พรรคร่วมฝ่ายค้าน รวม 171 รายชื่อ ยื่นประธานสภาขอส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปม 8 ปีนายกรัฐมนตรี ‘ประยุทธ์’ พร้อมขอให้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย ป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายในการบริหารราชการแผ่นดิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 พรรคร่วมฝ่ายค้านร่วมลงชื่อ 171 รายชื่อ ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (รธน.) ปี 2560
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในคำร้องนี้มีการให้เหตุผลหลายประการ ทั้งข้อเท็จจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตั้งแต่ 24 ส.ค.2557 ตามพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง มีเหตุผลในเรื่องข้อกฎหมาย และอ้างอิงข้อกฎหมายประกอบไม่ว่าจะเป็นรธน.มาตรา 264 ที่เป็นบทเฉพาะกาลที่ใช้รองรับเป็นการเฉพาะให้กับ ครม.ชุดนี้ รวมถึงพูดถึงการสิ้นสุดตำแหน่งประกอบกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวเนื่องกับการดำรงตำแหน่ง 2 รัฐธรรมนูญ
นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เราเห็นว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งสำคัญในการบริหารราชการแผ่นดิน จึงขอให้ศาลได้มีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นในการใช้อำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน
ทั้งนี้ หากศาลสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่ง ก็มีผลให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ พ้นจากตำแหน่งไปด้วย แต่ยังสามารถเป็น ครม.รักษาการตาม รธน.ได้ เนื่องจากการพ้นจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถรักษาการต่อไปได้มีเพียง 4 กรณี คือ 1.มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 98 2.สามารถพิสูจน์ได้ว่านายกรัฐมนตรีมีความซื่อสัตย์สุจริตไม่เป็นที่ประจักษ์ 3.ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง 4.ทำผิดตามมาตรา 144 เกี่ยวกับการงบประมาณ ส่วนกรณีอื่นยังทำหน้าที่รักษาการต่อไปได้
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะมารักษาการตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำได้กรณีเดียวคือ ศาลสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนมีคำวินิจฉัย ซึ่งเป็นช่วงที่รองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่ง ซึ่งคือ พล.อ.ประวิตร จะเข้ามาทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี
เมื่อถามว่า หากศาลสั่งให้พ้นจากตำแหน่งจะสามารถรักษาการไปจนสภาหมดวาระวันที่ 24 มี.ค.2566 ได้หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กรณีนายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ที่ไม่ได้เกิดจากการยุบสภา ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ตามมาตรา 158 และมาตรา 159 เว้นแต่ว่ารัฐสภาไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ท่านก็มีสิทธิ์รักษาการจนกว่าจะมี ครม.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่
“ฝ่ายค้านเรามั่นใจ ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นศาลที่ใช้ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนารมณ์ รธน.มาประกอบการวินิจฉัย เจตนารมณ์ รธน.เขียนไว้ชัดว่าอยู่ยาว ผูกขาดอำนาจ เกิดวิกฤติการเมือง เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญจะหยิบขึ้นมาดู หากเกิดการอยู่ยาว เกิดกระแสต่อต้าน เกิดความขัดแย้งก็เป็นเหตุผลหนึ่งในข้อเท็จจริงในการประกอบคำวินิจฉัย” นพ.ชลน่าน กล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการยุบสภาวันที่ 22 ส.ค.2565 จะถือเป็นทางเลือกที่ดีหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ยุบสภานั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี แต่เรื่องแรกที่ต้องคำนึงคือ ฝ่ายบริหารกับฝ่ายสภามีข้อขัดแย้งกันหรือไม่ หากฝ่ายสภาไม่มีความผิดหรือมีข้อขัดแย้งจนเป็นเหตุให้บริหารงานไม่ได้ การยุบสภาด้วยเหตุนี้คงยาก แต่หากต้องการรักษาอำนาจอยู่ยาว คือ ไม่มีกฎหมายใช้ในการเลือกตั้ง เพราะอยู่ระหว่างที่ประธานสภาส่งกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ไปให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณา หากมีข้อทักท้วง เมื่อส่งกลับมายังสภา ก็ต้องใช้สภาพิจารณากฎหมายฉบับนี้อยู่ และถ้ามี่สภา กฎหมายก็จะค้างอยู่ไปต่อไม่ได้ กรณีนี้จะเกิดสุญญากาศ อยู่ยาว เสริมแรงต้านให้กับประชาชน เกิดกระแสเรียกร้อง ต่อต้านขึ้นอีก จนนำไปสู่วิกฤติการเมืองตามมา ดังนั้นเชื่อว่าท่านคงไม่ทำ และภาวนาด้วยว่าอย่าให้ทำ
“ขอให้ติดตามช่วง 22-24 ส.ค.นี้ เป็นช่วงวิกฤตของประเทศเรา เป็นช่วงการตัดสินใจที่สำคัญ ขอให้พวกเราช่วยกันเป็นหูเป็นตา นำเสนอในสิ่งที่สังคมได้นำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะข้อเรียกร้อง อย่าอยู่ยาว อย่าใช้อำนาจ อย่าก่อให้เกิดความขัดแย้ง” นพ.ชลน่าน กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ หลังการยื่นหนังสือเสร็จสิ้น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ได้รับหนังสือของผู้นำฝ่ายค้านที่เข้าชื่อครบตามที่กฎหมายกำหนด จากนี้สภาจะรับไปตรวจดูรายชื่อ ซึ่งเป็นขั้นตอนเหมือนการตรวจคำร้องทั่วไป คาดว่าจะสามารถวินิจฉัยได้เร็วอาจจะเสร็จภายใน 1-2 วันนี้และนำส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ทันที