‘สันติ’ ร่ายยาวไทม์ไลน์ประมูลท่อส่งน้ำอีอีซี ม.เกษตรฯ ในฐานะที่ปรึกษาแนะใช้วิธีคัดเลือก เผย ‘บิ๊กตู่’ สั่งตั้งกรรมการสอบจนกว่าจะหายเคลือบแคลงสงสัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.พ.ค.2565 สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาทเป็นวันที่สาม ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ โดยมีกำหนดการพิจารณาระหว่างวันที่ 31 พ.ค. – 2 มิ.ย.2565
เมื่อเวลา 15.45 น. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ โครงการท่อส่งน้ำอีอีซี มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ถึงเหตุผลว่าทำไมถึงไม่ใช้การประมูลแบบทั่วไป และไม่เชิญบริษัทรายใหญ่เข้าร่วมการประมูล ว่า เรื่องนี้ได้ตอบไปแล้วว่า บริษัทรายใหญ่ที่พูดถึงทำแต่ก่อสร้าง ไม่ได้ทำเรื่องท่อน้ำโดยตรง ส่วนบริษัทลูกก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้กรมธนารักษ์ใช้วิธีจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่ราชพัสดุเป็นตัวกำกับการทำงาน
ต่อข้อถามที่ว่าเหตุใดจึงมีการคัดเลือกในวันที่อธิบดีกรมธนารักษ์จะเกษียณอายุราชการ นายสันติ ตอบว่า อันนี้คงกำหนดไม่ได้ และไม่ได้คิดถึงว่าท่านจะเกษียณอายุในปีนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ทราบมาตั้งแต่ต้น
นายสันติ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่บอกว่า บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ที่แพ้การประมูลเป็นบริษัทใหญ่โตมโหฬาร ส่วนบริษัทที่ชนะอย่าง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด มีตึกไม่ใหญ่ ก็กราบเรียนไปแล้วว่า ศักยภาพหรือความรู้ความสามารถในการทำงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับตึก แต่ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถในการทำงาน
นายสันติ กล่าวต่อด้วยว่า เหตุผลที่โครงการนี้ไม่ได้ใช้วิธีประมูลทั่วไป เนื่องจากโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี เป็นกิจการโครงสร้างพื้นฐานและการบริการสาธารณะที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอีอีซี การที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดนั้น กรมธนารักษ์จึงได้จ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นที่ปรึกษาเพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางและการกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนในการให้เอกชนเข้ามาเช่าบริหารระบบท่อส่งน้ำ
ดังนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีข้อเสนอแนะในแนวทางเอยากให้ใช้วิธีคัดเลือกในการหาผู้มาร่วมทุนโครงการบริหารจัดการท่อส่งน้ำในครั้งนี้ โดย พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างที่ราชพัสดุ ให้ทำได้ 3 วิธี คือ 1.ประมูลโดยทั่วไป 2.ใช้วิธีคัดเลือก 3.วิธีจำเพาะเจาะจง ดังนั้นเมื่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ลงไปตรวจสอบดูถึงความจำเป็น ในการที่จะต้องได้ผู้บริหารจัดการเช่าและบริหารจัดการน้ำ จึงให้ใช้วิธีคัดเลือกผู้ประมูล
ทั้งนี้ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเลือกเอกชนถึง 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เป็นการประกาศเชิญชวนทั่วไป จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 มี.ค.2564 ที่ จ.ระยอง ประกอบด้วยประชาชนทั่วไป ผู้แทนองค์กร องค์การภาครัฐ สมาคมเอกชน และเชิญชวนบริษัททั่วไป
ครั้งที่ 2 ทำ market sounding ประกอบไปด้วยเอกชน 5 รายที่มาร่วมประชุม คือ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด , บมจ.อีสวอเตอร์ , บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด , บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และการประภาส่วนภูมิภาค นอกจากนี้ยังมีอีก 2 บริษัทที่ยื่นข้อเสนอมาว่าอยากจะขอเข้าร่วมด้วย คือ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท Wiik
ท้ายที่สุด กรมธนารักษ์ จึงได้เปิดให้บริษัทเสนอตัวเข้ามา ปรากฏว่ามี 5 บริษัทที่เลือกเข้ามา คือ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด , บมจ.อีสวอเตอร์ , บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด , บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท Wiik ส่วนการประภาส่วนภูมิภาค แจ้งว่าไม่ประสงค์จะเข้าร่วมเพราะติดข้อจำกัดทางด้านกฎหมายขององค์กร
การคัดเลือกครั้งแรกมี 3 บริษัท ยื่นซอง คือ บมจ.อีสวอเตอร์ , บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และ บริษัท Wiik
นายสันติ กล่าวอีกว่า ตามที่นายยุทธพงศ์ พูดถึงว่า อีสวอเตอร์ยื่นข้อเสนอครั้งแรก ยื่นการให้ผลประโยชน์ 6,000 ล้านบาทจากปริมาณน้ำที่ 350 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี ในขณะที่บริษัทวงษ์สยาม เสนอผลประโยชน์ประมาณ 6,000 ล้านบาท แต่จากปริมาณน้ำ 150 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เป็นเหตุให้เกิดการยกเลิก เนื่องจากคณะที่ปรึกษาซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิเคราะห์และตรวจเช็คการไหลของน้ำของท่อกรมธนารักษ์ทั้ง 3 ท่อ พบว่า 1 ปี ความจุสูงสุดคือ 150 ล้าน ลบ.ม. แต่ตอนเขียนทีโออาร์ ไม่ได้ใส่จำนวนน้ำว่าความจุสูงสุดเท่าไร จึงจำเป็นต้องยกเลิกทีโออาร์
“บริษัทวงษ์สยามเสนอมาที่ความจุ 150 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอีสวอเตอร์เสนอความจุ 350 ล้าน ลบ.ม. ถ้าใช้ความจุเดียวกันคือ 150 ล้าน ลบ.ม. จะเท่ากับว่า อีสวอเตอร์เสนอยื่นการให้ผลประโยชน์แค่ 3,000 ล้านบาทด้วยซ้ำไป ดังนั้นคณะกรรมการเห็นว่า ถ้าให้ใครก็แล้วแต่มันก็จะมีปัญหา ไม่มีความเป็นธรรม เพราะทีโออาร์ไม่สมบูรณ์ เมื่อเป็นดังนั้นจึงได้ประชุมกัน เสร็จแล้วก็ยกเลิก” นายสันติ กล่าว
นายสันติ กล่าวด้วยว่า เมื่อยกเลิกการประมูลแล้ว กรรมการหลายท่านแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก จึงทราบว่าอธิบดีต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้าไป เพื่อดำเนินการประมูลครั้งที่ 2 และต้องเรียนว่า บริษัทอื่น แจ้งไปยังคณะกรรมการอีอีซีว่า ถ้าได้บริษัทที่ไม่มีความสามารถ หรือมีความสามารถแต่จะค้ากำไรเกินควร เก็บค้าน้ำไม่มีจำกัดจะทำอย่างไร ท้ายที่สุด คณะกรรมการชุดใหม่ก็บอกว่า เดิมทีอีสวอเตอร์ เก็บค่าน้ำ ลบ.ม.ละ 12-21 บาท ดังนั้นครั้งนี้คณะกรรมการจึงกำหนดให้บริษัทที่ชนะการประมูล สามารถเก็บค่าน้ำได้สูงสุดคือ 10.98 บาท ดังนั้นเมื่อตัวเลข 150 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี การเก็บค่าน้ำสำหรับผู้ใช้น้ำไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม โรงแรม โรงกลั่น หรือครัวเรือน จะใช้เรทราคา 10.98 บาท เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค
การประกวดราคาครั้งที่ 2 อีสวอเตอร์ เสนอราคาตามมาตรฐานเดียวกัน 24,000 กว่าล้านบาท และบริษัทวงษ์สยาม เสนอมา 25,600 กว่าล้านบาท และขณะนี้กำลังพิจารณาอยู่
นายสันติ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ดี นายยุทธพงศ์ได้ประกาศจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง ทำให้ประชาชนเกิดความเคลือบแคลง ไม่สบายใจ จึงต้องกราบขอบคุณนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ไปตรวจสอบ ดูให้รอบคอบ จึงได้ปรึกษา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง และนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ หลังจากตรวจสอบแล้วทุกอย่างโปร่งใส ขั้นตอนการเปิดประมูลครั้งนี้ถูกต้องทุกขั้นตอน และตรวจสอบเรื่องปริมาณน้ำต่างๆ ที่มีปัญหาอยู่นั้น ให้เกิดความรอบคอบ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วค่อยมาดำเนินการขั้นตอนต่อไป
'สุชาติ'แจงนโยบาย พปชร.ขึ้นค่าแรง 400-425 บาททำได้แน่นอน ถ้าไม่เจอโควิด
เมื่อเวลา 12.00 น. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า ในช่วง 2 วันที่ผ่านมามี ส.ส.พูดถึงนโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง 400-425 บาท ทั้งนี้อยากให้ดูไทม์ไลน์การขึ้นค่าแรงของรัฐบาลในอดีตที่ประกาศขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศเมื่อปี 2554 แต่ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ทันที
ปี 2554-2555 ไทยเจอน้ำท่วมใหญ่ นายจ้างก็มีความยากลำบากคล้ายๆกับวันนี้ที่เจอโควิด จนปี 2556 ถึงจะการขึ้นค่าแรงได้สำเร็จ แต่ผลการศึกษาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ทุกคนวิตกกังวลเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรง อาทิ นิด้าโพล เผยสำรวจความเห็นประชาชนพบว่า ช่วงขึ้นค่าแรง 300 บาท ผลเสียคือทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคปรับราคาสูงขึ้น ธุรกิจผู้ประกอบการขาดทุน เลิกกิจการ อัตราว่างงานเพิ่มขึ้น นายจ้างปลดพนักงาน จ้างแรงงานต่างด้าวมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก ส่วนทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทำให้ของแพง ต่างด้าวแย่งงานคนไทย ข้อสรุปก็คือ เมื่อปรับค่าแรงทันที ไม่เพิ่มจำนวนพนักงาน ลดจำนวนพนักงานลง ย้ายฐานการผลิต ปิดกิจการ
นายสุชาติ กล่าวย้ำว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้น แม้ว่าจะไม่ได้มีการปรับขึ้นค่าแรง แต่ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือแรงงานเพิ่ม 13 สาขา และจะเพิ่มอีก 16 สาขาในปี 2565 รวมแล้วอัตราค่าแรงของกลุ่มที่มีทักษะฝีมือแรงงาน 112 สาขา อัตราค่าแรงอยู่ที่ 345-855 บาท
นอกจากนั้น ช่วงที่ไทยเจอโควิดระบาด ผู้ประกอบการใช้สิทธิ์ตามมาตรา 75 ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เพื่อจ่ายค่าแรง 75% แต่ไม่ต้องทำงาน ปี 2563 มีการใช้สิทธิ์นี้ 2.1 ล้านครั้ง ปี 2564 เราได้วัคซีนการใช้สิทธิ์เหลือ 5 แสนครั้ง และตอนนี้ปี 2565 เหลือ 9 หมื่นกว่าครั้ง นี่คือจุดเริ่มต้นที่เราจะเริ่มในการปรับค่าแรงได้
“ผมย้อนกลับไปปี 2563 ถ้าเพื่อนสมาชิกเป็นผม ท่านสามารถปรับค่าแรง โดยทำร้ายผู้ประกอบการ ท่านทำลงหรือครับ จะเป็นตราบาปทั้งชีวิต ท่านปรับไป เขาปิดกิจการ ลูกจ้างตกงาน ทุกสิ่งจะโกลาหลกันหมด” นายสุชาติ กล่าว
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า เมื่อเดือน ก.ค.2564 ได้ประชุมคณะกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ไตรภาคี ให้นโยบายไป ได้ข้อสรุปว่า ควรพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อสถานการณ์แพร่ระบาดเข้าสู่ภาวะปกติหรือคลี่คลายหรือเศรษฐกิจฟื้นตัว เหมือนเช่นวันนี้เปิดประเทศ การจ้างเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ฝ่ายนายจ้างก็เห็นด้วย ฝ่ายลูกจ้างก็เห็นด้วย
สำหรับไทม์ไลน์ขณะนี้ ไตรภาคีจังหวัดจะประชุมเดือน มิ.ย.2565 เพื่อจัดทำข้อเสนอต่างๆ ส่งให้กระทรวงแรงงานช่วง ก.ค.-ส.ค.2565 จากนั้นคณะกรรมการค่าจ้างประชุมพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างเดือน ก.ย.2565 เสนอให้ ครม.เห็นชอบเพื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ช่วงเดือน ต.ค. มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2566
นายสุชาติ กล่าวย้ำว่า ช่วงโควิดระบาดแม้ว่าจะไม่ได้ปรับขึ้นค่าแรง แต่รัฐบาลพยายามเยียวยาประชาชนต่อเนื่อง อาทิ ทำโครงการ ม33 เรารักกัน , เยียวยา 9 ประเภทกิจการที่ถูกล็อกดาวน์ 29 จังหวัด เป็นต้น ทั้งนี้ยืนยันว่าปีนี้ปรับขึ้นค่าแรงแน่นอน ส่วนจะขึ้นเท่าไร ต้องเป็นตัวเลขที่ตอบคำถามนายจ้างทั้งหลายให้ได้ เพราะถ้าเขาอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้
“เรื่องขึ้นค่าแรง 400-425 บาทของพรรคพลังประชารัฐ ทำได้แน่นอนครับ ถ้ามันไม่เกิดโควิด เพราะมันขึ้นปีละ 6-7% เอง อย่างไรก็ทำได้ สื่อถามผมว่าเรื่องค่าแรงจะเอาอย่างไร ถ้าผมเป็นนักการเมืองที่ไม่เห็นแก่ประเทศในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ขึ้นไม่ยากหรอกครับ แต่ถ้าขึ้นไปแล้วทำลายประเทศหรือไม่ แล้วใครจะมาลงทุน” นายสุชาติ กล่าว
'ยุทธพงศ์'ฉะ ทร.ซื้อ UAV แพงเกินราคา จี้'สันติ'ตอบปมท่อส่งน้ำอีอีซี
เมื่อเวลา 10.00 น. นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก หรือ โครงการท่อส่งน้ำอีอีซี มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท ที่พบความไม่โปร่งใสการเปิดประมูล โดยเฉพาะกรณีที่มีการคัดเลือกเอกชนจนได้ผู้ชนะในรอบแรก แต่สุดท้ายกลับมีการยกเลิก จนการคัดเลือกรอบใหม่ได้เอกชนอีกรายแทน ทำให้ไม่มั่นใจว่ากรมธนารักษ์ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้จะบริหารงานโปร่งใสหรือไม่
นายยุทธพงศ์ กล่าวย้ำว่า ตนไม่ได้เป็นตัวแทนของ บมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (EASTW) หรือ อีสท์วอเตอร์ ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก และไม่ได้เป็นตัวแทนของ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบที่สอง แต่ขอทำหน้าที่ ส.ส.ปกป้องผลประโยชน์ให้ประเทศชาติ เรื่องนี้มีคำถามอยู่ว่า ทำไมโครงการนี้จึงไม่ใช้วิธีการเปิดประมูลทั่วไป เพื่อให้บริษัทใหญ่ๆระดับประเทศเข้ามาร่วมประมูล แต่กลับไปใช้วิธีคัดเลือกเฉพาะบางบริษัท เรื่องนี้อยากให้ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะผู้รับผิดชอบ ต้องชี้แจง พูดให้ถูก และพูดให้รู้เรื่องด้วย
อย่างไรก็ตาม นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า ถ้าผู้เกี่ยวข้องยังไม่ทำเรื่องนี้ให้โปร่งใส ไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับแผ่นดิน ในช่วงกลางเดือน ก.ค.ตนจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจผู้เกี่ยวข้อง 3 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะประธานอีอีซี , นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ และ นายสันติ ที่ได้รับมอบอำนาจให้เป็นประธานคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ขณะเดียวกัน ก็จะยื่นเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตรวจสอบคณะกรรมการที่ราชพัสดุทั้ง 6 คน ที่ยกเลิกการคัดเลือกในรอบแรก เพราะเรื่องนี้มีข้อครหาว่าไม่โปร่งใส
นายยุทธพงศ์ ยังอภิปรายถึงงบประมาณในส่วนของกองทัพเรือ ที่มีคำขอ 40,323 ล้านบาทใกล้เคียงกับปีก่อน พบว่ามีการตั้งงบประมาณไม่เหมาะสมหลายเรื่อง เช่น การจัดซื้อเรือดำน้ำจีนรุ่น S26-T แต่ไม่มีเครื่องยนต์ และพบว่าปีนี้จะซื้อ UAV หรืออากาศยานไร้คนขับรุ่น Hermes 900 จำนวน 3 ลำ วงเงิน 4,070 ล้านบาท ราคาเฉลี่ยลำละ 1,340 ล้านบาท แต่รุ่นนี้กองทัพอากาศของฟิลิปปินส์ซื้อเพียงลำละ 340 ล้านบาท เท่ากับเราซื้อแพงกว่าเขาลำละ 1,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าการใช้จ่ายงบประมาณเต็มไปด้วยความไม่โปร่งใสเช่นกัน
ส่วนกองทัพอากาศ มีคำของบประมาณ 36,113 ล้านบาท พบการขอจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ F-35A ที่เป็นการซื้อเฉพาะเครื่องเปล่า ไม่มีอาวุธ วงเงิน 2,700 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายในการบิน 1.2 ล้านบาทต่อชั่วโมง แต่เมื่อเทียบกับเครื่องบิน F16 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่าย 2 แสนบาทต่อชั่วโมง ทำให้พบความไม่คุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณครั้งนี้
“พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกอะไร ในวันที่คนไทยกำลังอดอยาก จะเลือกความหิวโหยของประชาชน หรือจะเลือกเรือดำน้ำจีนที่ไม่มีเครื่องยนต์ โดรนด้อยคุณภาพ และเครื่องบินที่ไม่มีอาวุธ คนเป็นนายกรัฐมนตรีต้องตัดสินว่าจะเลือกอะไร” นายยุทธพงศ์ กล่าว
นายยุทธพงศ์ ยังเปิดเผยข้อมูลที่อ้างว่ามีการซื้อขายตำแหน่งในกรมทรัพยากรน้ำ ด้วยว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2565 มีการเปิดสอบคัดเลือกผู้อำนวยการระดับซี 9 จำนวน 2 ตำแหน่ง คือ ผู้ตรวจราชการกรม และ ผู้อำนวยการสำนัก ด้านวิศวกรรมระดับสูง สำนักอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งน้ำ ซึ่งข้าราชการน้ำดีก็ไปสอบตามคุณสมบัติ ตามความอาวุโส แต่กลับพบว่ามาบุคคลลึกลับชื่อ ‘เฮีย ซ.’ โทรศัพท์เรียกรับเงิน 8 หลัก แต่ข้าราชการไม่ยอมจ่าย ทำให้การคัดเลือกถูกเลื่อนออกไป จนปัจจุบันยังไม่มีการแต่งตั้งตำแหน่งดังกล่าว