“...ปัญหาหนึ่งของรถเมล์ไทยคือ มีสภาพเก่า บางคันใช้งานมามากกว่า 30 ปี รวมถึงปัญหาอื่นๆที่กลายเป็นความเคยชินไปแล้ว เช่น ปัญหาควันดำ, PM2.5 , เสียงดัง, การขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย น่าหวาดเสียว, รอนาน , ไม่สะอาด ปัญหาการให้บริการ, เสียค่าเดินทางหลายทอด เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่คนกรุงเทพฯเรียกหามาโดยตลอด คือ การเปลี่ยนรถเมล์ใหม่ทั้งหมด และยกระดับการให้บริการให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น...”
‘รถเมล์’ ระบบขนส่งสาธารณะสามัญประจำเมืองที่ประชาชนสัมผัสเป็นสิ่งแรกๆในชีวิตของคนเมืองกรุง
แม้ปัจจุบันเมืองฟ้าอมรจะมีระบบขนส่งสาธารณะให้เลือกใช้มากมาย ทั้งรถไฟฟ้าลอยฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน เรือโดยสารตามคลองต่างๆ หรือวินจักรยานยนต์ ตามจุดแยกย่อยทั่วกรุงเทพฯ แต่รถเมล์ หรือในชื่อทางการ ‘รถโดยสารประจำทาง’ ยังคงเป็นรถโดยสารสาธารณะที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด
อ้างอิงจาก รายงานสถิติประจำปี 2564 ของกลุ่มงานสถิติและวิจัย กองนโยบายและแผนงาน สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ชี้ชัดว่า ประชาชนในกรุงเทพฯ ใช้งานถึง 49.39% รองลงมาจึงเป็นรถไฟฟ้าสายสีเขียว (BTS) 30.18% , รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (MRT) 14.94% และรถไฟฟ้าสายสีม่วง (MRT) 2.75% นอกจากนี้ยังมีข้อมูลของ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ระบุว่า ประชากรทั้งที่มีทะเบียนบ้านและแฝงกว่า 10.9 ล้านคนในกรุงเทพฯ มีการเดินทางมากกว่า 32.6 ล้านเที่ยว (ตั๋ว) ต่อวัน โดยเป็นการเดินทางด้วยรถประจำทางมากกว่า 23 ล้านเที่ยว(ตั๋ว)ต่อวัน
ส่วนข้อมูลผู้โดยสาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ระบุช่วงปีงบประมาณ 2565 (ข้อมูลรวบรวมระหว่างเดือน ต.ค. 2564 - มี.ค. 2565) พบว่า มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเฉลี่ย 543,835 คน/วัน แบ่งเป็นรถเมล์ร้อนวันละ 280,611 คน/วัน และรถแอร์วันละ 263,224 คน/วัน จากข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังใช้รถเมล์เป็นยานพาหนะในการเดินทางสูงมากกว่าโหมดการเดินทางอื่นมาก
ที่มา : สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร
แต่ที่ผ่านมา ปัญหาหนึ่งของรถเมล์ไทยคือ มีสภาพเก่า บางคันใช้งานมามากกว่า 30 ปี รวมถึงปัญหาอื่นๆที่กลายเป็นความเคยชินไปแล้ว เช่น ปัญหาควันดำ, PM2.5 , เสียงดัง, การขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย น่าหวาดเสียว, รอนาน , ไม่สะอาด ปัญหาการให้บริการ, เสียค่าเดินทางหลายทอด เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่คนกรุงเทพฯเรียกหามาโดยตลอด คือ การเปลี่ยนรถเมล์ใหม่ทั้งหมด และยกระดับการให้บริการให้ดีขึ้นกว่าที่เคยเป็น
ย้อนรอยการจัดหารถเมล์ใหม่ ขสมก.
สำหรับ ขสมก. ก่อนหน้านี้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัย พยายามเข็นนโยบายจัดหารถใหม่ กล่าวเฉพาะยุคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่ปี 2557 ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อคราวประชุมวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 ได้มีมติให้ ขสมก.เร่งรัดการจัดซื้อรถโดยสารใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จำนวน 3,183 คัน วงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท ที่เคยวางแผนไว้ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยขอให้ทำให้แล้วเสร็จภายในปี 2558
ซึ่งในเวลาต่อมาแผนการจัดหารถเมล์ใหม่นี้ ก็ถูกบรรจุลงในแผนฟื้นฟูฯด้วย โดยแบ่งในระยะแรก ต้องการเร่งจัดหามาก่อน 489 คัน ในที่สุด บริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด ก็ชนะการประมูลจัดหารถเมล์ทั้ง 489 คันในปี 2559
แต่ต่อมา มีประเด็นบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำเข้าของบริษัทเบสท์ริน ถูกแจ้งว่ากระทำผิดฐานสำแดงแหล่งกำเนิดสินค้าเป็นเท็จตามตามมาตรา 99 และ 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 ทำให้รถเมล์ล็อตที่ต้องรับมอบ 489 คันต้องชะงักลงไป และต้องจัดประมูลใหม่
จนในที่สุดกลุ่มร่วมทำงาน SCN-CHO (Consortium SCN-CHO) ซึ่งมี บริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) หรือ CHO ร่วม กับบริษัท สแกน อินเตอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ SCN เป็นผู้ได้รับงานนี้ไป และได้ทยอยส่งมอบจนครบเมื่อต้นปี 2562
รถเมล์ล็อตที่ถูกกรมศุลกากรสืบจนพบว่า สำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงอากร จนรถต้องจอดทิ้งไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ระยอง จนถึงวันนี้
ขสมก.เปิดโปรเจ็กต์ใหม่ รถเมล์ EV 3,200 คัน
ปัจจุบัน แม้รถเมล์ทั้ง 489 คันจะเข้าประจำการรับใช้ประชาชนแล้ว แต่รถเมล์ทั้งหมดถูกตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการใช้งานแทบจะทันทีที่ออกวิ่ง เพราะในช่วง 1-2 ปีแรก มีข้อร้องเรียนว่า เสียบ่อยครั้งจนผู้บริหารบริษัทเอกชนออกมายอมรับเองว่า เสียบ่อยกว่าปกติจริง
ล่าสุด นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมในฐานะรองประธานกรรมการ ขสมก. เปิดเผยว่า จากแผนฟื้นฟูที่ทำไว้เมื่อปี 2562-2563 ประกอบกับสถานการณ์ของรถเมล์ที่เกิดเหตุไฟไหม้บ่อยครั้ง ทำให้มีความเห็นควรจะปรับแบบการจัดหารถเมล์ใหม่อีกครั้ง โดยปัจจุบัน ขสมก.มีเส้นทางรถเมล์ในมือ 109 เส้นทาง และช่วยเอกชนวิ่งอีก 19 เส้นทาง ทำให้ ขสมก.ต้องวิ่งให้บริการประชาชนอยู่วันละ 19,000 เที่ยว/วัน โดยมีรถเมล์ให้บริการ 2,800 คัน
จากสถานการณ์ข้างต้น จึงเห็นว่าน่าจะปรับแผนการจัดหารถเมล์ใหม่ให้เป็นรถเมล์ EV ทั้งหมด 3,200 คัน ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี จากเดิมมีแผนจัดหารถเมล์อีกประมาณ 2,800 คัน รวมกับ 323 คันที่ปรับสภาพแล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างฝ่ายบริหาร ขสมก. ไปจัดทำข้อมูล เตรียมเสนอคณะกรรมการ ขสมก. และส่งต่อไปยังกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ก่อนจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ
ส่วนจะใช้วิธีซื้อหรือเช่า ยังไม่ได้สรุป ต้องรอคณะกรรมการ ขสมก. พิจารณาร่วมกันก่อน ทั้งนี้ การจัดหารถเมล์ใหม่ดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งของแผนฟื้นฟู ขสมก. ด้วย ดังนั้น การเสนอปรับแผนครั้งนี้ จะเป็นการขอรีไวซ์ข้อมูลนี้ เพื่อนำไปประกอบในแผนฟื้นฟู ขสมก.ด้วย
“คาดว่าใน 2 เดือนจะสรุปข้อมูลเสนอบอร์ดได้ และประกบไปกับแผนฟื้นฟูด้วย เราอยากให้แผนจบเสียที เพราะคนก็เก่า รถก็แก่ และตัวเลขข้อมูลต่างๆมันก็เปลี่ยนไปหมดแล้ว การจัดซื้อรถ EV นี้ หากไม่จัดหาตั้งแต่วันนี้ อนาคตมีเทคโลยีใหม่ๆเข้ามา รถ EV อาจล้าสมัยก็ได้ เพราะบางประเทศก็เริ่มคิดค้นรถที่ใช้ไฮโดนเจนเป็นเชื้อเพลิงแล้ว” นายสรพงศ์ระบุ
สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม
‘EA’ จ้างรถเมล์เอกชน จัดหาอีก 4,000 คัน
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของรถเมล์ฝั่งเอกชน หรือรถร่วม ซึ่งปัจจุบันมี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นผู้กำกับดูแล ทั้งการกำหนดโครงข่ายเส้นทางใหม่, จัดสรรเส้นทางการเดินรถ, กำหนดเงื่อนไขขอรับใบอนุญาต, การคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ, เกณฑ์คนขับรถโดยสารสาธารณะ และการออกใบอนุญาตประกอบการขนส่งใหม่ ตามมติ ครม. เมื่อเดือน กันยายน 2559 โดยมีแผนปฏิรูปรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 269 เส้นทาง แบ่งเป็น ขสมก. 109 เส้นทาง นอกนั้นเป็นเส้นทางในกำกับของ ขบ.ที่จะนำไปจัดสรรหาเอกชนมารับสัมปทาน
ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา มีการนำร่องเอาเส้นทางรถเมล์ของ ขบ. มาประกาศเพื่อให้เอกชนเข้ามาขออนุญาตจำนวน 77 เส้นทาง โดยบริษัทม้ามืดอย่าง บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด คว้าเส้นทางรถเมล์ไปถึง 71 เส้นทาง โดยตามเงื่อนไขของ ขบ. จะต้องจัดหารถเมล์ใหม่อย่าง 758 คันให้ประจำการให้ได้ภายในปลายเดือนตุลาคม 2565 และต้องให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2565 ไทยสมายล์บัสในวันนี้ ถือว่ามีความแข็งแกร่งในด้านการเงินอย่างยิ่ง เพราะมียักษ์ธุรกิจพลังงานอย่าง บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เข้ามาถือหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BYD ที่ส่งบริษัทย่อยอย่างบริษัท เอซ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (ACE) เข้าไปถือหุ้นในไทยสมายล์บัส 100%
สำหรับเป้าหมายการหารถเมล์ใหม่มาประจำการ นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เปิดเผยว่า หากรวมเส้นทางรถเมล์ที่มีในมือ ทั้งของไทยสมายล์บัส 71 เส้นทาง และของสมาร์ทบัสที่เดิมได้รับใบอนุญาตมาประมาณ 52 เส้นทาง รวมแล้วจะต้องหารถมาบรรจุประมาณ 4,000 คัน เงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 3 ปี ซึ่ง EA วางแผนไว้แล้วว่า จะจัดหาเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งเราได้ประเดิมนำร่องไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2565 กับ สาย 8 หรือสาย 2-38 ช่วงแฮปปี้แลนด์ - ท่าเรือสะพานพุทธ จำนวน 40 คัน
ส่วนเรื่องสถานีชาร์จแบตเตอรี่ EA ดำเนินกิจการนี้มาก่อนนานแล้ว ไม่ใช่เรื่องยากมาก โดยสถานีชาร์จแบตเตอรี่รถเมล์ดำเนินการมาแล้ว 6 เดือน มีการทดสอบแล้วระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้น อุปสรรคทางด้านการหาจุดชาร์จจึงไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
ทั้ง ขสมก. และ EA ต่างยืนยันว่า ใน 3 ปี ทั้ง 2 ฝ่ายจะจัดหารถเมล์ใหม่ แถมเป็นรถเมล์ไฟฟ้ามาประจำการให้บริการคนกรุงฯ ไม่เกิน 3 ปีหลังจากนี้ คงต้องติดตามกันว่า ฝันใหญ่ที่จะมีรถเมล์ใหม่ที่สะดวกสบาย ไร้ควันดำ และพร้อมบริการที่ดีจะเกิดขึ้นจริง หรือเป็นอีกฝันที่คน กทม.ยังได้แต่นั่งรอลุ้นกันต่อไป
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)