ป.ป.ช.มีมติรับเรื่อง 'บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล' พร้อมพวกรวม 5 คน โดนกล่าวหาเอี่ยวรับผลประโยชน์เว็บพนันออนไลน์ ชี้ชัดเข้าลักษณะผิดร้ายแรง-ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ประชาชนให้ความสนใจ พร้อมให้เรียกสำนวนการสอบสวน พ.ต.อ.ภาคภูมิ พิศมัย-พวก รวมถึงเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคืนมาเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่าเมื่อวันที่ 5 มี.ค. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกเอกสารข่าวแจกระบุว่า ป.ป.ช.ได้มีมติรับเรื่องกล่าวหาพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก รวม 5 คน กรณีเรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์ การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงินเข้าไปตรวจสอบแล้ว โดยเอกสารข่าวแจกระบุดังนี้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า ตามที่คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้ส่งสำนวนการสอบสวนกรณีกล่าวหาพันตำรวจเอก ภาคภูมิ พิสมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 (ลูกน้องพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ ) กับพวก เรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์ การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องกล่าวหาที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่ผู้ถูกกล่าวหามิใช่ตำแหน่งระดับสูงและยังไม่เข้าข่ายความผิดร้ายแรง จึงมีมติให้ส่งเรื่องกล่าวหาดังกล่าวคืนคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน เพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจแล้วรายงานผลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อไป ตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ต่อมาคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้มีหนังสือลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ส่งเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติม กรณีกล่าวหาพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ กับพวก รวม 5 คน กรณีเรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์ การกระทำความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61
โดยคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนเห็นว่า คดีที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติมเกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกันกับสำนวนการสอบสวนคดีเดิม โดยผู้ต้องหาเพิ่มเติมบางคนเป็นถึงข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือได้ว่า กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้ต้องหาบางคน ร่วมมือ ช่วยเหลือ สนับสนุน เจ้าของเว็บไซต์ให้สามารถเปิดเว็บไซต์
จึงเป็นการร่วมกันจัดให้มีการเล่นการพนันฯ, เป็นเจ้าพนักงานเรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดฯ, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ฯ ตามข้อกล่าวหา ดังนั้น สำนวนการสอบสวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งคืนให้คณะพนักงานสืบสวนสอบสวนจึงเป็นเรื่องเดียวกันกับสำนวนการสอบสวนเพิ่มเติมคดีนี้ เพราะเป็นการดำเนินการกับตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และเป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องกันและความผิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ต้องดำเนินการในคราวเดียวกัน
ต่อมาหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ขอทราบมติ ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการรับเรื่องกล่าวหาดังกล่าวไว้ดำเนินการ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 26/2567 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 (2) ได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ.. และวรรคท้ายของบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดว่า ..กรณีจำเป็นจะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงหรือที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ บางระดับ... ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 28 (2) ได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการมอบหมายหรือส่งเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 28 (2) และ (4) ที่มิใช่ความผิดร้ายแรง ให้พนักงานสอบสวนดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามข้อ 29 วรรคสอง
ได้กำหนดว่าในกรณีที่ปรากฏข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในภายหลังว่า เรื่องกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ส่งคืนหรือมอบหมายตามวรรคหนึ่ง เป็นเรื่องกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งสูงกว่าอำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่า หรือเป็นเรื่องกล่าวหาที่มีลักษณะเป็นความผิดร้ายแรง หรือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจเรียกเรื่องกล่าวหาและเอกสารที่เกี่ยวข้องมาเพื่อดำเนินการต่อไปตามระเบียบนี้ก็ได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติเสียงข้างมากรับเรื่องกล่าวหาพลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กับพวก รวม 5 คน กรณีเรียกรับผลประโยชน์จากเว็บไซต์การพนันออนไลน์ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งสูงกว่าอำนวยการระดับสูงหรือเทียบเท่า และพฤติการณ์มีการได้รับผลประโยชน์เป็นเงินจำนวนมาก อีกทั้งเป็นเรื่องที่สำคัญอยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไปอันเข้าลักษณะเป็นความผิดร้ายแรงหรือเป็นเรื่องสำคัญที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางไว้ดำเนินการ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบกับสำนวนการสอบสวนคดีพันตำรวจเอก ภาคภูมิ พิสมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 กับพวก เป็นคดีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวข้องเป็นเรื่องเดียวกัน
ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 61 ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการตรวจสอบและไต่สวน พ.ศ. 2561 ข้อ 29 วรรคสอง จึงให้เรียกสำนวนการสอบสวนเรื่องกล่าวหาพันตำรวจเอก ภาคภูมิ พิสมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 กับพวก และเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดคืนมาเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
อ่านประกอบ:
ป.ป.ช. มติ 4:1 เสียง รับคดี 'บิ๊กโจ๊ก-พวก' โยงเว็บพนันมินนี่ ไว้ดำเนินการไต่สวนเอง