"...หลังจากที่ยื่นรายชื่อ 205,739 รายชื่อให้พรรคเพื่อไทยไปแล้ว ไม่มีความหวังใด ๆ แต่มีความเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ก็จะอ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นไม่เห็นด้วยจึงไม่สามารถทำได้…"
กำลังเป็นที่สนใจของประชาชน หลังกลุ่ม ‘ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ ที่ประกอบด้วยเครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่ม เช่น เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) เป็นต้น เปิดแคมเปญ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ทั้งหมดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ซึ่งเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 เป็นวันสุดท้ายของการเข้าชื่อ สามารถรวบรวมรายชื่อประชาชนได้ 205,739 รายชื่อ
อย่างไรก็ตามการแก้รัฐธรรมนูญมีหลายขั้นตอน สำนักข่าวอิศราได้เรียบเรียงโดยอ้างอิงข้อมูลจากรัฐธรรมนูญ 2560 มีดังนี้
@ แก้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มี 3 ขั้นตอน
ขั้นที่ 1 ขั้นตอนการเสนอ: การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและการเสนอต่อรัฐสภา โดยผู้มีสิทธิเสนอ ได้แก่
- คณะรัฐมนตรี
- สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากกกว่าหรือเท่ากับ 100 รายชื่อขึ้นไป
- ส.ส. ร่วมกับ ส.ว. มากกว่าหรือเท่ากับ 150 รายชื่อขึ้นไป
- ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 คนขึ้นไป
ขั้นที่ 2 ขั้นตอนการพิจารณา: สภาผู้แทนราษฎรประชุมร่วมกับวุฒิสภาพิจารณา แบ่งเป็นสามวาระ ได้แก่
วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ต้องมีเสียงเห็นชอบจาก สส.และสว.รวมกัน มากกว่าหรือเท่ากับ 376 เสียง โดยต้องมีเสียงเห็นชอบของสว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 84 คน
วาระที่ 2 ขั้นพิจารณารายมาตรา หรือขั้นตั้งคณะกรรมาธิการ ต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่าหรือเท่ากับ 376 เสียง แต่ในกรณีที่เป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนของประชาชนที่เข้าชื่อกันได้แสดงความคิดเห็นด้วย เมื่อพิจารณาวาระที่ 2 เสร็จสิ้นต้องรอ 15 วัน แล้วจึงจะพิจารณาวาระที่ 3 ต่อไป
วาระที่ 3 หรือขั้นลงมติเห็นชอบผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญสภาผู้แทนราษฎรประชุมร่วมกับวุฒิสภา ต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่าหรือเท่ากับ 376 เสียง โดยในจำนวนนี้ต้องได้เสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว. หรือ 84 คน และต้องมีเสียง ส.ส. จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกเป็นรัฐมนตรี ประธานสภาหรือรองประธานผู้แทนฯ หรือ ‘ส.ส. ฝ่ายค้าน’ เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน เมื่อมีมติเห็นชอบให้รอไว้ 15 วันและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
ขั้นที่ 3 ขั้นตอนก่อนประกาศใช้: เมื่อได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะ ต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนทูลเกล้าฯ ถวาย ให้มีการทำประชามติ
จากนั้น นายกรัฐมนตรีจึงนำทูลเกล้าเพื่อลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สิทธิ ส.ส.หรือ ส.ว.หรือทั้งสองสภารวมกัน จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของแต่ละสภาหรือของสองสภารวมกันแล้วแต่กรณี กล่าวคือ ส.ส. 50 คน, ส.ว. 25 คน หรือ ส.ส. รวมกับ ส.ว. รวมกัน 75 คน เข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐหรือไม่ หรือเป็นเรื่องที่ต้องทำประชามติก่อนหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างนั้น นายกฯ จะนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไม่ได้
ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้ประกาศนโยบายหลากหลายนโยบาย เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน รวมถึงนโยบายแก้รัฐธรรมนูญ จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนด้วยเช่นกัน
@ ทบทวนความจำ ‘เพื่อไทย’ มีนโยบายทำ ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’
เว็บไซต์พรรคเพื่อไทยระบุรายละเอียดเกี่ยวกับนโยบายแก้รัฐธรรมนูญไว้ดังนี้
แก้รัฐธรรมนูญ ผลักดันให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ขจัดการสืบทอดอำนาจเผด็จการ สร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน
- จัดทำ 'รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน' โดยคงรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและผ่านขั้นตอนการออกเสียงลงประชามติโดยประชาชน
- 'ปฏิรูประบบราชการทั้งระบบ' ให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และมีความโปร่งใส
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อความโปร่งใส คำนึงถึงหลักนิติธรรม “สร้างกระบวนการยุติธรรมที่ซื้อไม่ได้”
- ปรับปรุงยกเลิกกฎหมายทั้งหมดตามความจำเป็นลดกฎหมาย ลดขั้นตอน ลดการใช้ดุลยพินิจ
- กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับองค์กรอิสระต้องมีความเป็นอิสระ มีการคานอำนาจและมีความโปร่งใส
- ปฏิรูปกองทัพเป็นทหารมืออาชีพ ป้องกันการก้าวก่ายแทรกแซงทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความเป็นทหารอาชีพ และแก้ไขกฎหมายยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ให้เข้ารับราชการทหารโดยสมัครใจ
- เสนอกฎหมายป้องกันต่อต้านการรัฐประหาร
- กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดนำร่อง
@ ได้รัฐธรรมนูญใหม่อาจใช้เวลาประมาณ 3 ปี
หลังจากที่กลุ่ม ‘ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ’ รวบรวมชื่อประชาชน จำนวน 205,739 รายชื่อ เสนอให้รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย ดำเนินการจัดทำประชามติที่นำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยกระบวนการที่ประชาชนมีส่วนร่วม พร้อมนำคำถามประชามติที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอมาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้ยืนยันว่า ในฐานะแกนนำรัฐบาล ได้เสนอเรื่องนี้เอาไว้ เราก็จะทำตามเจตนารมณ์ เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย ก็จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.
นายชูศักดิ์ ศิรินิล
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงแนวทางการเริ่มแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยว่า ในครั้งนี้จะต้องสอบถามประชาชนให้ชัดเจนว่า
1. ประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และ 2. จะมีการเลือกตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ อีกทั้งถ้าครม.มีมติให้กกต.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการทำประชามติ ตามกฎหมายต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วัน จากนั้นถ้าทำประชามติผ่าน ครม.หรือพรรคการเมืองต้องนำเสนอร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ซึ่งสาระคือแก้ไข มาตรา 256 ว่าด้วยวิธีแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยกระบวนการ ส.ส.ร. ซึ่งส่วนนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา
“เมื่อกฎหมายนี้ออกมาเสร็จ ก็จะมีการเลือก ส.ส.ร. เมื่อได้ ส.ส.ร.แล้ว ส.ส.ร.ก็จะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คาดว่าระยะเวลากว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปี” นายชูศักดิ์ กล่าว
@ พรรคร่วมรบ.แจงถ้ามีปัญหาก็แก้ได้
นายวิทยา แก้วภราดัย
นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า การจะสนับสนุนนโยบายแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยนั้น ต้องแจ้งให้ทราบก่อนว่าจะแก้ที่จุดใดในรัฐธรรมนูญ ต้องบอกมาก่อน จุดใดที่เป็นปัญหาก็แก้ได้ แต่ต้องมีการพูดคุยกันก่อน
“เพื่อไทยต้องบอกรายละเอียดมาก่อน แล้วทางพรรคจึงจะไปพิจารณา อยากแก้อะไรก็บอกมา มีปัญหาตรงไหน ถ้าไม่ดีก็แก้ได้” นายวิทยากล่าว
@ ไม่มีความหวัง แต่เชื่อว่า ‘เพื่อไทย’ จะแก้รัฐธรรมนูญ
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์
นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า หลังจากที่ยื่นรายชื่อ 205,739 รายชื่อให้พรรคเพื่อไทยไปแล้ว ไม่มีความหวังใด ๆ แต่มีความเชื่อมั่นว่า พรรคเพื่อไทยจะดำเนินการแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามมีความกังวลว่า เมื่อพรรคเพื่อไทยไปจับมือกับพรรคอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ก็จะอ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นไม่เห็นด้วยจึงไม่สามารถทำได้
นายยิ่งชีพ กล่าวอีกว่า ทางพรรคเพื่อไทยบอกว่าจะต้องฟังเสียงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย เพราะฉะนั้นก็เป็นอย่างที่บอกไปในข้างต้น คือ พรรคร่วมรัฐบาลอื่น ๆ เช่น รวมไทยสร้างชาติ ก็คงไม่ได้อยากแก้รัฐธรรมนูญ
“ก็คือไม่มีความเชื่อมั่นว่าการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้จะเป็นไปในทางที่คืนความเป็นประชาธิปไตยและคืนอำนาจให้ประชาชนอย่างแท้จริง” นายยิ่งชีพกล่าว
*******
แม้ว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า จะตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ แต่การจัดตั้ง ส.ส.ร.เป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญดูน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่ไม่ใช่หลักประกันความสำเร็จเพราะต้องขึ้นอยู่กับเจตจำนงที่ชัดเจนของพรรคเพื่อไทยด้วย