ป.ป.ช.ส่งรายงานสำนักงาน อสส. ลงมติชี้มูลความผิด รองอธิบดีอัยการ เรียกรับสินบน 500,000 บาท ช่วยเหลือคดีใช้พาสปอร์ตปลอมเดินทางเข้าประเทศผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ช่วยเหลือจริง เผยกำลังเข้าอบรมหลักสูตรเรียนจบได้แต่งตั้งเป็นอธิบดีอัยการต่อไป
แหล่งข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ในช่วงปลายเดือน พ.ค.2567 ที่ผ่านมา สำนักงาน อสส. ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งรายงานการลงมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด รองอธิบดีอัยการรายหนึ่ง ในข้อกล่าวหาเรียกรับสินบนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 เพื่อให้ส่งฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ นอกจากนั้นขอให้ผู้มีอำนาจดำเนินการถอดถอนตำแหน่ง ตาม มาตรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561
แหล่งข่าวระบุว่า "รองอธิบดีอัยการรายนี้ ถูกกล่าวหาว่าเรียกรับสินบนเป็นเงิน 500,000 บาท เพื่อช่วยเหลือคดีหนังสือเดินทางปลอมและเดินทางเข้าประเทศผิดกฎหมาย แต่ไม่ได้ช่วยเหลือจริง"
ขณะที่มีรายงานข่าวว่า รองอธิบดีอัยการรายนี้ กำลังจะเข้าอบรมหลักสูตรอธิบดีอัยการในสัปดาห์นี้ ซึ่งผู้ที่จบจากหลักสูตรนี้ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีอัยการต่อไป
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ระบุว่า ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิก สภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล โดยทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วน มาตรา 98 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ระบุว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน ผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสํานวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสํานวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี
กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยเร็ว โดยให้ถือรายงานและเอกสารหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นเพื่อพิจารณาทางวินัยในสํานวนการสอบสวนด้วย และเมื่อดําเนินการได้ผลประการใดแล้ว ให้แจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา
การดําเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนพิจารณาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนได้รับแจ้งมติที่ได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนตามมาตรา 99 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหรือหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิด เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติเมื่อพ้นกําหนดเวลาตามมาตรา 48 แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอํานาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะดําเนินการเพื่อดําเนินคดีอาญาต่อไป
สําหรับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทําความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสํานวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดําเนินการตามหน้าที่และอํานาจต่อไป
ในการส่งสํานวนการไต่สวนเพื่อดําเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานกรรมการ อาจมอบหมายให้เลขาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดําเนินการแทนก็ได้