"...บันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่าง 8 พรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าว ทำเพื่อสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันระหว่างพรรค ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะ อันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์..."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 เวลา 16.30 น.ที่ห้องบอลลูม โรงแรนคอนราด กทม. แกนนำ 8 พรรคการเมืองเลือกวันครบรอบ 9 ปีรัฐประหารโดย คสช. ร่วมลงนาม MOU เพื่อเตรียมจัดตั้งรัฐบาล นำโดย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทรวมพลัง และพรรคพลังสังคมใหม่ รวม 313 เสียง ส.ส. หลังจากนัดหารือกันตั้งแต่ 15.30 น.ของวันเดียวกัน
ภายหลังการเจรจานานเกือบ 2 ชั่วโมง เมื่อเวลาประมาณ 16.50 น. นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แถลงว่า "ในวันนี้เป็นวันที่สำคัญกับประวัติศาสตร์การเมืองไทย 2-3 นัย คือ ครบรอบวันรัฐประหารเมื่อปี 2557 และเป็นวันที่พวกเราเซ็น MOU ในการจัดตั้งรัฐบาล ถือเป็นวันหมุดหมายที่ดี สะท้อนความสำเร็จของสังคมไทย ที่สามารถเปลี่ยนผ่านกลับมาสู่ระบบประชาธิปไตย ผ่านระบบรัฐสภาอย่างสันติ"
“จุดประสงค์ในการทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล เป็นการรวบรวมวาระร่วมที่เราเห็นตรงกัน และพร้อมจะผลักดันผ่านกลไกของรัฐบาล และรัฐสภา ขณะเดียวกันเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ นี่เป็นจุดประสงค์ เมื่อรวมวาระ ความตั้งใจ การผลักดัน ความรับผิดชอบที่เสนอประชาชนคนไทยทั้งประเทศ” นายพิธา กล่าว
ขณะที่ นายพิธา กล่าวย้ำบนเวทีว่า "บันทึกความเข้าใจร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่าง 8 พรรคร่วมรัฐบาลดังกล่าว ทำเพื่อสร้างพื้นฐานของรัฐบาล และการทำงานร่วมกันระหว่างพรรค ทุกพรรคเห็นร่วมกันว่า ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะ อันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์"
มีรายละเอียดดังนี้
1. ฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนให้เร็วที่สุด โดยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
2. ยืนยันและผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม เพื่อรับประกันสิทธิสมรสสำหรับคู่รักทุกเพศ โดยจะไม่บังคับประชาชนที่เห็นว่าขัดแย้งกับหลักการของศาสนาที่ตนเองนับถือ
4. ผลักดันการปฏิรูประบบราชการ ตำรวจ กองทัพ และกระบวนการยุติธรรม ให้สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย โดยยืดหลักความโปร่งใส ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
4. เปลี่ยนการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ ทั้งนี้ยังคงไว้ซึ่งกำลังทหารในยามศึกสงคราม
5. ร่วมผลักดันกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคำนึงถึงหลักการด้านสิทธิมนุษยชน การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมถึงทบทวนภารกิจของหน่วยงานและการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคง
6. ผลักดันการกระจายอำนาจทั้งในแง่ภารกิจและงบประมาณ เพื่อให้ท้องถิ่นตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ และปราศจากการทุจริต
7. แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันโดยการสร้างระบบและวัฒนธรรมรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐในทุกหน่วยงาน
8. ร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยยึดหลักเพิ่มรายได้ประชาชน ลดความเหสื่อมล้ำ และสร้างระบบเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเป็นธรรม
9. ยกเครื่องกฎหมายเกี่ยวกับการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตของประชาชน เช่น ตัด ลด หรือพักใช้ชั่วคราวซึ่งการอนุมัติ อนุญาตที่ไม่จำเป็น และเป็นอุปสรรคเพื่อปรับปรุงใหม่ ให้ความช่วยเหลือสภาพคล่องทางด้านการเงินและสร้างแต้มต่อให้กับ SME พร้อมกับมุ่งเน้นการเติบโต GDP ของ SME สนับสนุนอุตสาหกรรม และสินค้าไทยให้มีความเข้มแข็ง สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
10. ยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมในทุกอุตสาหกรรม เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยพรรคประชาชาติขอสงวนสิทธิ์ในการไม่เห็นด้วยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยเหตุผลด้านศาสนา
11. ปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ ด้วยการผลักตันกฎหมายปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมแก้ปัญหาแนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐที่ทับซ้อนกับที่ดินของประชาชน รวมถึงการทบทวนคดีที่เป็นผลจากนโยบายทวงคืนผืนป่า
12. ปรับปรุงโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน
13. จัดทำงบประมาณแบบใหม่ โดยเน้นใช้วิธีการจัดงบประมาณฐานศูนย์ (zero-based budgeting)
14. สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชนตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสมและภาระทางการคลังระยะยาว
15. แก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเร่งด่วน
16. นำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษ ผ่านบัญญัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีกฎหมายควบคุมและรองรับการใช้ประโยชน์จากกัญชา
17. ส่งเสริมเกษตรและปศุสัตว์ปลอดภัย คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตส่งเสริมการตลาด ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยี และแหล่งน้ำ สร้างความเข้มแข็งของกลุ่มงเกษตรกรเพื่อวางแผนการผลิตและรักษาผลประโยชน์กษตรกร ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ
18. แก้ไขกฎหมายประมง ขจัดอุปสรรค เยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพประมงให้ยั่งยืน
19. ยกระดับสิทธิแรงงานทุกอาชีพให้มีสภาพการจ้างงานที่เป็นธรรม และได้รับค่าแรงที่เป็นธรรมสอดคล้องกับค่าครองชีพและการเติบโตของเศรษฐกิจ
20.ยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ
21.ปฏิรูประบบการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
22. สร้างความร่วมมือและกลไกภายในและระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นพิษ รวมถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero) โดยเร็วที่สุด
23. ดำเนินการนโยบายการต่างประเทศ โดยการฟื้นฟูบทบาทผู้นำของไทยในอาเชียน ตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะกรอบพหุภาคี และรักษาสมดุลการเมืองระหว่างประเทศของไทยกับประเทศมหาอำนาจ
ทุกพรรคเห็นพ้องกันว่าจะร่วมกันบริหารประเทศด้วยแนวทางการปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ทุกพรรคจะคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองของประชาชนทุกคน
2. ทุกพรรคจะทำงานโดยซื่อสัตย์สุจริต หากมีบุคคลของพรรคใดมีพฤติกรรมทุจริต คอร์รัปชัน ทุกพรรคจะยุติการดำรงตำแหน่งของบุคคลนั้นๆ ทันที
3. ทุกพรรคจะทำงานโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน จริงใจต่อกัน สนับสนุนการทำงานซึ่งกันและกัน โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าผลประโยชน์ของพรรคใดพรรคหนึ่ง
4. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงร่วมฉบับนี้โดยอาศัยอำนาจฝ่ายบริหารของรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนของแต่ละพรรคการเมือง
5. ทุกพรรคมีสิทธิในการผลักดันนโยบายอื่นเพิ่มเติม แต่ไม่ขัดแย้งจากนโยบายในบันทึกข้อตกลงนี้โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติของผู้แทนราษฎรที่สังกัดแต่ละพรรคการเมือง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ในบันทึก MOU ฉบับที่มีการลงนามเป็นทางการ เนื้อหา 23 วาระของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล มีความแตกต่างกับเนื้อหาที่เป็นฉบับร่าง คือ มีการเติมในท่อน “ภารกิจของรัฐบาลทุกพรรคที่จะผลักดันร่วมกันนั้น ต้องไม่กระทบกับรูปแบบของรัฐและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการดำรงอยู่ในสถานะ อันเป็นที่สักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์”
นอกจากนี้ยังมีการตัดข้อ 2. เดิมในฉบับร่างที่ระบุว่า “เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคม ทุกพรรคจะร่วมผลักดันการอำนวยความยุติธรรมในคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมืองผ่านกลไกของรัฐสภา” แต่มาเติมในข้อ 20. ที่ระบุว่า “ยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีคุณภาพ ทั้งการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ” แทน
ส่วนขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาล นับจากนี้เป็นอย่างไร
รัฐบาล พิธา 1 จะถือกำเนิดเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป แบบห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด