สภาผู้บริโภค เรียกร้อง สำนักการโยธากทม.และรับเหมา รับผิดชอบเยียวยาผู้บาดเจ็บ-เสียชีวิต พร้อมให้ตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้างต่างๆ และเปิดช่องทางให้ร้องเรียนผ่าน www.tcc.or.th/
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 11 กรกฎาคม 2566 จากเหตุการณ์โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแยก ถนนอ่อนนุช - ลาดกระบังถล่ม ทำให้คานปูนและเสาก่อสร้างทรุดตัว หล่นทับรถที่โดยสารผ่านไปมาบริเวณถนนอ่อนนุชลาดกระบังได้รับความเสียหาย อีกทั้งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย และบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง นั้น
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค ระบุว่า กรณีดังกล่าวคล้ายคลึงกับเหตุการณ์คานปูนหล่นบริเวณทางด่วนถนนพระราม 2 ฝั่งขาออก เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และเป็นอุบัติเหตุจากการก่อสร้างที่เกิดซ้ำซาก สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภคโดยรวม เพราะผู้บริโภคในฐานะผู้ใช้บริการคมนาคมมีสิทธิได้รับความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนน และเมื่อถูกละเมิดสิทธิต้องได้รับการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช - ลาดกระบัง รวมทั้งบริษัท ธาราวัญ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ บริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างออกมาแสดงความรับผิดชอบชดเชยเยียวยาผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทรัพย์สินต่างๆ และรถยนต์ที่เสียหายทุกคัน
รวมทั้งต้องเร่งตรวจสอบและเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการทางยกระดับต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้กระทรวงคมนาคมออกมาตรการป้องกันระยะยาวในการป้องกันความปลอดภัยในการก่อสร้างโครงการระดับใหญ่อย่างเข้มงวด รวมถึงให้มีการจัดระบบการจราจรและการใช้ถนนที่ไม่สร้างภาระในการใช้เส้นทางคมนาคมของประชาชน เพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของผู้บริโภค
สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความไม่ปลอดภัยจากการก่อสร้าง หรือได้รับความเสียหาย หรือได้รับการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมจากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร้องเรียนออนไลน์กับสภาผู้บริโภค ที่เว็บไซต์ https://www.tcc.or.th/ โดยแนบหลักฐานร้องเรียนเบื้องต้น ดังนี้
1. ภาพถ่ายหรือหลักฐานความเสียหายของรถยนต์และทรัพย์สินต่างๆ 2. ใบเสร็จค่าซ่อม 3. ใบรับรองแพทย์/หลักฐานค่ารักษาพยาบาล (กรณีบาดเจ็บ) 4. รายละเอียดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าเดินทางที่เกิดจาการติดต่อแจ้งความ หรือไปโรงพยาบาล และ 5. สำเนาบันทึกประจำวันจากตำรวจ หรือสามารถโทรศัพท์ปรึกษาได้ที่เบอร์ 02 239 1839 กด 1 ในวันและเวลาทำการ
ทั้งนี้ อุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 เกิดอุบัติเหตุชิ้นส่วนโครงสร้างสะพานกลับรถ ถนนพระราม 2 บริเวณ กม.34 ที่กำลังปิดปรับปรุง พังถล่มลงมาทับรถยนต์ขาเข้ากรุงเทพฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 รายและบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง หากย้อนกลับไปในปี 2559 เมื่อวันที่ 5 มกราคม เกิดเหตุการณ์เครนก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาถล่ม ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและสูญหายกว่า 10 ราย
นอกจากนี้ ยังมีอุบัติเหตุจำนวนมากที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่ได้มาตรฐานการควบคุมการก่อสร้างโครงการระดับใหญ่ในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิได้รับความปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนน
อ่านประกอบ