"...ไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสอง แต่พวกเขาดูเหมือนจะมีความสนิทสนมกันมาก ขณะที่ปลัดกระทรวงรายนี้ ก็แจ้งสถานะว่าหย่ากับภรรยาเก่าไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่นักธุรกิจชื่อดังรายนี้ มอบของขวัญเป็นกระเป๋าหรูมูลค่าเป็นแสนบาทให้กับหญิงสาวรายนี้ ที่ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปลัดกระทรวงฯผู้นี้ จะถือเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนกฏหมายทรัพย์สินข้อใดของ ป.ป.ช.หรือไม่ โดยเฉพาะกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท... "
ท่าทีและการแสดงออกของปลัดกระทรวงปริศนารายหนึ่ง ณ ร้านอาหารหรูในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
กำลังถูกจับตามอง!
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งเบาะแสจากคนในโลกออนไลน์ เกี่ยวกับคลิปวิดีโอของ ยูทูปเบอร์สาวรายหนึ่ง ที่บันทึกเรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวจากปารีส มาลอนดอน ซึ่งถูกเผยแพร่ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565
ปรากฏภาพปลัดกระทรวงปริศนารายนี้ ร่วมคณะไปนั่งรับประทานอาหาร ณ ร้านอาหารหรูในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
โดยมีหญิงสาวรายหนึ่งนั่งเคียงข้าง และมีนักธุรกิจไทยชื่อดังนั่งร่วมโต๊ะอาหารด้วย
หลังจากนั้น นักธุรกิจรายนี้ ได้นำกระเป๋ายี่ห้อคริสเตียนดิออร์ รุ่น MEDIUM DIOR BOOK TOTE มามอบให้กับหญิงสาวรายนี้ เพื่อแสดงความยินดีคล้ายการจัดงานฉลองวันเกิดให้ (ดูภาพประกอบ)
ก่อนที่ ปลัดกระทรวงปริศนารายนี้ จะเข้าไปร่วมแสดงความยินดีกับหญิงสาวด้วยการการโอบ กอดคอ และถ่ายภาพร่วมกัน
"ไม่แน่ใจเกี่ยวกับสถานะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลทั้งสอง แต่พวกเขาดูเหมือนจะมีความสนิทสนมกันมาก ขณะที่ปลัดกระทรวงรายนี้ ก็แจ้งสถานะว่าหย่ากับภรรยาเก่าไปแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่นักธุรกิจชื่อดังรายนี้ มอบของขวัญเป็นกระเป๋าหรูมูลค่าเป็นแสนบาทให้กับหญิงสาวรายนี้ ที่ดูเหมือนจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับปลัดกระทรวงฯผู้นี้ จะถือเป็นเรื่องที่ฝ่าฝืนกฏหมายทรัพย์สินข้อใดของ ป.ป.ช.หรือไม่ โดยเฉพาะกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท " แหล่งข่าวระบุ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ภายหลังได้รับทราบข้อมูลได้ตรวจสอบข้อมูลกระเป๋าคริสเตียนดิออร์ รุ่น MEDIUM DIOR BOOK TOTE ดังกล่าว พบว่า มีราคาอยู่ที่ 3,000 ฟรังก์สวิส หรือตีค่าเป็นเงินไทยอยู่ที่ 110,577.69 บาท
ส่วนข้อมูลทางกฎหมายนั้น จากการตรวจสอบพบว่า ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ระบุว่า ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคํานวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุพการี ผู้สืบสันดานหรือญาติที่ให้ตามประเพณีหรือตามธรรมจรรยาตามฐานานุรูป
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2563 ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2563 จำนวน 9 ข้อ บังคับกับผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วไม่ถึงสองปีด้วย ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สาระสำคัญ
ข้อ 4 ในประกาศนี้
“การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา” หมายความว่า การรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากบุคคลที่ให้กันในโอกาสเทศกาลหรือวันสาคัญ และให้หมายความรวมถึง การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ในโอกาสการแสดงความยินดี การแสดงความขอบคุณ การต้อนรับ การแสดงความเสียใจ หรือการให้ตามมารยาท ที่ถือปฏิบัติกันในสังคมด้วย
“ญาติ” หมายความว่า พี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน ลุง ป้า น้า อา คู่สมรส ผู้บุพการีหรือผู้สืบสันดานของคู่สมรส บุตรบุญธรรมหรือผู้รับบุตรบุญธรรม
“ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้” หมายความว่า สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
ข้อ 5 ห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้นอกเหนือจากการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
ข้อ 6 เจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ ดังต่อไปนี้
(1) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดซึ่งมิใช่ญาติที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาท
(2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
ข้อ 7 การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมีราคาหรือมีมูลค่ามากกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 6 ซึ่งเจ้าพนักงานของรัฐได้รับมาโดยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับไว้เพื่อรักษาไมตรี มิตรภาพ หรือความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นต่อหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบัน หรือองค์กรที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสิ่งนั้นไว้ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และสมควรที่จะให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นไว้เป็นสิทธิของตนหรือไม่
ในกรณีที่หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบัน หรือองค์กรที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัด มีคำสั่งว่าไม่สมควรรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าว ก็ให้คืนทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นแก่ผู้ให้โดยทันที ในกรณีที่ไม่สามารถคืนให้ได้ ให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นส่งมอบทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าวให้เป็นสิทธิของหน่วยงานที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดโดยเร็วเมื่อได้ดาเนินการตามวรรคสองแล้ว ให้ถือว่าเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นไม่เคยได้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดดังกล่าว
ในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้า ส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า หรือเป็นกรรมการหรือผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือกรรมการหรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นต่อผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่ไม่มีผู้บังคับบัญชาที่มีอานาจถอดถอนให้แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทั้งนี้ เพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
ในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ดำรงตาแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ให้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นเป็นสมาชิก แล้วแต่กรณี เพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
ในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้ได้รับทรัพย์สินไว้ตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่นรองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้แจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นต่อผู้มีอานาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง
ข้อ 8 หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ของเจ้าพนักงานของรัฐตามประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วไม่ถึงสองปีด้วย
ประกาศฉบับนี้แจ้งเตือน เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 128 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน หกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/A/020/T_0017.PDF
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับพฤติการณ์ท่าทีและการแสดงออกของปลัดกระทรวงปริศนารายหนึ่งที่ร้านอาหารหรูกรุงลอนดอน กับ กฎหมาย ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการรับ‘ของขวัญ’เกิน 3,000 บาท
ส่วนกรณีนี้ จะเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายข้อใดของ ป.ป.ช. หรือไม่
คงต้องรอฟังความเห็นเป็นทางการจาก ป.ป.ช.อีกครั้ง