ดีเอสไอ ตรวจค้นตัดวงจรเครือข่ายขบวนการจัดฮั้วประมูลในพื้นที่ 3 จังหวัดอีสาน บุรีรัมย์ อุดรธานี ศรีสะเกษ กรณีจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์ วงเงินกว่า 67.7 ล้าน หลังได้รับเบาะแสแจ้งพฤติการณ์สมยอมราคา พบบัญชีธนาคารผู้เกี่ยวข้องหลายรายมีวงเงินหมุนเวียนกว่าสองร้อยล้าน - สั่งยึดอายัดเอกสารหลักฐานตรวจสอบขยายผลต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และพันตำรวจตรี ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอกสุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พร้อมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าตรวจค้นเป้าหมาย จำนวน 4 เป้าหมาย ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดศรีสะเกษ
ในคดีพิเศษที่ 53/2564 กรณี การฮั้วประมูลประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน วงเงินงบประมาณรวม 67,709,000 บาท ซึ่งมีมูลเป็นความผิดฐานตกลงร่วมกันในการเสนอราคา เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะให้ประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้มีสิทธิทำสัญญา กับหน่วยงานของรัฐโดยหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม หรือโดยการกีดกัน มิให้มีการเสนอสินค้าหรือบริการอื่นต่อหน่วยงานของรัฐ หรือโดยการเอาเปรียบแก่หน่วยงานของรัฐ อันมิใช่เป็นไปในทางการประกอบธุรกิจปกติ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 มาตรา 5
พฤติการณ์ในคดีนี้ สืบเนื่องจากมีภาคเอกชน และประชาชน แจ้งเบาะแสมายังกรมสอบสวน คดีพิเศษ ว่ามีกลุ่มขบวนการจัดฮั้วประมูลในระบบประกวดราคาด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e - bidding โดยจัดฮั้วประมูล ในโครงการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์ในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวนหลายโครงการ มีข้อพิรุธ คือ กลุ่มนิติบุคคลในขบวนการที่เป็นผู้ชนะการเสนอราคา สามารถทราบข้อมูลเกี่ยวกับหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของผู้ซื้อเอกสารประกวดราคา ผู้ยื่นเสนอราคาเกือบทุกราย และมีการติดต่อให้สมยอมราคา ถ้าไม่เข้าร่วมสมยอมราคา กลุ่มนิติบุคลในเครือข่ายก็สามารถชนะการประกวดราคาได้ โดยจะเสนอราคาเป็นรายสุดท้าย และ ต่ำกว่ารายที่เสนอราคาต่ำสุดเพียงเล็กน้อย
ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมของคณะพนักงานสอบสวน คดีพิเศษ พบพฤติการณ์ดังกล่าวในหลายโครงการ โดยตรวจสอบจากข้อมูลการติดต่อสื่อสาร การทำธุรกรรมทางการเงิน และร่องรอยพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้ขอหมายค้นต่อศาลอาญา เพื่อเข้าตรวจค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมในการเชื่อมโยงหาเครือข่ายขบวนการในการฮั้วประมูล และใช้ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
ผลการตรวจค้นพบ บัญชีธนาคารของผู้เกี่ยวข้องจำนวนหลายราย มีวงเงินหมุนเวียนกว่าสองร้อยล้านบาท เอกสารเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการไปรษณีย์ฯ ที่เกี่ยวข้องและเอกสารในโครงการอื่นๆ รายชื่อผู้ร่วมดำเนินการ/เอกสารหลักฐานการรับ - จ่ายเงิน ค่าฮั้วประมูล ข้อมูลเอกสารคู่เทียบงานประกวดราคาโครงการต่าง ๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการยึด/อายัด เพื่อนำมาตรวจสอบและจะเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคล/นิติบุคคล ผู้กระทำความผิด โดยจะมีการขยายผลต่อไป