"...รายการ "โหนกระแส" เป็นรายการสด มุ่งเน้นการนำคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะของการเผชิญหน้า หรือในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งบริษัทฯ ย่อมคาดหมายได้ว่าคู่กรณีอาจจะมีการให้สัมภาษณ์พาดพิง ตอบโต้กันไปมา และอาจมีการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่สุภาพ หรือไม่เหมาะสมในการออกอากาศผ่านกิจการโทรทัศน์ซึ่งให้บริการเป็นการทั่วไปได้ บริษัทฯ จึงควรจะต้องใช้ความระมัดระวัง ความละเอียดรอบคอบ และหรือมีมาตรการป้องกันหรือตรวจสอบ คัดกรองเนื้อหารายการก่อนการออกอากาศยิ่งกว่ารายการปกติทั่วไป ..."
กลายเป็นประเด็นร้อนในสังคมไทยขึ้นมาทันที!
หลังสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวว่า ในช่วงเดือน เม.ย.2567 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้มีหนังสือแจ้งบริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ช่อง 3 เอชดี แจ้งให้ระงับการออกอากาศรายการ "โหนกระแส" เป็นระยะเวลา 1 วัน เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ กลั่นกรองเนื้อหารายการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรม
ขณะที่มีรายงานข่าวจากช่อง 3 เอชดีว่า รายการ "โหนกระแส" มีกำหนดที่หยุดออกอากาศเป็นเวลา 1 วัน ตามคำสั่ง กสทช. ในวันที่ 7 มิ.ย.2567 นี้
ส่วน นายกรรชัย กำเนิดพลอย พิธีกรรายการโหนกระแส ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า รับทราบมานานหลายเดือนแล้วว่า ถูกสำนักงาน กสทช.สั่งระงับการออกอากาศรายการโหนกระแส ส่วนข้อเท็จจริงก็เป็นไปตามที่สำนักข่าวอิศรานำเสนอ คือ มีคำที่ไม่เหมาะสมหลุดออกไปเมื่อปี 2566 ทาง กสทช. จึงมีคำสั่งให้หยุดออกอากาศ 1 วัน
นายกรรชัย ยังระบุด้วยว่า "ทาง กสทช.ให้ทางรายการฯ เป็นคนเลือกวันที่จะหยุดออกอากาศ ซึ่งรายการและผมก็เลือกวันที่ 7 มิ.ย. 2567 โดยในวันนั้นจะมีรายการมาแทน คือ รายการ 'โหนกระป๋อง' ที่มีผมดำเนินรายการคู่กับ ป๋อง หรือ นายกพล ทองทับ เป็นเวลา 1 วัน หลังจากวันนั้นก็จะเป็นรายการโหนกระแสเช่นเดิม"
- ลงดาบ 'โหนกระแส'! กสทช.สั่งช่อง 3 ระงับออกอากาศ 1 วัน 7 มิ.ย.67 นี้
- 'กรรชัย' รับ กสทช.สั่งระงับออกอากาศ'โหนกระแส' 1 วัน จริง เหตุมีคำไม่เหมาะสม-แก้ไขแล้ว
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเบื้องหลังการออกคำสั่ง กสทช.ให้ระงับการออกอากาศรายการโหนกระแส 1 วัน ดังกล่าว มานำเสนอ ณ ที่นี้
@ จุดเริ่มต้นจากข้อร้องเรียน
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าว สำนักงาน กสทช. ว่า ในช่วงเดือน ต.ค.2566 ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้ทำหนังสือแจ้งให้บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่องรายการ 3 HD (ช่อง 33) (ช่อง 3 HD) ให้ทราบว่า สำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการออกอากาศรายการ "โหนกระแส" ทางช่อง 3 HD เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 หัวข้อรายการ "ศรี ตกลงทนได้ไหม" เนื่องจากมีการเชิญแขกรับเชิญมาพูดคุยเกี่ยวกับข้อพิพาทจากเหตุชกต่อยระหว่างกัน ซึ่งการนำเสนอเนื้อหารายการลักษณะดังกล่าว สร้างความแตกแยกในสังคม ประกอบกับแขกรับเชิญมีการใช้คำพูดไม่เหมาะสมในการสนทนาโต้แย้งระหว่างกัน เช่น "กู มึง ไอ้เ-ี้ย แม่ง" เป็นต้น
ขณะที่ สำนักงาน กสทช. ได้มีการตรวจสอบพบการออกอากาศรายการ "โหนกระแส" ทางช่อง 3 HD เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2566 หัวข้อรายการ "ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย ตบสนั่นตลาด! สาวท้อง 6 เดือนโดนตบ อีกด้านโต้ ก็มึงตบแม่กูก่อน" ซึ่งมีการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่สร้างความขัดแย้ง ประกอบกับแขกรับเชิญและผู้ดำเนินรายการมีการใช้คำพูดไม่สุภาพและไม่เหมาะสมในการออกอากาศทางกิจการโทรทัศน์อันอาจเข้าข่ายไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ และเป็นการกระทำความผิดที่มีโทษทางปกครองตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 รวมทั้งฝ่าฝืนคำสั่งตามหนังสือสำนักงาน กสทช. ที่ สทช 2302/15439 ลงวันที่ 27 เม.ย.2566
สำนักงาน กสทช. จึงแจ้งข้อกล่าวหาให้บริษัทฯ ทราบ และเรียกให้บริษัท ฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการ การส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง และการพัฒนาองค์กรวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการฯ) และพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. ในวันที่ 7 พ.ย.2566 และรายงานผลการดำเนินการปรับปรุงข้อกำหนดตามคำสั่งบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่ 005/2565 เรื่อง จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ พ.ศ. 2565 เพื่อประกอบการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
@ ช่อง 3 ชี้แจง
เบื้องต้น บริษัทฯ มีหนังสือแจ้ง สำนักงาน กสทช. ว่า ได้ดำเนินการเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานด้านข่าว และมาจัดการฝึกอบรมเพื่อทบทวนความรู้จากนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชน และจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในกลุ่มพนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางการปฏิบัติงานที่ทันสมัย นำเสนอข่าวภายใต้แนวทางจริยธรรมการปฏิบัติงานด้านข่าว โดยรวมถึงหัวข้อการบริหารจัดการรายการที่เป็นการออกอากาศสดมาอย่างต่อเนื่อง และได้ดำเนินการจัดการอบรม (พิเศษ) และการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับทีมรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์และรายการโหนกระแส การเตรียมตัวผู้ร่วมรายการสด เพื่อเตรียมความพร้อมของผู้ร่วมรายการและลดปัญหาการขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างรายการ การแต่งตั้งคณะกรรมการจริยธรรม เพื่อทำหน้าที่ในการส่งเสริมการปฏิบัติงานข่าวให้เป็นไปตามจริยธรรมข่าว พิจารณาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับจริยธรรม และการจัดการอบรมประจำปีของผู้ปฏิบัติงานด้านข่าว
ขณะที่ ตัวแทนบริษัทฯ ได้ชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหารายการฯ และพนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. สรุปสาระสำคัญได้ว่า บริษัทฯ การออกอากาศรายการ "โหนกระแส" หัวข้อรายการ "ศรี ตกลงทนได้ไหม" และหัวข้อรายการ "ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย ตบสนั่นตลาด! สาวท้อง 6 เดือน โดนตบ อีกด้านโต้ ก็มึงตบแม่กูก่อน" และยอมรับว่าเป็นการออกอากาศของบริษัทฯ ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ช่อง 3 HD ตามวันและเวลาที่ตรวจสอบพบจริง และจะมีการปรับปรุงจริยธรรม และรายงานให้ กสทช.ทราบต่อไป
โดยจะมีการพิจารณาเพิ่มบทลงโทษสำหรับการไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมให้ชัดเจนมากขึ้น และนำประเด็นการให้บุคคลภายนอกร่วมเป็นคณะกรรมการจริยธรรมเพื่อพิจารณากรณีที่เป็นที่สนใจของสังคมด้วย
ตัวแทนบริษัทฯ ยังยืนยันว่า ภายหลังการออกอากาศรายการ "โหนกระแส" บริษัทฯ จะมีการส่งผลตอบรับให้ผู้ดำเนินรายการทราบอยู่เสมอ และบริษัทฯ ได้มีการพูดคุยกับทีมงานและผู้ดำเนินรายการในหลายกรณีไม่ใช่แค่กรณีที่มีการร้องเรียนมายังสำนักงาน กสทช. เท่านั้น หากมีกรณีที่สุ่มเสี่ยงเกิดขึ้นกับทีมงานและผู้ดำเนินรายการจะมีการพิจารณาเปลี่ยนประเด็นการนำเสนอทันที
@ ยอมรับในหลายช่วงมีการเกินเลยไปบ้าง-ขอให้พิจารณาภาพรวม
ส่วนการออกอากาศรายการโหนกระแสในประเด็นที่มีการร้องเรียน นั้น บริษัทฯ ยอมรับว่าในหลายช่วงมีการเกินเลยไปบ้าง ซึ่งผู้ดำเนินรายการได้มีความพยายามที่จะกำกับดูแลสิ่งที่เกิดขึ้น และทีมงานได้มีการส่งข้อความไปตักเตือนผู้ดำเนินรายการระหว่างออกอากาศรายการ เพื่อให้ใช้ความระมัดระวังในประเด็นต่าง ๆ แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการไม่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ จึงขอให้พิจารณาภาพรวมในการออกอากาศรายการ เนื่องจากตัวอย่างการออกอากาศที่ได้รับชมนั้นเป็นบริบทในช่วงต้นของรายการที่จะดำเนินมาสู่การสรุปในสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และมีบทลงท้ายว่าคืออะไร ซึ่งจะพบว่าภายหลังจากที่บริษัทฯ ได้มาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะอนุกรรมการเนื้อหารายการฯ ในครั้งก่อนแล้ว รายการ "โหนกระแส" ก็ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก
@ เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความเดือดร้อน ใช้พื้นที่รายการเป็นสื่อกลางในการไกล่เกลี่ย
โดยรายการได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีความเดือดร้อน ได้ใช้พื้นที่รายการเป็นสื่อกลางในการไกล่เกลี่ยในกรณีที่มีประเด็นข้อพิพาทในสังคม ซึ่งได้รับการไกล่เกลี่ยและมีบทสรุปรวมทั้งการเยียวยาที่เหมาะสม เช่น กรณีคุณป้าตากกางเกงในที่เสาไฟทำให้เกิดภาพที่ไม่เหมาะสม กรณีบ้านไม่ตรงปก และกรณีบ้านที่ถูกทำให้เป็นพื้นที่ตาบอด กรณีร้านปังชา เป็นต้น รายการมีส่วนช่วยทำให้สังคมมีทางออก
ดังนั้น จึงขอโอกาสให้รายการได้ค่อย ๆ ปรับปรุงในสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้มีความเหมาะสมมากขึ้นจนกระทั่งมีความเหมาะสม 100% ในอนาคตได้ อย่างน้อยเพื่อให้รายการได้มีส่วนช่วยเหลือสังคมและผู้ที่เดือดร้อน ซึ่งรายการนี้ไม่ได้ดูถูกผู้คน และรายการนี้เห็นคุณค่าของคน จึงไม่ต้องการให้เกิดการล้อเลียน คนอื่นที่เดือดร้อน บางครั้งผู้ดำเนินรายการจึงมีการกล่าวถ้อยคำที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมในการสะท้อนกลับข้อความดังกล่าว เพื่อให้รู้ว่าทุกคนมีคุณค่า ทุกกรณีที่มาออกอากาศก็มีคุณค่า และต้องการแสดงให้เห็นว่ารายการ "โหนกระแส" ไม่ได้เป็นรายการที่มีความมุ่งหวังให้สังคมเกิดความแตกแยก แต่พยายามจะแก้ไขปัญหาให้สังคม ซึ่งหลาย ๆ กรณีก็เกิดการไกล่เกลี่ยและจบลงได้ในระยะเวลาอันสั้น
สำหรับการออกอากาศในหัวข้อรายการ "ศรี ตกลงทนได้ไหม" นั้น มีการชี้ให้เห็นว่า การใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกที่ดี นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการยังได้รับความเห็นในช่วงที่ไปขึ้นศาลว่า รายการนี้ช่วยให้คดีฟ้องร้องในศาลลดน้อยลงได้บ้าง และมีส่วนช่วยให้สังคมมีจุดจบที่ดี จึงขอให้พิจารณาภาพรวมของรายการเนื่องจากในระยะเวลาหนึ่งปีจะมีการนำเสนอที่หลากหลายกรณี โดยทั้งสองกรณีที่มีการร้องเรียนก็ไม่ได้เป็นกรณีหลักที่บริษัทฯ ต้องการนำเสนอ แต่ต้องการที่จะนำเสนอในลักษณะที่เป็นภาพรวมทางสังคมมากกว่า
ทั้งนี้ บริษัทฯ น้อมรับข้อแนะนำทั้งหมดไว้เป็นข้อพึงปฏิบัติต่อไปในอนาคตโดยเฉพาะเรื่องช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนของช่อง บริษัทฯ จะดำเนินการให้เร็วที่สุดและรายงานให้ กสทช. ทราบต่อไป
@ ผลสอบ กสทช. พบผู้ดำเนินรายการยังมีการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม "กู" "มึง" บ่อยเกินไป
อย่างไรก็ดี สำนักงาน กสทช. ได้รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย คำชี้แจงของบริษัทฯ เสนอต่อ กสทช. ในการประชุม ครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2567 โดยที่ประชุมได้สอบทานกระบวนการในการรวบรวมข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงได้พิจารณาในเนื้อหารายการ "โหนกระแส" ในหัวข้อราชการ "ศรี ตกลงทนได้ไหม" เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 ซึ่งมีการเชิญนายศรีสุวรรณ จรรยา และนายทศพล ธนานนท์โสภณกุล ซึ่งเป็นคู่กรณีกันในเหตุการณ์ที่นายทศพล ทำร้ายร่างกายนายศรีสุวรรณ มาออกอากาศร่วมกันในประเด็นดังกล่าว
แม้จะกำหนดให้แขกรับเชิญทั้งสองฝ่ายอยู่คนละที่ในเวลาที่ออกอากาศ เพื่อป้องกันการเผชิญหน้าก็ตาม หากแต่ผู้ดำเนินรายการมีการใช้ถ้อยคำในการสัมภาษณ์แขกรับเชิญ ในลักษณะของการยั่วยุให้แขกรับเชิญแต่ละฝ่ายกล่าวพาดพิงอีกฝ่ายในทางที่ไม่เหมาะสมไม่สมควร และอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างกันตามมาภายหลัง เช่น "เอ้า พี่ทศฯ เค้าถามว่าใครแต่งตั้งมึง" หรือ "ทำไมพี่ถึงไม่ยอมไปเจออะ พี่กลัวเค้าใช่มั้ย พี่กลัวเค้าต่อยอีกเหรอ" หรือ "กะเอาทีเดียวมั้ย" หรือ "พี่จะเข้าไปซ้ำเค้ามั้ย พี่จะไปต่อยเค้ามั้ย เอาคืนมั้ย หรือยังไง" หรือ "ถ้าตั้งตัวนี่พี่ใส่กลับเลยมั้ยตอนนั้นน่ะ" หรือ "เอ้า เค้าบอกว่าเค้าไปร้องนะ กะโหลกกะลานะ แต่พี่ไม่เคยดูข่าว" หรือ "เค้าถามว่าไปอยู่รูไหน" หรือ "เอ้า นี่ เค้าเกลียดชัง เค้าบอกมึง" หรือ "อีไหน" หรือ "โดดตบเลยเหรอ" เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ดำเนินรายการยังมีการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพในรายการ เช่น "กู" "มึง" บ่อยเกินไป อีกทั้งแขกรับเชิญมีการใช้คำพูดที่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลอื่น บริภาษและสื่อความหมายเชิงลบ เช่น "ตัวคุณเนี่ยนะ เ-วระ-ำหรือ "ผมจะบอกไว้ให้ ประชาชนเค้าหมั่นไส้มานานแล้ว ไปดู Facebook ได้เลยทุกวันนี้ เค้าด่ใครนะ ตั้งแต่โดนตบหน้าเนี่ย คุณไปดูดิ๊ เค้าด่าใคร เค้าเกลียดชังมึง" หรือ "เค้าเกลียดชังมึงอย่างร้ายแรงเลยทั่วประเทศไทยอะ" หรือ "มึงน่ะมันรุนแรงเกินออกหน้าออกตา นายว่าขี้ข้าพลอย" และมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่เหมาะสมของแขกรับเชิญ เช่น มีการเรียกคู่กรณีอีกฝ่ายว่า "มึง" หรือการแทนตัวเองว่า "กู" เป็นต้น
สำหรับการออกอากาศ ในหัวข้อรายการ "ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย ตบสนั่นตลาด! สาวท้อง 6 เดือนโดนตบอีกด้านโต้ ก็มึงตบแม่กูก่อน" เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2566 ทางช่อง 3 HD โดยมีการเชิญคู่กรณีและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาให้สัมภาษณ์ในพื้นที่และเวลาเดียวกัน ซึ่งนอกจากการขึ้นข้อความจะใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพแล้ว ในรายการยังมีการนำเสนอเทปบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดการทะเลาะวิวาทและทำร้ายร่างกายของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย ซึ่งแม้จะมีการใช้เทคนิคลดความคมชัดของภาพ
แต่ยังคงสามารถมองเห็นในรายละเอียดได้พอสมควร และคู่กรณีแต่ละฝ่ายมีการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพ เมื่อกล่าวถึงคู่กรณีอีกฝ่าย เช่น "อีตัวนู้นนู่น" เป็นต้น
@ เป็นรายการสด มุ่งเน้นการนำคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันมาให้สัมภาษณ์ลักษณะเผชิญหน้า
รายงานการตรวจสอบ กสทช. ยังระบุว่า รายการ "โหนกระแส" เป็นรายการสด มุ่งเน้นการนำคู่กรณีที่มีความขัดแย้งกันมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะของการเผชิญหน้า หรือในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งบริษัทฯ ย่อมคาดหมายได้ว่าคู่กรณีอาจจะมีการให้สัมภาษณ์พาดพิง ตอบโต้กันไปมา และอาจมีการใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย ไม่สุภาพ หรือไม่เหมาะสมในการออกอากาศผ่านกิจกรโทรทัศน์ซึ่งให้บริการเป็นการทั่วไปได้ บริษัทฯ จึงควรจะต้องใช้ความระมัดระวัง ความละเอียดรอบคอบ และหรือมีมาตรการป้องกันหรือตรวจสอบ คัดกรองเนื้อหารายการก่อนการออกอากาศยิ่งกว่ารายการปกติทั่วไป และจะต้องควบคุมหรือกำชับให้ผู้ดำเนินรายการหลีกเลี่ยงการตั้งคำถามหรือการใช้ถ้อยคำที่เป็นการยั่วยุหรือกระตุ้นอารมณ์แขกรับเชิญแต่ละฝ่ายให้เกิดความขัดแย้งหรือข้อพิพาทเพิ่มเติม
แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าผู้ดำเนินรายการมิได้ระมัดระวังการใช้ถ้อยคำของตนจนมีลักษณะของการยั่วยุ กระตุ้นอารมณ์ของคู่กรณีให้เกิดความขัดแย้งต่ออีกฝ่ายเพิ่มมากขึ้น
โดยผู้ดำเนินรายการไม่อาจควบคุมการให้สัมภาษณ์ของแขกรับเชิญ ไม่ให้มีการปะทะกันทางอารมณ์และใช้วาจาผรุสวาทได้เนื้อหารายการ "โหนกระแส" ซึ่งออกอากาศทางช่อง 3 HD ของ บริษัทฯ ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าวนี้ จึงเป็นเนื้อหารายการที่มุ่งเน้นการนำเสนอความขัดแย้งระหว่างบุคคล โดยมิได้เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ หรือช่วยคลี่คลายข้อพิพาทดังกล่าว และยังอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคู่กรณีเพิ่มมากขึ้น และเป็นการออกอากาศเนื้อหารายการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางจริยธรรมและวิชาชีพของสื่อมวลชนของบริษัทฯ ตามที่กำหนดไว้ในคำสั่ง ที่ 005/2565 005/2565 เรื่อง จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2565 ในหมวดที่ 3-6 เนื่องจากมีการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่จะสร้างความเกลียดชังระหว่างคน ในสังคมจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิ์ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ตลอดจนอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคม รวมทั้งมีการเปิดโอกาสให้แหล่งข่าวกล่าวร้ายหรือพาดพิงบุคคลอื่น ยั่วยุ บริภาษ ด้วยการใช้ภาษาหยายคายรุนแรง ดูถูก เหยียดหยามบุคคลอื่นในเชิงลดคุณค่า ทำให้มีความหมายเชิงลบ หรือลดทอนคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งวิชาชีพภายในองค์กรของบริษัทฯ ด้วย
การออกอากาศรายการ "โหนกระแส" หัวข้อรายการ "ศรี ตกลงทนได้ไหม" เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 และหัวข้อรายการ "ทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย ตบสนั่นตลาด! สาวท้อง 6 เดือนโดนตบ อีกด้านโต้ ก็มึงตบแม่กูก่อน" เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2566 ทาง ช่อง 3 HD จึงถือเป็นการไม่ปฎิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ช่อง 3 HD ตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 (ประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้บริการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2555 ) ข้อ 14 (10) ที่กำหนดให้บริษัทฯ จะต้องดำเนินการคัดเลือก จัดหา กำกับดูแลรายการ เนื้อหารายการใด ๆ ที่ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ
@ มติชี้ขาด สั่งระงับออกอากาศ 1 วัน
จากกรณีที่ บริษัทฯ เคยถูกร้องเรียนจากประชาชนต่อกรณีการออกอากาศรายการ "โห่นกระแส" เมื่อวันที่ 23 ก.ย.2565 ในหัวข้อรายการ "ก็มาดิคะ แพร์รี่พร้อมบวก ลั่นสึกแล้วยังจะมีมารผจญ" ทางช่อง 3 HD แล้ว
กสทช. จึงมีมติในการประชุม ครั้งที่ 5/2566 เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2566 ให้บริษัทฯ พึงจะต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมการออกอากาศรายการสด เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น กระบวนการในการคัดเลือกแขกรับเชิญ ซึ่งควรจะต้องมีการประเมินแขกรับเชิญว่าสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้หรือไม่ เพียงใด การใช้เทคนิคอื่นในการควบคุม เมื่อเกิดสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่น การตัดภาพหรือการระงับเสียง เป็นต้น และเตือนให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไขการคัดเลือก จัดหา กำกับดูแล ตรวจสอบและกลั่นกรองการออกอากาศเนื้อหารายการ "โหนกระแส" ที่มีรูปแบบรายการเป็นรายการสด โดยจะต้องควบคุมสถานการณ์และเนื้อหารายการ ไม่ให้เกิดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุ บริภาษ ด้วยการใช้ภาษา หยาบคาย รุนแรง ดูถูก เหยียดหยามบุคคลอื่นในเชิงลดคุณค่า ทำให้มีความหมายเชิงลบ หรือลดทอนคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น หลีกเลี่ยง เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อสารมวลชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยให้ถือปฏิบัติตามคำสั่ง ที่ 005/2565 เรื่อง จริยธรรมแห่งวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ของบริษัท บีอีชี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งวิชาชีพฯ ภายในองค์กรของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด
หากฝ่าฝืน กสทช. จะมีคำสั่งระงับการออกอากาศรายการ "โหนกระแส" เพื่อให้บริษัทฯ ได้แก้ไขปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ และกลั่นกรองเนื้อหารายการ ให้เหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งแจ้งตามหนังสือ สำนักงาน กสทช. ที่ สทช 2308/15191 ลงวันที่ 26 เม.ย.2566 และบริษัทฯ ได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 การที่บริษัทฯ ยังคงออกอากาศรายการ "โหนกระแส" ในหัวข้อรายการ "ศรี ตกลงทนได้ไหม" เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2566 และในหัวข้อรายการ "ที่นี้ก็ว้าวุ่นเลย ตบสนั่นตลาด! สาวท้อง 6 เดือนโดนตบอีกด้านโต้ ก็มึงตบแม่กูก่อน" เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2566 ซึ่งเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ช่อง 3 HD ตามประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้บริการกระจายเสียงฯ พ.ศ.2555 ข้อ 14 (10) ที่กำหนดให้บริษัทฯ จะต้องดำเนินการคัดเลือก จัดหา กำกับดูแลรายการ เนื้อหารายการใด ๆ ที่ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาซีพและจริยธรรมของสื่อ ยังเป็นการฝ่าฝืนต่อคำสั่ง กสทช. ดังกล่าว
กสทช. จึงได้พิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายด้วยความละเอียดรอบคอบแล้วจึงอาศัยอำนาจตามข้อ 19 ของประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้บริการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2555 มีคำสั่งให้บริษัทฯ ระงับการออกอากาศรายการ "โหนกระแส" เป็นระยะเวลา 1 วัน เพื่อให้บริษัทฯ ได้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ และกลั่นกรองเนื้อหารายการ "โหนกระแส" ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ โดยสามารถนำรายการอื่นมาออกอากาศในช่วงเวลาดังกล่าวได้
พร้อมแจ้งให้บริษัทฯ ทราบและปฏิบัติตามโดยทันทีและรายงานให้สำนักงาน กสทช. ทราบเป็นหนังสือ ซึ่งหากบริษัทฯ ไม่พอใจในคำสั่ง กสทช. ดังกล่าวข้างต้น สามารถใช้สิทธิโต้แย้งโดยยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งของ กสทช. เป็นต้นไป ตามที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้
************
เหล่านี้ คือ ข้อมูลเบื้องหลังการออกคำสั่ง กสทช.ให้ระงับการออกอากาศรายการโหนกระแส 1 วัน ที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบล่าสุด
ขณะที่ นายกรรชัย ตอบคำถามยืนยันสำนักข่าวอิศราถึงการปรับเปลี่ยนการออกอากาศรายการต่อไปอย่างไร มีการปรับเปลี่ยนตั้งแต่ก่อนมีคำสั่งระงับแล้ว โดยทางรายการนำเครื่องเซ็นเซอร์มาใช้ ซึ่งคำที่ไม่เหมาะสมจะหลุดออกไปยาก แต่ยังไม่ได้มีการชี้แจงถึงปัญหาการทำหน้าที่พิธีกรของตนเอง ตามรายงานผลการตรวจสอบของ กสทช.ดังกลาว
ส่วนการนำเสนอรายการโหนกระแส นับจากนี้ไป จะมีการแก้ไขปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ กลั่นกรองเนื้อหารายการ รวมไปถึงการทำหน้าที่พิธีกร ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อแค่ไหน? อย่างไร?
เป็นหน้าที่ของสาธารณชน ที่ต้องคอยจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด เพื่อให้รายการนี้ที่มีชื่อเสียงและความสำคัญต่อประเทศในยุคปัจจุบัน ได้ทำหน้าที่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของ "สื่อตัวจริง" อย่างแท้จริง
อ่านเรื่องเกี่ยวข้อง