ศบค.ไม่ปรับโซนสีโควิด คงพื้นที่ควบคุม 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวัง 25 จังหวัด และนำร่องท่องเที่ยว 8 จังหวัด ย้ำ ปชช.อย่าการ์ดตก เตรียมปรับลดราคา ATK ซื้อใช้เองเหลือ 55 บาท และลดราคาตรวจ RT-PCR เหลือ 900 บาท เริ่ม 1 มี.ค.นี้ พร้อมเร่งรัดฉีดวัคซีนเด็ก หลังมีแนวโน้มติดเชื้อสูง ต่างจากช่วงอัลฟ่าและเดลต้าระบาด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่า ด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลก กำลังเป็นขาลง แต่ยังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และมีแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในหลายประเทศแถบเอเชีย และอาเซียน รวมติดวันละกว่าล้านคน ขณะที่การเสียชีวิตไม่ได้เยอะขึ้น
ส่วนประเทศไทยผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนคงตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดส ขณะที่ผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ตามการคาดการณ์ในแบบจำลองสถานการณ์ ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในครอบครัว ชุมชน จากกิจกรรมทางสังคมที่รวมกลุ่มคน ได้แก่ งานศพ งานแต่ง งานบุญ เพิ่มขึ้น ประกอบกับพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็กและเด็กวัยเรียนเพิ่มขึ้น จากการติดเชื้อในครอบครัว ญาติ เพื่อน นักเรียน รวมทั้งไปสถานที่เที่ยว ช่วงเทศกาล ซึ่งแตกต่างจากในช่วงอัลฟ่า และเดลต้าระบาดที่พบในเด็กไม่มาก
ขณะที่การระบาดเป็นคลัสเตอร์ ยังพบในสถานประกอบการ สถานที่ทำงาน ตลาด โรงเรียน และชุมชน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว โดยเฉพาะจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก ได้แก่ งานศพ งานแต่ง งานบุญ ซึ่งต้องเน้นให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ติดตามกำกับมาตรการ VUCA อย่างต่อเนื่อง
ส่วนการครองเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนัก เวชภัณฑ์ยา ในประเทศมีเพียงพอรองรับต่อสถานการณ์การระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ หรืออาการเล็กน้อย ให้เน้นการดูแลรักษาแยกกักที่บ้าน (Home Isolation) หรือสถานพยาบาลใกล้บ้าน และให้เน้นการตรวจหาเชื้อด้วย ATK ปรับให้การตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เฉพาะกรณีจำเป็น
จากสถานการณ์การระบาดในประเทศปัจจุบัน จึงยังคงให้ระดับพื้นที่สีทั่วราชอาณาจักรเช่นเดิมก่อน และขอให้ประชาชนช่วยกันควบคุมโรค ใช้ชีวิตส่วนตัวให้ลดการติดเชื้อให้มากที่สุด แต่ยังคงบรรยากาศการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กัน ถ้าเพิ่มขึ้นหลักหมื่นและเป็นหลายหมื่นราย บรรยากาศการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนแปลงไป
"ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อทะลุเส้นกราฟสีเขียว จึงต้องขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ช่วยกันลดการติดเชื้อไม่ให้ทะลุเส้นสีแดงไปแตะเส้นสีเทา ซึ่งหมายถึงผู้ติดเชื้อวันละ 30,000 ราย สำหรับอัตราการครองเตียงระดับสีแดงหรือเตียงระดับ 3 ใช้ไป 257 เตียง จากทั้งหมด 2,118 เตียง คิดเป็น 12.1%" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
โดยพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) เป็น 44 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวัง (สีเหลือง) เป็น 25 จังหวัด ส่วนพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ยังคง 8 จังหวัดเช่นเดิม มีรายละเอียดดังนี้
-
พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นนทบุรี ฉะเชิงเทรา ชุมพร เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด นครนายก นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยุธยา พะเยา พัทลุง เพชรบุรี มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ศรีสะเกษ สงขลา สตูล สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองคาบ อุดรธานี อุบลราชธานี
-
พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) ประกอบด้วย กำแพงเพชร ชัยนาท ชัยภูมิ นครพนม นครสวรรค์ นราธิวาส บึงกาฬ ปัตตานี พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ยะลา ลำปาง ลำพูน เลย สกลนคร สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี หนองบัวลำพู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ อุทัยธานี
-
พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ประกอบด้วย กทม. กาญจนบุรี กระบี่ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี พังงา ภูเก็ต (จังหวัดอื่นดำเนินการบางพื้นที่)
ขณะเดียวกัน ยังให้คงมาตรการป้องกันควบคุมโควิดแบบบูรณาการ ตามระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร วันที่ 1 พ.ย. 2564 มีรายละเอียดดังนี้
-
การทำงานที่บ้าน (Work from Home) ให้เป็นไปตามความเหมาะสมและการพิจารณาของหน่วยงาน
-
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร สำหรับพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวให้จำกัดเวลาในการดื่มไม่เกิน 23.00 น. และให้ดื่มในร้านอาหารที่ผ่านการประเมิน SHA Plus หรือ Thai Stop COVID 2-Plus เท่านั้น
-
สถานบริการ และสถานประกอบการคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ให้ผู้ประกอบการเปิดดำเนินการในรูปแบบร้านอาหารได้ตามที่มาตรการกำหนด และสามารถขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. ได้เมื่อมีความพร้อม โดยไม่กำหนดระยะเวลา
-
สนับสนุนการเร่งฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ในวัยเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก 5-11 ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งสนับสนุนบูสเตอร์โดสในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ (กลุ่ม 608) เพิ่มขึ้นด้วย
-
การตรวจ ATK ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.นี้ มีการสั่งการให้ประชาชนเข้าถึงได้สะดวกและมีค่าบริการที่เหมาะสม โดยประมาณการณ์ว่า ATK สำหรับประชาชนซื้อใช้เองจะมีราคาต่อหน่วยจาก 80 บาท เหลือ 55 บาท ส่วน ATK โดยหน่วยบริการ จาก 300 บาท สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) จะช่วยจ่ายให้และลดราคาเหลือไม่เกิน 250 บาท และ RT-PCR จะเหลือไม่เกิน 900 บาท
-
การนำแรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชาและเมียนมาเข้ามาทำงาน จะมีสถานที่กักตัวรองรับทั้งหมด 17 แห่ง มี 476 ห้อง สามารถรองรับผู้ป่วยโควิดกลึ่มดังกล่าวได้ 1,368 ราย
-
สนับสนุนการเรียนออนไซต์ โดยกำหนดให้สถานศึกษาต้องผ่านการประเมิน Thai Stop Covid Plus ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 อย่างน้อย 85% สถานศึกษาต้องจัดห้องเรียนให้มีการเว้นระยะห่างกัน 1.5 เมตร มีนักเรียนไม่เกิน 25 คน และต้องปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก 6 มาตรการเสริม และ 7 มาตรการเข้มงวด
“นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.ศบค.ได้ฝากขอความร่วมมือมายังประชาชนให้เดินหน้ากันต่อ การ์ดอย่าตก ขอให้ยกการ์ดสูงกันไว้ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องเคร่งครัดในการใช้กฎหมาย ไม่ให้มีการยกเว้นในกรณีใดๆ หากผิดให้ว่าไปตามผิด พร้อมฝากทุกคนช่วยกันรณรงค์ในช่วงวาเลนไทน์นี้ รักอย่างไรไม่ให้ติดโควิด ให้เราผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยดี” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว