ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด แนวโน้มอยู่ช่วงขาขึ้น ชี้หากผ่อนคลายมากขึ้น ผู้ติดเชื้ออาจพุ่ง คาดกลางเดือน เม.ย.ติดเชื้อรายวัน 4-5 หมื่น ก่อนลดต่ำในปลายเดือน พ.ค. พร้อมเผยอัตราครองเตียง ส่วนใหญ่ยังไม่เกิน 50%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถาการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค คาดการณ์สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ขณะนี้อยู่ในแนวโน้มขาขึ้น หากประชาชนคงมาตรการป้องกันตัวตามการเตือนภัยสาธารณสุขระดับ 4 เช่น อยู่ห่าง ล้างมือ ไม่ไปในสถานที่แออัด จะสามารถคงจำนวนผู้ติดเชื้อให้อยู่ในกราฟเส้นสีเหลือง ติดเชื้อวันละ 4-5 หมื่นคน
"แต่หากผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น ตัวเลขผู้ติดเชื้ออาจพุ่งขึ้นไปถึงเส้นสีแดง ในช่วงกลางเดือน เม.ย. 2565 จะมีผู้ป่วยถึงหลักแสนคน และคาดว่าการระบาดระลอกนี้จะลดลงต่ำสุดในช่วงปลายเดือน พ.ค.2565" พญ.สุมนีกล่าว
สำหรับการระบาดระลอกเดือน ม.ค. 2565 เป็นสายพันธุ์โอไมครอน มีผู้ป่วยปอดอักเสบน้อยลงกว่าระลอกที่ผ่านมา ซึ่งการระบาดของเดลตาเฉลี่ย 5,000 รายต่อวัน ส่วนการระบาดของโอไมครอนเฉลี่ย 625 รายต่อวัน แต่ในวันนี้จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบแตะหลักพันเป็นวันที่สอง หากคงมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด
พญ.สุมนี กล่าวด้วยว่า ช่วงต้นเดือน พ.ค. หรือหลังสงกรานต์ประมาณ 2 สัปดาห์ คาดการณ์จำนวนผู้ปอดอักเสบจะสูงสุด 3,000 คน หากผ่อนคลายมาก จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ 6,000 คน จึงขอให้เคร่งครัดมาตรการ ทำงานจากที่บ้านให้ได้มากที่สุด ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด และเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยปอดอักเสบเกินกว่า 2,000 คนต่อวัน
สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้ออาการปอดอักเสบที่เข้าโรงพยาบาลในวันที่ 2 มี.ค. พบมากที่สุดใน กทม. 178 ราย สมุทรปราการ 88 ราย บุรีรัมย์ 63 ราย นนทบุรี 62 ราย ภูเก็ต 55 ราย กาญจนบุรี 35 ราย สุราษฎร์ธานี 35 ราย นครศรีธรรมราช 34 ราย นครราชสีมา 33 ราย ชลบุรี 33 ราย โดยอัตราครองเตียงระดับ 2-3 ยังไม่สูงเกิน 50% ยกเว้นภูเก็ต 62.7% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากอาการไม่มากแต่ไปใช้บริการ ส่วนภาพประเทศการครองเตียง 58.1% โดยเตียงสีเหลืองสีแดงยังอยู่ที่ประมาณ 14-22% ดังนั้น ขอให้สีเขียวมีอาการน้อยไม่มีอาการเข้าระบบ HI
พญ.สุมนี กล่าวถึงการระบาดเป็นกลุ่มก้อนว่า เริ่มมีจำนวนน้อยลง โดยวันนี้คลัสเตอร์ที่พบมากสุด คือ สถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ คือ กทม. 85 ราย ชลบุรี 26 ราย สมุทรปราการ 18 ราย นราธิวาส 15 ราย ปทุมธานี 14 ราย บึงกาฬ ปัตตานี จังหวัดละ 11 ราย นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด จังหวัดละ 9 ราย คลัสเตอร์โรงเรียนและสถานศึกษา พบที่ร้อยเอ็ด 9 ราย อยุธยา 7 ราย และที่ปราจีนบุรี กาฬสินธุ์ ชลบุรี เพชรบุรี มหาสารคาม, ในตลาด ที่สมุทรสาคร เพชรบุรี อุบลราชธานี จันทบุรี ขอนแก่น ลพบุรี มุกดาหาร
ส่วนการติดเชื้อในคลัสเตอร์ที่พบน้อยลง 3 คลัสเตอร์ คือ สถานประกอบการโรงงานมี 4 จังหวัด, พิธีกรรมและศาสนา เจองานศพ 2 จังหวัด และงานแต่ง 1 จังหวัด และร้านอาหารพบ 2 จังหวัด บึงกาฬ และขอนแก่น
"กรณีเบอร์สายด่วน 1330 ที่มีการติดต่อเข้ามาจำนวนมากว่า ได้มีการเพิ่มหลายหน่วยงานมาช่วยรับสาย ทั้งทหาร จิตอาสา ภาคประชาสังคม นอกจากนี้ ยังมีช่องทางลงทะเบียนอื่นทั้ง ไลน์ @nhso ทั้งนี้ มีการหารือว่าจะรวมศูนย์คอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยเพิ่มเติมรับโทรศัพท์ ส่วนคนที่ผลเป็นบวก มีอาการรุนแรงสีแดงโทร 1669 ได้ทันที" พญ.สุมนี กล่าว