เป็นทางการ! เผยแพร่ผลคดีกล่าวหา 'โอภาส เพชรมุณี' อดีตผอ.ขสมก.-พวกอีก 3 ราย ทำสัญญาให้บริการเดินรถเชิงคุณภาพ (PBC) แบบผ่อนปรนกับเอกชน ไม่เป็นไปตามระเบียบ-กำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบคู่สัญญาไม่ตรงที่ได้รับอนุมัติทำองค์กรได้รับความเสียหาย ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี 18 เดือน -ป.ป.ช.ไม่อุทธรณ์สู้ต่อ
จากกรณี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 30 ม.ค.2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก นายโอภาส เพชรมุณี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และพวกอีก 3 ราย คนละ 6 ปี 18 เดือน ในคดีทำสัญญาให้บริการเดินรถเชิงคุณภาพ (PBC) แบบผ่อนปรนกับเอกชนไม่เป็นไปตามระเบียบและกำหนดเงื่อนไขความรับผิดชอบของคู่สัญญาไม่ตรงกับที่ได้รับอนุมัติ
นายโอภาส เพชรมุณี
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้เผยแพร่ผลคำพิพากษาคดีนี้ เป็นทางการ ระบุว่า คดีนี้ มีจำนวนรวม 4 ราย นายโอภาส เพชรมุณี จำเลยที่ 1 นางปราณี ศุกระศร จำเลยที่ 2 นายสมศักดิ์ บุญช่วย จำเลยที่ 3 และนางวรพรรณ วรกุล จำเลยที่ 4
ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2565 ฐานความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8 และ มาตรา 17 พ.ร.บประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 123 / 1 และ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 172 มาตรา 91 และ 83 ของประมวลกฎหมายอาญา
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 8, 11 พ.ร.บประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 123 / 1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตาม ป.อ.มาตรา 93 ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่องค์การฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 151 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ.มาตรา 90
จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 2 กระทง เป็นจำคุกคนละ 10 ปี
ทางนำสืบของจำเลยทั้งสี่เป็นประโยชน์กับการพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษตามป.อ. มาตรา 78 ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสี่
คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 9 เดือน รวม 2 กระทง คงจำคุก คนละ 6 ปี 18 เดือน
ขณะที่ คดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้ง 4 ราย มีสิทธิ์ต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
เบื้องต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 ได้พิจารณาแล้วมีมติเห็นชอบในการที่อัยการสูงสุด (อสส.) จะไม่อุทธรณ์คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ระบุว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาลหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท