คณิตศาสตร์การเมืองที่มี 21 เสียงฝ่าย 'ธรรมนัส' อยู่ในสมการ จึงมีความสำคัญต่อความเป็นไปทางการเมืองนับจากนี้ แม้ไม่ใช่เสียง 'ชี้ขาด' บนความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ทำให้ฝ่ายรัฐบาลกลับมาอยู่ในสถานะ 'ปริ่มน้ำ' อีกครั้ง แต่ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรง สะเทือนถึงรัฐบาล กระทบถึง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มากก็น้อย
คณิตศาสตร์การเมืองกำลังจะเปลี่ยน!
หลังที่ประชุมร่วมคณะกรรมการบริหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และอดีตเลขาธิการพรรค พร้อม ส.ส.รวม 21 คน พ้นจากพรรค
'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ในฐานะรองหัวหน้าพรรค อ้างเหตุแห่งความเคลื่อนไหวร้ายแรง จนต้องมีมติขับออกจากพรรค เพราะ ร.อ.ธรรมนัส กดดันให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ปรับโครงสร้าง หากไม่ทำ จะมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารภายใน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุการณ์นี้ ย่อมพาดพิงถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ 'กบฏล้มรัฐบาล' ที่มีชื่อ 'ธรรมนัส' เข้าไปเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตาม มติขับพ้นพรรคครั้งนี้ อาจไม่ได้ทำให้ 'ธรรมนัส' ตกที่นั่งลำบาก แต่ในทางกลับกันเป็นไปได้ที่อำนาจต่อรองทางการเมืองของเขาจะเพิ่มสูงขึ้น
หนึ่ง มติดังกล่าวเป็นเพียงการขับพ้นจากสมาชิกพรรค แต่ไม่กระทบต่อสถานะ ส.ส. ที่ยังคงอยู่ติดตัวทั่ง 21 คน
สอง ส.ส. 21 เสียง แม้จะมี 1 เสียงที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ก็เป็นเสียงที่ไม่มีผลผูกพันกับฝ่ายรัฐบาล ย่อมอาจกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการลงมติต่างๆ ในสภาผู้แทนราษฎร
โดยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ณ วันที่ 20 ม.ค.2565 มี ส.ส.ทั้งหมด 484 เสียง แต่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ 9 เสียง คงเหลือองค์ประชุมสภา 475 เสียงจาก 24 พรรคการเมือง โดยเสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 238 เสียง
เมื่อจำแนกเป็นเสียงรัฐบาล-ฝ่ายค้าน โดยตัด 21 เสียงจาก ส.ส. 'ก๊วนธรรมนัส' ออกไปแล้ว จะพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
ฝ่ายรัฐบาล 246 เสียง แบ่งเป็น พรรคพลังประชารัฐ 96 เสียง พรรคภูมิใจไทย 59 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 49 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง และพรรค 1 เสียงรวม 8 พรรค คือ พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคเพื่อชาติไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม
ฝ่ายค้าน 208 เสียง แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 131 เสียง พรรคก้าวไกล 52 เสียง พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 7 เสียง พรรคเพื่อชาติ 6 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง และพรรคไทยศรีวิไลย์ 1 เสียง
เท่ากับว่า การผ่านกฎหมายหรือลงมติใดๆ ในสภา ฝ่ายรัฐบาลที่มี 246 เสียง ซึ่งเลยเส้น 'กึ่งหนึ่ง' 238 เสียง ไปเพียง 10 เสียงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายรัฐบาลยังมีเพิ่มอีก 2 เสียงจากการเลือกตั้งซ่อม จ.สงขลาและชุมพร คือ นายอิสรพงษ์ มากอำไพ ว่าที่ ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ และ น.ส.สุภาพร กำเนิดผล ว่าที่ ส.ส.สงขลา ที่อยู่ระหว่างรอให้ กกต.รับรองผลการเลือกตั้ง
และมีอีก 1 เสียงที่ต้องรอผลการเลือกตั้ง ส.ส. กทม.เขต 9 หลักสี่ ในวันที่ 30 ม.ค.2565 แทนที่ นายสิระ เจนจาคะ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พ้นสภาพไปก่อนหน้านี้
นอกจากนั้น เมื่อดูความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่า 'ธรรมนัส' ที่เปรียบตัวเองเป็น 'คนเลี้ยงลิง' มักมีบทบาทสำคัญถึงพรรคเล็ก 1 เสียง ที่ปัจจุบันอยู่ฝ่ายรัฐบาลถึง 8 พรรค
หาก 'พรรคเล็ก' ยังคงเคลื่อนไหวตามจังหวะเดียวกันกับ 'ธรรมนัส' นั่นย่อมทำให้ฝ่ายรัฐบาล มีเสียงที่คาดการณ์ไม่ได้ เพิ่มขึ้นอีก 8 เสียง
ขณะที่ นายชัชวาลล์ คงอุดม หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวยืนยันว่า พรรคเล็ก ประกอบด้วย พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง พรรคพลังชาติไทย 1 เสียง พรรคชาติพัฒนา 4 เสียง รวม 12 เสียง สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
ส่วนพรรคเล็กที่เหลือ 7 พรรค ได้แก่ พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน พรรคครูไทยเพื่อประชาชน 1 เสียง พรรคพลเมืองไทย 1 เสียง พรรคประชาธิปไตยใหม่ 1 เสียง พรรคไทยรักธรรม 1 เสียง พรรคเพื่อชาติไทย 1 เสียง และพรรคพลังธรรมใหม่ 1 คน จะมีการพูดคุยกันวันนี้ว่าจะมีทิศทางทางการเมืองอย่างไร (อ้างอิงจาก : ไทยโพสต์)
แม้ว่าผลการลงมติในสภาช่วงที่ผ่านมา อาจพบว่ามี 'งูเห่า' จากฝ่ายค้านที่โหวตสนับสนุนรัฐบาลอีกประมาณ 5-6 เสียง แต่ยังถือเป็นคะแนนที่ต้องตัดสินใจตามห้วงเวลา-เหตุสำคัญในการโหวตแต่ละครั้ง
ดังนั้น ส.ส. 21 เสียงฝ่าย 'ธรรมนัส' จึงถูกจับตา โดยเฉพาะกระแสข่าวการย้ายสังกัดพรรคใหม่ แทนเข้าร่วมพรรคการเมืองเก่า ที่มีการพูดถึงชื่อพรรค 'เศรษฐกิจไทย'
มีการพูดถึงชื่อ 'บิ๊กน้อย' พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานยุทธศาสตร์พรรค พปชร.ที่จะลาออกมาเป็นหัวหน้าพรรค
รวมถึงมีชื่อของ นายอภิชัย เตชะอุบล ที่ถูกพูดถึงในตำแหน่งเลขาธิการพรรค พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายพล.อ.ประวิตร นั่งเป็นที่ปรึกษาพรรค
ขณะที่ 21 ส.ส. ประกอบด้วย 1. ร.อ.ธรรมนัส 2.นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น 3.นายธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ ส.ส. ตาก 4.นายภาคภูมิ บูลย์ประมุข ส.ส.ตาก 5.นายไผ่ ลิกค์ ส.ส.กำแพงเพชร 6.นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง 7.นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.นครราชสีมา 8.นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา 9.นายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ ส.ส.สุรินทร์ 10.นายสมศักดิ์ คุณเงิน ส.ส.ขอนแก่น
11.นายจีรเดช ศรีวิราช ส.ส.พะเยา 12.นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13.นายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร 14.นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 15.นายปัญญา จีนาคำ ส.ส.แม่ฮ่องสอน 16.นางจอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.สมุทรสาคร 17.นายสะถิระ เผือกประพันธุ์ ส.ส.ชลบุรี 18.นายยุทธนา โพธสุธน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 19.พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 20.นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ ส.ส.นครราชสีมา (หยุดปฏิบัติหน้าที่) 21.นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ส.ส.อุบลราชธานี
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า 'ธรรมนัส' ได้ต่อรองขอเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
อ้างถึง ส.ส. 21 เสียงที่มีแนวโน้มจะไปร่วมพรรคใหม่ด้วยกัน ย่อมทำให้ 'ธรรมนัส' มีเสียง ส.ส.มากกว่าบางพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น
อ้างถึง ส.ส. 21 เสียงที่มีสัดส่วนมากกว่าพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งบางพรรคได้ทำหน้าที่ในเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ – รัฐมนตรีช่วยว่าการ
3 กระทรวงระดับ 'รัฐมนตรีว่าการ' ที่ถูกพูดถึงการต่อรองขอตำแหน่งของ 'ธรรมนัส' ประกอบด้วย รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม , รมว.แรงงาน , รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
ดังนั้นคณิตศาสตร์การเมืองที่มี 21 เสียงฝ่าย 'ธรรมนัส' อยู่ในสมการ จึงมีความสำคัญต่อความเป็นไปทางการเมืองนับจากนี้
แม้ไม่ใช่เสียง 'ชี้ขาด' บนความเคลื่อนไหวในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ทำให้ฝ่ายรัฐบาลกลับมาอยู่ในสถานะ 'ปริ่มน้ำ' อีกครั้ง
แต่ย่อมสร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรง สะเทือนถึงรัฐบาล กระทบถึง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มากก็น้อย
อ่านประกอบ :