สธ.สั่งตั้ง คกก.สอบสวนวินัยร้ายแรง 'หมอสุภัทร' ช่วงเป็น ผอ.รพ.จะนะ ฝ่าฝืนระเบียบกระทรวงการคลัง ปมจัดซื้อ ATK ไม่เกิน 2 ล้านบาท 5 ครั้งเป็นการแบ่งซื้อเวชภัณฑ์ ขัดหลักเกณฑ์จัดซื้อจัดจ้าง แก้ไขสัญญาก่อสร้างอาคารบริการ 8 ชั้น ทำราชการเสียหาย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2566 นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ปฏิบัติหน้าที่แทนปลัด สธ. ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรง โดยหนังสือคำสั่งระบุว่า ด้วย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาล (ผอ.รพ.) (นายแพทย์) ระดับเชี่ยวชาญ สังกัด รพ.สะบ้าย้อย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สงขลา (ขณะนั้นปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่ง ผอ.รพ.จะนะ สสจ.สงขลา) มีกรณีอันมีมูลที่ควรกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
ในเรื่องที่ นพ.สุภัทร ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.รพ.จะนะได้ดำเนินการจัดซื้อและได้สั่งอนุมัติให้จัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์การแพทย์ รายการเวชภัณฑ์ชุดตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในแต่ละครั้งที่มีวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 5 ครั้ง เป็นการแบ่งซื้อเวชภัณฑ์ชุดตรวจ ATK อันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เป็นการปฏิบัติราชการเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้สำหรับบริษัทผู้ขายหรือผู้อื่น และทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง
ได้ดำเนินการสั่งซื้อไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือวิธีการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ไม่รีบรายงานขอความเห็นชอบต่อหัวหน้าหน่วยงานของรัฐเมื่อได้จัดซื้อวัดเวชภัณฑ์ชุดตรวจ ATK ไปแล้ว ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
และกรณีการก่อสร้างอาคารบริการ 8 ชั้น ตามสัญญาเลขที่ 160/2563 ลงวันที่ 14 พ.ย.2562 วงเงิน 80 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าจะนะ กำหนดแล้วเสร็จ 900 วัน กำหนดงวดงาน 23 งวดงาน ซึ่ง นพ.สุภัทร ขณะดำรงตำแหน่ง ผอ.รพ.จะนะ และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการตรวจรับพัสดุ ได้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาจ้างก่อสร้างอาคารบริการ 8 ชั้น ในส่วนงานก่อสร้างทางเชื่อมระหว่างอาคาร 8 ชั้นกับอาคารผู้ป่วยใน และงานลดระดับความสูงชั้นที่ 2-5 ชั้นละ 50 เซนติเมตร เป็นการปฏิบัติราชการเพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้สำหรับบริษัทผู้รับจ้างหรือผู้อื่น และทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง
และได้เสนอให้ดำเนินการจัดซื้อลิฟต์โดยสารพร้อมติดตั้งในขณะที่การก่อสร้างอาคาร 8 ชั้นอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือยังไม่แล้วเสร็จ อันเป็นกันฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 หมวด 6 อันเป็นกรณีมีพยานหลักฐานเบื้องต้น ในเรื่องกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต
อาศัยตามอำนาจตามมาตรา 93 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ประกอบข้อ 15 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน เพื่อสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าว ประกอบด้วยบุคคลดังต่อไปนี้
-
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการ สธ. เป็นประธานกรรมการ
-
นพ.พงษ์ศักดิ์ โสภณ ผอ.รพ.ลำปาง เป็นกรรมการ
-
นพ.อิทธิพล จรัสโอฬาร ผอ.รพ.เจ้าพระยายมราช จ.สุพรรณบุรี เป็นกรรมการ
-
พญ.สมพิศ จำปาเงิน ผอ.รพ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นกรรมการ
-
นายขวัญชัย พาสนยงภิญโญ นิติกรชำนาญการพิเศษ (ด้านวินัย) กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการ
-
น.ส.โนริสา สมานพิกุลวงศ์ นิติกรปฏิบัติการ กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นกรรมการและเลขานุการ
-
น.ส.จินตนา บุตรชน นิติกร กลุ่มเสริมสร้างวินัยและระบบคุณธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
ให้คณะกรรมการสอบสวนพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่กำหนดในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนมาเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป
อนึ่งถ้าคณะกรรมการสอบสวนเห็นว่ากรณีนี้มีมูลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยในเรื่องอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในคำสั่งนี้ หรือกรณีที่การสอบสวนพาดพิงไปถึงผู้อื่นให้ดำเนินการตามข้อ 49 หรือข้อ 50 ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการดำเนินการทางวินัย พ.ศ.2556 โดยอนุโลมแล้วแต่กรณี
สธ.แจงหลังชมรมแพทย์ชนบทพาดพิงปมทุจริตวัคซีน-เอทีเค ชี้อ้างเลื่อนลอย ไร้หลักฐาน
อนึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษก สธ. ให้สัมภาษณ์กรณีเพจชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ประเด็นการเมืองไม่ให้พรรคภูมิใจไทย เข้าร่วมรัฐบาล ว่า แม้จะแสดงความเห็นทางการเมือง แต่มีการกล่าวหาว่ามีการทุจริตเรื่องการจัดซื้อวัคซีนโควิด 19 และการจัดหาเอทีเค ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุข จึงจำเป็นต้องชี้แจงเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดดังนี้
1.การกล่าวหาว่ามีการทุจริตเรื่องวัคซีนโควิด 19 เป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย ไม่มีมูล ประเทศไทยมีหน่วยงานที่ตรวจสอบการทุจริตหลายหน่วยงาน หากมีหลักฐานว่ามีการทุจริตอย่างที่กล่าวหาจริง คงมีการยื่นฟ้องดำเนินคดีไปแล้ว
2.เรื่องประสิทธิภาพการจัดหาวัคซีนและการให้บริการ ที่มีการโจมตีว่าล้มเหลว ข้อเท็จจริงคือ ไทยสามารถให้บริการวัคซีนโควิด 19 ได้ครบ 100 ล้านโดส ตามเป้าหมาย เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิม โดยมีอัตราการเสียชีวิตของผู้ติดเชื้อ ณ ช่วงเวลาที่มีการระบาดใหญ่ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่านานาชาติ และยังมีผลวิจัยว่าลดการสูญเสียชีวิตประชาชนได้กว่า 5 แสนคน ช่วยให้ประชาชนรอดพ้นจากการเจ็บป่วยรุนแรงอีกเป็นจำนวนมาก โดยวัคซีนที่ไทยนำมาใช้ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ต่างยืนยันว่ามีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์จริง นอกจากนี้ ไทยยังได้เป็นฐานการผลิตวัคซีนของ AstraZeneca ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศด้วย
3.เรื่องทุจริตการจัดหา ATK ข้อเท็จจริงคือ ปรากฏหลักฐานว่ามีความพยายามจะล็อกสเปกการจัดซื้อ จนกระทั่งองค์การเภสัชกรรมต้องยื่นเรื่องกับ ปปช. ให้ตรวจสอบ จึงขอยืนยันความโปร่งใสขององค์การเภสัชกรรม 4.การทำงานของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยก้าวข้ามวิกฤตโควิด 19 ด้วยความบอบช้ำน้อยมาก เมื่อเทียบกับทั่วโลก จนได้รับยกย่องให้เป็นประเทศที่มีค่าความมั่นคงด้านสุขภาพสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย เป็นหนึ่งในประเทศที่ WHO ยกให้เป็นต้นแบบการรับมือกับ
โรคระบาด และได้รับการยอมรับจากอาเซียน ให้เป็นที่ตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับ
ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED)
“ขอยืนยันว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ ทำงานอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนบุคลากรที่มีพฤติกรรมไม่โปร่งใส ให้ข้อมูลเท็จทำให้กระทรวงสาธารณสุขได้รับความเสื่อมเสีย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมายแล้ว” นพ.รุ่งเรืองกล่าว