ชัชชาติ ลงพื้นที่สะพานข้ามแยก ลาดกระบัง ถล่ม เร่งสำรวจคนติดค้างใต้ซาก-ประเมินความปลอดภัยทางวิศวกรรมก่อนรื้อถอนโครงสร้าง ลั่น ต้องมีคนรับผิดชอบ ชี้ ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 เวลา 18.10 น. ศูนย์วิทยุพระราม รับแจ้งจากสถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดกระบัง เกิดเหตุสะพานข้ามแยกที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทรุดตัวถล่ม บริเวณใกล้เคียงโลตัส ลาดกระบัง ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กทม. เจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงและกู้ภัยลาดกระบังกำลังไปที่เกิดเหตุ
เบื้องต้น มีรายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกเศษปูนถล่ม 8 ราย เสียชีวิตในจุดเกิดเหตุ 1 ศพ นอกจากนี้ยังมีรถติดอยู่ในซากปูนอีกจำนวนหลายคัน ทั้งนี้ความเสียหายยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นสร้างความโกลาหลให้กับประชาชนที่พบเห็นเหตุการณ์ และเป็นช่วงเวลาที่คนเลิกงานกำลังเดินทางกลับบ้าน ทำให้มีผู้คนสัญจรไปมาเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่ต้องใช้เครื่องให้แสงสว่าง เพื่อทำการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและเคลื่อนย้ายซากปูนเพื่อค้นหาผู้ที่อาจติดอยู่ในซากปูนบริเวณดังกล่าวต่อไป
สำหรับผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 มี 5 คนมีรายชื่อดังนี้ น.ส.รัชนี นาคทรงแก้ว อายุ 46 ปี นายธนดล คลังจินดา อายุ 47 ปี น.ส.อุไรวรรณ วะเรืองรัมย์ อายุ 38 ปี นายศุภชัย พวงยี่โถ อายุ 15 ปี นายอรัญ สังข์รักษ์ อายุ 24 ปี และนำส่งโรงพยาบาลลาดกระบัง 2 ราย ได้แก่ นายสุนทร สุวรรณทา และนายณัฐพงษ์ มัคยุโสม
ทั้งนี้ โครงการทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ก่อสร้างเป็นทางยกระดับคอนกรีตเสริมเหล็ก ความยาว 2,200 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร 2 ทิศทางในแนวเกาะกลางถนนลาดกระบัง ระยะทางรวม 3.9 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นบริเวณสะพานข้ามคลองหนองคล้า ใกล้กับซอยลาดกระบัง 9/7 ยกระดับข้ามทางเข้าถนนฉลองกรุง สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ข้ามสะพานคลองหัวตะเข้ ตลาดหัวตะเข้ผ่านหน้าโรงพยาบาลลาดกระบัง เข้าแนวเกาะกลางถนนหลวงแพ่งผ่านวัดพลมานีย์ และมีทางลาดลงไปสิ้นสุดโครงการที่บริเวณหน้าสำนักงาน กปน. สาขาสุวรรณภูมิ.
ล่าสุด เวลา 21.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ว่า ขณะนี้ยังคงต้องประเมินสถานการณ์ความปลอดภัยของโครงสร้างก่อน เพราะโครงสร้างได้รับความเสียหายมาก มีความไม่เสถียร อาจมีการพังต่อเนื่องได้ การเข้าพื้นที่ต้องประเมินความปลอดภัยทางวิศวกรรมก่อน ต้องมั่นใจว่าเมื่อเข้าไปจะไม่เสียหายมากขึ้น
โดยช่วงระหว่างก่อสร้างคือจุดอ่อนที่อันตรายที่สุด เนื่องจากคอนกรีตยังไม่แข็งตัว องค์ประกอบแต่ละส่วนของโครงสร้างยังไม่เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะต้องร้อยชิ้นส่วนซึ่งเป็นคอนกรีตมาประกอบกัน เชื่อว่าไม่ใช่เหตุสุดวิสัย ตามหลักการ เหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้น อาจมีความผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างก่อสร้าง เพราะฐานรากมีการลงเสาเข็มลึกถึงชั้นทราย
สำหรับ Launcher คือคาน 1 คาน เคลื่อนไหวได้ ประกอบด้วย ชิ้นส่วนคอนกรีต 20 ชิ้น ต้องใช้ลวดสลิงดึงส่วนประกอบแต่ละชิ้นมาต่อกัน เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เกิดจากความไม่เสถียรระหว่างก่อสร้าง ส่วนจุดที่เสาขาด คาดว่ารับน้ำหนักมากเกินไป
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ เพราะมีการก่อสร้างลักษณะนี้มากมายในกรุงเทพมหานครโดยไม่ต้องปิดพื้นที่ และไม่เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้ ต่อไปต้องคัดเลือกผู้รับเหมาที่มีคุณภาพ เบื้องต้นอาจต้องปิดพื้นที่บริเวณเกิดเหตุ 3-4 วัน และคาดว่าจะรู้สาเหตุภายในคืนนี้
“เป็นเรื่องไม่ควรจะเกิด ต่อไปต้องดูโครงการต่าง ๆ ให้รอบคอบ ดูเรื่องความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก เรื่องนี้คงต้องมีคนรับผิดชอบเพราะไม่ใช่เหตุสุดวิสัย” นายชัชชาติ กล่าว
ปัจจุบัน ได้แต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตลาดกระบัง เป็นผู้บัญชาการเหตุ