สมาคมนักข่าวฯ ออกแถลงการณ์กรณีผู้สื่อข่าวประชาไท-ช่างภาพอิสระ ถูกจับกุมข้อหาสนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ ขณะปฎิบัติหน้าที่ กังวลสิทธิเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2567 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย แถลงการณ์ถึงกรณีนักข่าวสำนักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาฯ ระบุว่า
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ กังวลสิทธิเสรีภาพสื่อถูกปิดกั้น
ตามกรณีที่นักข่าว สำนักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาลงวันที่ 22 พ.ค. 2566 ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ และถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 นั้น
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รับทราบและติดตามเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประสานกับสำนักข่าวประชาไทต้นสังกัดของนักข่าวดังกล่าว เพื่อยืนยันความชัดเจนว่าเป็นการปฏิบัติงานข่าวจริงตามที่บรรณาธิการต้นสังกัดได้รับรองให้ไปปฎิบัติหน้าที่
นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องในหลายประเด็น เพื่อให้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน และมีการประชุมหารือของกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ทราบว่านักข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 12 ก.พ.2567
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ ขอแสดงความกังวลถึงการตั้งข้อกล่าวหาว่า “ร่วมสนับสนุนการกระทำผิดในคดีอาญา” จะเป็นการบั่นทอนต่อสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน เพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าไปทำหน้าที่รายงานข่าวทั้งในเหตุการณ์ที่เป็นเชิงบวกและเชิงลบต่อสังคม ทำให้โอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงได้ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระบวนการยุติธรรมจะมีความชัดเจนกับสังคม และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนตามหลักจรรยาบรรณวิชาชีพและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่
นอกจากนี้ ในโอกาสของการพิสูจน์ในข้อกล่าวหาดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีท่าทีหลบหนีการต่อสู้คดีในชั้นศาล เพื่อความเป็นธรรม สมาคมนักข่าวฯ เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาสมควรจะได้รับสิทธิ์ และขอความกรุณาในชั้นศาล ในการพิจารณารับการประกันตัวชั่วคราว เพื่อออกมาสู้คดีแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ตามหลักของกระบวนการยุติธรรม และเพื่อพิสูจน์ว่าเหตุดังกล่าวเกิดจากการทำหน้าที่สื่อมวลชนภายใต้กรอบจริยธรรม หรือเป็นพฤติการณ์อื่นๆต่อไป
หากสื่อมวลชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฎิบัติหน้าที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจภายใต้กรอบกฎหมาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ มีช่องทางในการช่วยเหลือทางด้านกฎหมายโดยเฉพาะด้านความช่วยเหลือในการจักหาทนายความต่อสู้คดีตามกรอบความร่วมมือข้อตกลงร่วมกัน (MOU) กับสภาทนายความ สามารถติดต่อผ่านช่องทางต่างๆของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ
สุดท้ายขอเรียกร้องให้บรรณาธิการและต้นสังกัด กำกับดูแลผู้ปฏิบัติงานข่าวทำงานอยู่ในกรอบจริยธรรมแห่งวิชาชีพ กฏหมาย ยึดหลักการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน นำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน นำเสนอข่าวสารด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง รอบด้าน เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ด้าน นายจีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไท และ ช่างภาพอิสระ ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบแสดงหมายจับเข้าจับกุม ในข้อหาเป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหายจากการขีดเขียนข้อความ จากการไปทำข่าวของนักกิจกรรมเมื่อ มี.ค. 2566
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย รับทราบสถานการณ์ รับฟังความคิดเห็นและเข้าใจถึงข้อกังวลของเพื่อนร่วมวิชาชีพ และได้ติดตามสถานการณ์เพื่อรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน เพื่อมีท่าทีในเรื่องดังกล่าวต่อไป
แอมเนสตี้ ระบุการออกหมายจับนักข่าวและช่างภาพสั่นคลอนเสรีภาพสื่อ
ขณะที่ นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยเผยว่า การจับกุมนักข่าวในประเทศไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ถือเป็นการละเมิดเสรีภาพของสื่อโดยตรง และทำลายหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชน ทุกวันนี้ทวีปเอเชียถูกจัดอันดับว่าเป็นทวีปที่มีจำนวนนักข่าวถูกจำคุกมากที่สุดในโลก ซึ่งการกระทำของประเทศไทยในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความเลวร้ายของสถานการณ์การละเมิดสิทธิในทวีปเอเชียอย่างชัดเจนมากที่สุดทั่วโลก เพราะความพยายามของรัฐบาลในการแจ้งข้อกล่าวหา ไม่เพียงแต่เป็นการจำกัดการส่งต่อข้อมูลข่าวสารเท่านั้น แต่เป็นการทำลายความหลากหลายและความอดทนอดกลั้นต่อผู้เห็นต่างในสังคม ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลกำลังตราหน้านักข่าวว่าเป็นอาชญากรหรือเป็นฝ่ายตรงข้าม แทนที่จะมองว่าพวกเขาเหล่านั้นคือส่วนสำคัญในการเป็นกระบอกเสียงของผู้คนในสังคม การกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างวาทกรรมที่เป็นอันตรายต่อผู้เห็นต่างและทำลายหลักการความรับผิดรับชอบในสังคม
“รัฐบาลจะต้องปล่อยตัวนักข่าวและช่างภาพที่ถูกดำเนินคดี ยุติการกระทำทั้งหมดที่เป็นการพยายามปิดปากทั้งคู่ เคารพเสรีภาพของสื่อโดยทันที รวมทั้งต้องให้หลักประกันในการคุ้มครองนักข่าวจากการถูกข่มขู่ คุกคาม ปฏิบัติตามหลักนิติรัฐโดยใช้กฎหมายที่ชอบธรรม และคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ขอยืนหยัดเคียงข้างสื่อมวลชนในการทำงานเพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และเป็นสักขีพยานต่อปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม” นางปิยนุช ย้ำในข้อเรียกร้อง
ตร.จับกุมนักข่าว แจ้งข้อหาผิด พ.ร.บ.โบราณสถานฯ-รักษาความสะอาดฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2567 ผู้สื่อข่าวประชาไท และช่างภาพอิสระ ถูกจับกุมโดยตำรวจนอกเครื่องแบบก่อนถูกนำตัวไปที่สถานีตำรวจพระราชวัง ซึ่งเป็นสถานีท้องที่ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุเเละพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 มาตรา 32 เเละพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 โดยมีอัตราโทษสูงสุดตามความผิดในพระราชบัญญัติเเรกเป็นโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 700,000 บาท ทั้งนี้ ทั้งสองถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดดังกล่าว โดยอาจต้องได้รับโทษ 2 ใน 3 ของโทษสูงสุดที่กำหนดไว้
ภายหลังจากการเเจ้งข้อกล่าวหาเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน ทำให้ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกนำตัวไปควบคุมที่สถานีฉลองกรุง ส่วนช่างภาพอิสระถูกนำตัวไปควบคุมที่สถานีทุ่งสองห้อง เพื่อขออำนาจศาลฝากขังระหว่างการสอบสวนในวันที่ 13 ก.พ.2567
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2567 มีผู้สื่อข่าวอิสระอย่างน้อยสองคน ถูกบุคคลที่สามทำร้ายร่างกายบริเวณสถานีรถไฟฟ้าสยาม หลังการแถลงข่าวของนักกิจกรรม ทั้งที่มีตำรวจปฏิบัติหน้าที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว
สำหรับหมายจับคดีนี้ สำนักข่าวประชาไทคาดการณ์สืบเนื่องมาจากก่อนหน้านี้ผู้ถูกจับกุม พร้อมผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวอื่น ติดตามรายงานข่าวเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 มี.ค.66 กรณี 'บังเอิญ' ศิลปิน อายุ 25 ปี พ่นข้อความทำเป็นสัญลักษณ์ไม่เอา 112 และเครื่องหมายสัญลักษณ์บนกำแพงวัดพระแก้ว