เปิดคำแถลงนโยบาย รบ.เศรษฐา เผยต้องกระตุ้นการใช้จ่ายด่วนเป็นอันดับแรก ดัน ‘ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท’ เป็นตัวชูโรง ส่วนนโยบายเร่งด่วนอีก 4 ประการที่ดันได้เร็ว ‘แก้หนี้เกษตร-SMEs / ลดค่าไฟ-น้ำมัน / Free VISA-รื้อใหม่ท่องเที่ยว / แก้รัฐธรรมนูญ’
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 6 กันยายน 2566 ตามที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยวานนี้ (5 ก.ย.66) ถึงการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งวางกำหนดไว้ในวันที่ 11 ก.ย.นี้
อันเป็นไปตามตามบทบัญญัติมาตรา 162 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ที่ว่า “คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายใน 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่”
ล่าสุด มีการเปิดเผยถึงคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่จะแถลงในวันที่ 11 ก.ย.นี้แล้ว โดยมีความยาวจำนวน 52 หน้า แบ่งเป็น 14 หน้าแรก จะเป็นถ้อยแถลงของนายเศรษฐาที่จะต้องกล่าวในการแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา
ส่วนที่เหลือจะเป็นภาคผนวก เนื้อหาเป็นตารางแสดงความสอดคล้องระหว่างนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีกับหน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และยุทธศาสตร์ชาติ
@เป้าเร่งด่วน ‘กระตุ้นจับจ่ายผ่านหมื่นบาทดิจิทัล’
ในคำแถลงตอนหนึ่งระบุว่า รัฐบาลมีกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามกรอบความเร่งด่วน ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหา สร้างความพร้อม และวางรากฐานอนาคตให้กับคนไทยทุกคน กรอบความเร่งด่วนดังกล่าว ได้แก่
1.กรอบระยะสั้น รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นการใช้จ่าย จุดประกายให้เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจกลับมาเติบโตอีกครั้ง ประกอบกับการเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว
2.กรอบระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลจะเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ า และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน
ในการกระตุ้นการใช้จ่าย นโยบายสำคัญที่จะชูขึ้นมาคือ นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยในคำแถลงระบุถึงนโยบายนี้ว่า นโยบายนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง โดยจะใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน
และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทน
คืนมาในรูปแบบของภาษี
ที่สำคัญ จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศเป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับประชาชน เปิดประตูให้ภาคธุรกิจได้เข้าถึงแหล่งทุนใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล
@พาเหรด 4 นโยบาย ‘ทำได้เร็ว’ แก้ รธน.อยู่ท้ายสุด
เนื้อหาในคำแถลงนโยบาย กล่าวต่อไปถึงนโยบายที่สามารถทำได้โดยเร็ว เพื่อเร่งแก้ปัญหาและช่วยเหลือประชาชน ประกอบด้วย 4 นโยบายหลัก ดังนี้
1.การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งในภาคเกษตร ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน รัฐบาลจะลดภาระพี่น้องเกษตรกรด้วยการพักหนี้เกษตรกรตามเงื่อนไขและคุณสมบัติที่เหมาะสม รวมถึงมาตรการช่วยประคองภาระหนี้สินและต้นทุนทางการเงินสำหรับภาคประชาชนที่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้ได้มีโอกาสในการฟื้นตัวและกลับมาดำเนินธุรกิจได้อีกครั้ง
นอกจากนี้รัฐบาลจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มอื่น ๆ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน
2.การลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน รัฐบาลจะสนับสนุนให้เกิดการบริหารจัดการราคาพลังงานทั้งค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมในทันที
นอกจากนี้ รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนโครงสร้างการใช้พลังงานของประเทศ โดยวางแผนความต้องการและสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิต และการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เร่งเจรจาการใช้พลังงานในพื้นที่อ้างสิทธิกับประเทศข้างเคียง และสำรวจแหล่งพลังงานเพิ่มเติม รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดการจัดหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ ภายใต้กลไกตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานที่จะขับเคลื่อนประเทศต่อไป
3.ผลักดันการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนการขอวีซ่า และการยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมวีซ่า สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเป้าหมาย การจัดทำ Fast Track VISA สำหรับผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และเพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในช่วงสิ้นปี
และรัฐบาลจะร่วมกับภาคธุรกิจในทุกภาคส่วนเป็นเจ้าภาพจัดงานแสดงสินค้า งานเทศกาลระดับโลก เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นสถานที่สำหรับการจัดงานแสดงต่างๆ ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภูมิภาคนี้
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการทุกขั้นตอนการบริการที่เป็นประตูสู่ประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการปรับปรุงระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยจะปรับปรุงสนามบินและจัดการเที่ยวบินของสนามบินทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพเพิ่มปริมาณเที่ยวบินให้สามารถนำนักท่องเที่ยวมาสู่ประเทศไทยได้มากขึ้น แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และปราบปรามการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ซึ่งการรักษาความปลอดภัยจะสร้างความมั่นใจและความประทับใจกับประเทศไทยในระยะยาว
และ 4. แก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
โดยรัฐบาลจะหารือแนวทางในการทำประชามติที่ให้ความสำคัญกับการทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมออกแบบกฎ กติกาที่เป็นประชาธิปไตย ทันสมัยและเป็นที่ยอมรับร่วมกัน รวมถึงการหารือแนวทางการจัดทำรัฐธรรมนูญในรัฐสภา เพื่อให้ประเทศสามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
และรัฐบาลจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยการฟื้นฟูหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศ เพราะการมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางความคิดและสังคมที่สำคัญของประเทศ เป็นการลงทุนทำให้ประเทศไทยมีหลักนิติธรรมที่น่าเชื่อถือที่ใช้งบประมาณของรัฐน้อยที่สุด แต่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในการพัฒนาประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของนโยบายที่อยู่ในระยะกลางและระยะยาว ในเนื้อหาของคำแถลงได้กล่าวถึงนโยบายอื่นอีกมากมาย ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจตั้งแต่การสร้างรายได้ไปจนถึงขยายโอกาสให้กับประชาชน เช่น นโยบายใช้ทูตหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ, การพัฒนาเศรษฐกิจการค้าที่ถูกกฎหมายตามแนวชายแดน, นโยบายสนับสนุนการสร้างพลังสร้างสรรค์หรือ Soft Power และการปฏิรูปการศึกษา เป็นต้น
ส่วนนโยบายด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ เปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ, ยกระดับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และการผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่ม
ความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น
ที่มาภาพ: สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
อ่านประกอบ