"...ในรายงานของ สตง. ที่จะออกมา จะแสดงให้เห็นรายละเอียดของเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้งข้อดีข้อเสีย รวมไปถึงข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนป้องกันปัญหาในอนาคต หากเกิดกรณีนี้ขึ้นมาอีกรัฐบาลควรจะต้องวางแผนรับมืออย่างไร เพราะตอนนี้มันอาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ถ้าในอนาคตมันมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ความผิดพลาดอะไรต่างๆ มันต้องไม่มีแล้วนะ เพราะเรามีบทเรียน มีข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยได้อีก..."
ประเด็นการจัดซื้อวัคซีนเพื่อนำมาใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ให้กับประชาชนคนไทย ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวถึงจากหลายฝ่ายมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องของกระบวนการจัดซื้อ ราคา รวมไปถึงชนิดของวัคซีน ว่ามีความโปร่งใส่มากน้อยเพียงใด คุ้มค่ากับเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลที่ใช้จ่ายไปหรือไม่
ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นนี้ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้พยายามติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเรื่องนี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับสัญญาการจัดซื้อวัคซีนชนิดต่าง ๆ เพื่อนำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ อย่างไรก็ดี ข้อมูลสัญญาการจัดซื้อที่ได้รับมามีบางส่วนของข้อความที่ถูกปกปิดเอาไว้ ด้วยเหตุผลในเรื่องความลับทางการค้า จึงทำให้ยังไม่ได้รับทราบข้อมูลที่ครบถ้วนมากนัก โดยเฉพาะราคาในการจัดซื้อวัคซีนแต่ละชนิดของรัฐบาล
- แปลชัดๆ ข้อตกลงไทยซื้อซิโนแวค 5 แสนโดส 'ไม่เปิดเผยราคา-วิธีจ่ายเงิน' แบกรับภาระเพียบ
- ไม่เปิดเผยราคา! องค์การเภสัชฯ ส่งข้อตกลงซื้อซิโนแวคให้ 'อิศรา' เฉพาะล็อต 5 แสนโดส
- ฉบับเต็ม! หนังสือ 'อนุทิน' แจ้งแอสตร้าเซนเนก้า ขอรับวัคซีนโควิดเพิ่ม 10 ล้านโดส
- เปิดจม.ลับ 'แอสตร้า’ อ้าง สธ.ไทยเคยแจ้งต้องการแค่เดือนละ3 ล.โดส เพิ่มให้เกือบ 2 เท่าแล้ว
- เผยโฉมสัญญาวัคซีนโควิดแอสตร้าเซนเนก้า-ไทย กรมควบคุมโรค ผู้ซื้อ 'ปกปิดราคา'
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เกี่ยวกับภารกิจงานตรวจสอบของ สตง. ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ได้รับทราบว่า เกี่ยวกับประเด็นการใช้จ่ายเงินงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนโควิดของรัฐบาล เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ สตง. ในปัจจุบัน
รายละเอียดผลการตรวจสอบเรื่องนี้ของ สตง. เป็นอย่างไร?
ปรากฏต่อสาธารณชนนับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป
@ ประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
สำนักข่าวอิศรา : ที่ผ่านมา สตง. ได้เข้าไปตรวจสอบเรื่องการจัดซื้อวัคซีนโควิดของรัฐบาลด้วยหรือไม่?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "เราได้ตรวจสอบแล้ว ตอนนี้ร่างรายงานเสร็จแล้ว กำลังส่งให้ทางหน่วยงานได้ชี้แจงแสดงหลักฐานประกอบอีกครั้งหนึ่ง"
"สำหรับประเด็นการตรวจสอบภาพรวม มีอยู่ 2 ส่วนคือ การจัดซื้อกับการกระจายวัคซีน ซึ่งการจัดซื้อ ถ้าพูดจริงๆ สตง.เราดูมาตั้งแต่การเตรียมการจัดซื้อมาก่อนล่วงหน้าแล้ว ว่า ต้องซื้อยังไงอะไรยังไง เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบ มาปรึกษาเรา มีหนังสือมาถามเรา ตั้งแต่ช่วงการจะจองวัคซีนล่วงหน้า ซึ่งการจองไปก็ยังไม่รู้นะว่าวัคซีน วิจัยสำเร็จไหม จะใช้ได้ไหม ถ้าไม่สำเร็จเนี่ย เงินมัดจำต้องเสียไปเนี่ย เขาสามารถทำได้ไหม ตามระเบียบพัสดุทำได้ไหม"
"สตง.ก็เข้าไปดู ก็เห็นว่าอันนี้มันนอกเหนือจากการปฏิบัติตามระเบียบเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการซื้อล่วงหน้า การจองล่วงหน้าเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ให้สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเขาก็ดำเนินการไป ซึ่งการพิจารณา ว่าจะเลือกวัคซีนตัวใด เบื้องต้นเป็นแอสตร้าเซนเนก้า ตามที่เป็นข่าวว่าเราสามารถผลิตเองได้ด้วย และจะใช้ตัวนี้เป็นหลัก"
"แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่มันไม่สามารถที่จะควบคุมได้ มันเพิ่มสูงมาก และต่อมาไม่นาน ตัวเลขการติดเชื้อ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตัวเลขการตายก็เพิ่มขึ้น คนต้องการวัคซีน ไม่กลัววัคซีนแล้ว คือ กลัวติดมากกว่ากลัววัคซีน ความต้องการขึ้นมาทันที มันไม่สามารถที่จะไปหาวัคซีนมาได้ทัน ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบเขาก็มีการปรับแผน คือ ซิโนแวค เพราะซิโนแวค สั่งแล้วก็ได้เลย ก็ใช้ซิโนแวค ก็สั่งเข้ามา ซึ่งเรื่องนี้มันมีเหตุมีผลที่จะอธิบายได้"
"ส่วนปัญหาเรื่องการกระจายวัคซีน จากที่ สตง.เข้าไปติดตาม ก็พบว่า ที่มันมีข่าวว่าไปบางจังหวัดได้จำนวนสูงเกินไป อันนั้นก็เป็นจริงตามนั้น แต่เขาก็ชี้แจงว่ามันจะมีการแข่งขันกิฬานานาชาติ จำเป็นต้องมี ก็มีเหตุผล แต่ว่าตอนที่คณะกรรมการพิจารณาแผนการกระจายไป เนี่ยมันไม่ได้มากขนาดนั้น แต่พอมีเหตุผล เขาก็โอเคให้ไป มันก็เลยเป็นปัญหา"
"ทั้งนี้ ในส่วนการตรวจสอบเรื่องการกระจายวัคซีน ข้อมูลเท่าที่ตรวจสอบพบในขณะนี้ จะมีปัญหาที่ตัวหน่วยบริการในการฉีด คือ มันมีบุคคลซึ่งไม่อยู่ในขอบเขตของโรงพยาบาลนั้นเข้ามาฉีด เป็นญาติเข้ามาอะไรยังงี้ ซึ่งบางส่วนก็เป็นข่าวไปแล้ว บางส่วนก็ยังไม่ได้เป็น แต่ว่ามันก็มีคำอธิบายเหมือนกันนะว่า เวลาเปิดขวดทำอะไรต่าง ๆ แล้ว มันจะมีส่วนต่าง จากบางคนไม่มาฉีด ของก็จะต้องเหลือ เขาก็จะดึงมามาฉีด ซึ่งก็จะเป็นการแจ้งโดยด่วนว่า เข้ามาเลย เข้ามาเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนรู้จักกับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่นั้น เข้ามาเพื่อที่จะให้ตรงนี่มันไม่เสียไป พอเช็กชื่อ พอฉีดแล้วมันก็ต้องลงทะเบียน ก็จะพบว่า คนนี้เกี่ยวข้องกับที่นี้ หรือไม่เกี่ยว ทำไมมาได้อันนี้ แต่จริงๆ ก็ถือว่าเล็กๆน้อยๆ เมื่อเทียบกับภาพรวม"
สำนักข่าวอิศรา : สรุปว่าวันนี้ รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนมาเท่าไร? ใช้งบประมาณไปแล้วเท่าไร?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "สตง. เราดูข้อมูล จนถึง ณ 30 ก.ย. 64 ซื้อมาแล้ว 60 ล้านโดส วงเงินประมาณ 17,000 ล้านบาท แบ่งเป็นแอสตร้าเซนเนก้า 14 ล้านโดส ซิโนแวค 26 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส รวม 60 ล้านโดส แต่หลังจากนั้นช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย. วัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง 80 ถึง 90 ล้านโดสแล้ว"
สำนักข่าวอิศรา : ตัวเลขราคาการจัดซื้อวัคซีนแต่ละชนิดเป็นอย่างไร?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ตัวเลขแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน ตอนแรก ๆ จะมีราคาที่สูงกว่าและก็จะค่อย ๆ ลดลงมา แต่โดยภาพรวมก็เหมือนตามข่าว ซิโนแวค แพงกว่าแอสตร้าเซนเนก้า"
สำนักข่าวอิศรา : ราคาสมเหตุสมผลหรือไม่?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "การพิจารณาเรื่องความสมเหตุสมผลของราคาเนี่ย เราไม่มีเกณฑ์ที่จะพิจารณาว่ามันแพงไม่แพง แม้ว่าจะเป็นวัคซีนตัวเดียวกัน ซื้อในช่วงเวลาก่อนก็แพงกว่า แต่เวลาเขาของบประมานเนี่ย เขาก็จะขอเท่าเดิมหมดเลย ใช้ตัวเลขเดิม เมื่อเหลือเขาก็คืน
สำนักข่าวอิศรา : แสดงว่าประเด็นเรื่องราคา สตง. มองว่าโอเค?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "คือโอเคไม่โอเคเนี่ย คือเราไม่รู้ว่าอันนี้มันแพงหรือไม่แพง มันมีเหตุปัจจัยที่จะอธิบายค่อนข้างยาก ในสถานการณ์อย่างนั้นมีความต้องการมาก ราคามันจึงสูง และก็ทำไมซิโนแวคแพงกว่าแอสตร้า วิธีการทำวัคซีนมันต่างกัน อันนั้นเชื้อตายต้องมีกระบวนการอย่างนี้ ซึ่งมันก็บอกไม่ได้ว่าอันไหนราคามันสมเหตุสมผล และตรวจจับยากว่า มันมีส่วนต่างอะไรยังไง เพราะมันเป็นวัคซีน อันนี้มาใหม่ ๆ เลย ไม่เคยมีมาก่อน เราก็ไม่รู้หรอกนะว่ามีราคาที่จะเปรียบเทียบยังไง และเขาก็บอกชัดเจนในการขายแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับข้อตกลง ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์อะไรต่าง ๆ มันมีหลายปัจจัยที่จะบอก มันอาจจะอยู่ในข้อตกลง อยู่ในความสัมพันธ์ อยู่ในอะไรหรือเปล่า จริง ๆ มันยากมากนะที่จะไปตรวจตรงนี้"
สำนักข่าวอิศรา : หน่วยงานรับผิดชอบชี้แจงหรือไม่ ว่าทำไมต้องซื้อซิโนแวคจำนวนมาก? เพราะอะไร?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "เพราะว่าแอสตร้าเซนเนก้า ไม่สามารถส่งให้ได้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ ในเมื่อความต้องการมันมีมากขึ้นเนี่ย ซิโนแวคสั่งแล้วเราก็ได้"
"จริงถ้าถามเรื่องประสิทธิภาพแอสตร้ามันก็ดีกว่าซิโนแวค แต่ว่าด้วยสถานการณ์ที่มันไม่มี ซิโนแวคก็ยังดีกว่าไม่มี มันก็ต้องเป็นยังงั้น ถ้าไม่งั้นมันก็ไม่มีฉีด มันก็เลยมาอย่างนั้น ประกอบกับการทดลอง พอจริงๆ เหตุผลในการที่จะพิจารณาวัคซีนที่เป็นสลับเนี่ย ก็พิจารณาจากตรงนี้ว่า เนื่องจากมันมีวัคซีนตัวหนึ่ง ถ้าเริ่มฉีดได้เข็มหนึ่งเป็นซิโนแวคแล้วมาต่อด้วยแอสตร้าฯ ซึ่งได้จำนวนมาน้อยมันก็จะเป็นสลับและก็ผลการวิจัยออกมาว่ามันดี มันก็เลยสอดคล้องกันว่า เบื้องต้นเข็มแรกเป็นซิโนแวค ก่อน เข็มสองเป็นแอสตร้า มันก็จะสอดคล้องกับแผนการส่งวัคซีนของแอสตร้า ซึ่งจะมาส่งได้ในระยะหลังๆ ส่วนการจัดซื้อก็เป็นการจัดซื้อผ่านบริษัทที่เป็นเจ้าของสินค้า"
สำนักข่าวอิศรา : ปริมาณที่จัดส่งครบถ้วนหรือไม่?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ของครบครับ"
สำนักข่าวอิศรา : ที่ผ่านมาหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่ยอมเปิดเผยราคาซื้อ ปิดแถบดำในสัญญา สตง. ได้เห็นข้อมูลราคาทั้งหมดหรือไม่?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ตอนแรกสัญญาที่เขาส่งให้เรา เขาไม่ให้ดูราคา เราก็อธิบายว่า ถ้าไม่สามารถให้เราดูราคาได้เนี่ย เราจะตรวจยังไง เพราะฉะนั้นต้องส่งเป็นสัญญาที่ไม่มีขีดฆ่าราคาออก เราก็ต้องอธิบาย ไม่งั้นเราต้องใช้ เครื่องไม้เครื่องมือ ใช้หมายเรียกอะไรต่าง ๆ มา"
"คือ ในเอกสารที่เราขอไป ต้องเรียนว่า ยากมากจนผู้ตรวจสอบเนี่ย ต้องเชิญมาให้ปากคำที่สำนักงาน เชิญคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม อะไรต่างๆ คนที่เกี่ยวข้องมาว่าทำไปยังไง คนที่มาส่วนใหญ่เป็นระดับอธิบดี รองอธิบดีที่เกี่ยวข้องมอบหมายให้อธิบายว่าทำยังไง ในเมื่อคุณบอกว่า คุณทำยังงี้คุณก็ต้องบอก เราก็จดบันทึกตามนั้น ว่าคุณทำยังไง จัดสรรยังไง มีโควต้ายังไง ซึ่งก็ต้องยอมรับนะว่าเวลาเขาวิเคราะห์ในเชิงของผู้คณะทำงานใน ศบค.แบบเสนอไปอย่างหนึ่งเวลาออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่งแล้วในการประสานงานเนี่ยเบื้องต้นเขาก็จะประสาน จะเสนอประมาณนี้ ได้ประมาณนี้ พอส่ง ศบค.ก็อนุมัติไปอีกแบบหนึ่ง บางจังหวัดลดลงจากที่บอกว่าจะได้ คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดเขาไปบอกไว้แล้วว่าจะได้เท่าไร อะไรยังไง แต่มันไม่ได้ครบตามนั้น มันมีการเปลี่ยนแปลงในการเสนอขึ้นไปอนุมัติลงมา มันจึงให้การประสานงานต่าง ๆ มันไม่ลงตัว อันนี้เป็นเรื่องบริหารการจัดการ"
สำนักข่าวอิศรา : สรุปผลการตรวจสอบเรื่องนี้ ของ สตง. พบว่าการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนของรัฐบาลเป็นอย่างไร?
นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่าฯ สตง. : "ในประเด็นเรื่องการบริหารจัดการในภาพรวม ถามว่าโอเคไหมสำหรับสถานการณ์ที่ผ่านมา ในความเห็นส่วนตัวผม ผมว่ามันก็โอเค ถึงแม้จะมีความบกพร่องบ้างไม่ตรงตามความต้องการอะไรต่าง ๆ บ้าง แต่ในโอกาสต่อไปก็จะเป็นข้อเสนอว่าเราต้องเตรียมแผนล่วงหน้านะ ในแต่ละเรื่องยังไง อย่างเรื่องวัคซีน ถ้าเรายึดตัวเดียวแล้วตัวนั้นมันไม่มี ทางเลือกมันน้อยลง ถึงตอนนั้นมีอะไรคว้าได้ก็ต้องดำเนินการ ถ้าเรามีแอสตร้าเซนเนก้า มีอันอื่นด้วย หรือว่าการเข้าโครงการโคแวกซ์ ถ้าตัดสินใจเข้ามันอาจจะเป็นประโยชน์มากกว่าหรือไม่ แม้มันจะเป็นการตัดสินเชิงนโยบายในขณะนั้น แต่ถามว่ามันจะผิดไหม ผลมันออกแล้ว เราเสียประโยชน์ในบางส่วนหรือไม่ มันก็พูดได้เหมือนหวยออกแล้ว แต่ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าถ้าเขาไปแล้วมันเกิดอะไรไม่ดีก็ไม่เข้าดีกว่า ผลสุดท้ายมันออกมาอย่างนั้น มันก็พูดยาก มันพอมีเหตุผลในการอธิบายการตัดสินใจในการดำเนินการในแต่ละขั้นตอน เพราะมันไม่มีอะไรที่ระบุตายตัว หนึ่ง สอง สาม สี่"
"ในรายงานของ สตง. ที่จะออกมา จะแสดงให้เห็นรายละเอียดของเรื่องนี้ทั้งหมด ทั้งข้อดีข้อเสีย รวมไปถึงข้อเสนอแนะในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับการวางแผนป้องกันปัญหาในอนาคต หากเกิดกรณีนี้ขึ้นมาอีกรัฐบาลควรจะต้องวางแผนรับมืออย่างไร เพราะตอนนี้มันอาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้น มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ถ้าในอนาคตมันมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ความผิดพลาดอะไรต่างๆ มันต้องไม่มีแล้วนะ เพราะเรามีบทเรียน มีข้อมูลต่างๆ ที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยได้อีก"
"ขณะที่การใช้จ่ายงบประมาณในช่วงที่ผ่านมา ในปี 2565 นี้ สตง.จะเริ่มกลับเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณต่าง ๆ ด้วยว่าเป็นอย่างไร" ผู้ว่าฯ สตง.กล่าวทิ้งท้าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/