นศาลมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาคดีทุจริตที่น่าสนใจของจำเลยที่เป็นนายทหารระดับสูง ในการอ้างประวัติการทำประโยชน์คุณงามความดีรับใช้ประเทศชาติจำนวนมาก พร้อมชดใช้ค่าเสียหายแล้ว มาเป็นเหตุผลประกอบในการยื่นคำร้องขอรอการลงโทษจำคุก
ขณะที่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีเหตุอันควรปรานี เพื่อให้โอกาสจำเลยได้ประพฤติตัวกลับตนเป็นพลเมืองดีรับใช้ประเทศชาติต่อไป