"...จากข้อมูลทางคดีที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ มีข้อมูลสำคัญหลายส่วน ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อสังเกต และข้อกังขาต่อคดีนี้หลายประการ แต่ที่ผ่านมา หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของ ตำรวจ อัยการ ศาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ กับสงวนท่าที ไม่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ แต่อย่างใด รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นายสมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม กล่าวอ้างว่า มอบหมายให้ มาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้พูดหรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ที่สุดแห่งปี : ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2564" เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 เกี่ยวกับปัญหาการส่งฟ้องคดียาเสพติดในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่มีการขยายผลจับกุมตัวการใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 7 ราย ยึดทรัพย์ได้เงินกว่า 2,175 ล้านบาท แต่ส่งฟ้องคดีไม่ทัน
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระแสข่าวว่า มีการเรียกสินบนจ่ายเงินใต้โต๊ะจำนวนมาก อันนำมาซึ่งคำสั่งของอัยการสูงสุด (อสส.) ที่ให้อธิบดีอัยการภาค 5 ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
นอกจากจุดที่เป็นปัญหาสำคัญกรณีที่ไม่สามารถสั่งฟ้องคดีนี้ได้ทัน คือ หลังจากกุมตัวผู้ต้องหา 3 ราย คือ นายธีนพันธ์ คำผาบูรณปัญญา นายสุรเดช กันธะโย และนายกมล คำพิมาร ในฐานะผู้ลำเลียงยาเสพติด (นักบิน) ซึ่งต่อมามีการจับกุมตัว นางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหารายที่ 4 ได้ และมีการขยายผลการสอบสวนจนพบว่า การค้ายาเสพติดคดีนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุน และจับกุมผู้ต้องหาอีก 7 ราย แต่เนื่องจากเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวนต้องขออนุญาต ต่อ อัยการสูงสุด ก่อน
ขณะที่ในการสอบสวน นางสาวเขมิกา ดำเนินการในฐานะผู้ต้องหาร่วมกับกลุ่มนายธีนพันธ์ แต่ไม่ได้สอบปากคำไว้ในฐานะพยาน เรื่องการค้ายาเสพติดนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุนด้วย
เมื่อพนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่ได้รับมอบหมายจาก อสส. หรือผู้รักษาการแทนเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนคดีนี้แทน จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบตามกฎหมายแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 20 พนักงานอัยการจังหวัดน่านไม่มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้ หรือพิจารณารับสำนวนคดีนี้ไว้ และเป็นผลทำให้ไม่อาจฟ้องผู้ต้องหาอีก 7 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับการรับสินค้าและทำธุรกรรมทางการเงิน เนื่องจากครบกำหนดผัดห้องฝากขังครั้งที่ 7 ศาลจึงสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 รายไป
- จับเฮโรอีน 100 แท่ง! เปิดข้อมูลคดียาเสพติด 'สมศักดิ์' แฉส่งฟ้องยึดทรัพย์ 2.1พันล.ไม่ได้ (1)
- อสส.สั่งสอบ! 'สมศักดิ์' แฉคดียาเสพติดน่าน ส่งฟ้องยึดทรัพย์ 2.1พันล.ไม่ได้- มีรับสินบน (2)
- ไม่มีสินบน! เปิดข้อมูล อัยการ แจงปัญหาฟ้องคดีจับเฮโรอิน 100แท่ง บกพร่องชั้น พนง.สอบสวน (3)
- ข้อสังเกต คดีจับเฮโรอิน100 แท่ง ทำไม 'เจ้เหมย' ผู้ต้องหารายสำคัญได้ประกันตัว? (4)
- เปิดไทม์ไลน์ คดีจับเฮโรอิน100แท่ง กังขา! ส่งสำนวนคืน ตร.- แก้ไขจริง ๆ วันเดียวเสร็จ (5)
ข้อสังเกตสำคัญประการหนึ่ง ที่สำนักข่าวอิศรา เคยนำเสนอไว้แล้ว คือ ทำไม นางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหารายสำคัญในคดีนี้ ถึงได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว ก่อนที่จะหลบหนีไป
โดยข้อเท็จจริงที่นำเสนอไว้ คือ ในช่วงแรกของการจับกุมตัวผู้ต้องหาในคดี จำนวน 3 ราย คือ นายธีนพันธ์ นายสุรเดช และนายกมล ที่ด่านตรวจโควิด ต.ป่าคาหลวง อ.บ้านหลวง จ.น่าน ซึ่งเดินทางมาด้วยรถกระบะยี่ห้อฟอร์ด สีขาว จากการตรวจค้นเจ้าหน้าที่พบยาเสพติดเฮโรอิน จำนวน 100 แห่ง น้ำหนักแท่งละ 350 กรัม รวมน้ำหนักทั้งสิ้น 35 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ภายในบริเวณท้ายกระบะที่มีการดัดแปลงเป็นช่องลับ เบื้องต้นได้มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย พร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ส่วน นางสาวเขมิกา ผู้ต้องหารายที่ 4 ในฐานะผู้ว่าจ้าง นายธีนพันธ์ นายสุรเดช และนายกมล ให้ลำเลียงขนเฮโรอินครั้งนี้ ซึ่งปรากฎหลักฐานเป็นหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อสลิปการโอนเงิน เชื่อมโยงไปถึงนายทุน/เจ้าของยาเสพติดฝั่งประเทศเมียนมา ไม่ได้ถูกจับกุมตัวด้วย มีการหลบหนีการจับกุมตัว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ขอศาลออกหมายจับในเวลาต่อมา
ต่อมาพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนและองค์คณะ มีความเห็นควรสั่งฟ้อง นายธีนพันธ์ นายสุรเดช นายกมล และ นางสาวเขมิกา ฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปไว้ในความครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยผิดกฏหมาย พร้อมสั่งริบของกลางเฮโรอีน โทรศัพท์ รถกระบะ
ซึ่งในขณะนั้น นางสาวเขมิกา ยังคงหลบหนีไม่ได้ตัวมาฟ้อง จึงมีการส่งหมายจับพร้อมตำหนิรูปพรรณ และมีหนังสือแจ้งว่าผู้ว่าราชการจังหวัดน่านจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหา มาฟ้องคดีต่อศาลภายในอายุความ 30 ปี
ต่อมาวันที่ 13 พ.ค.2564 เจ้าพนักงานจับกุมตัว นางสาวเขมิกา ได้ พร้อมกับโทรศัพท์มือถือของกลางจำนวน 2 เครื่อง นำส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา
เบื้องต้น ในชั้นสอบสวน นางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย ให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรบ้านหลวง ได้ส่งสำนวนคดีอาญามายังสำนักงานอัยการจังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งสำนักงานอัยการจังหวัดน่านรับไว้เป็นสำนวนคดีเดียวกับการส่งฟ้อง นายธีนพันธ์ นายสุรเดช และนายกมล
โดยในสำนวนดังกล่าวพนักงานอัยการจังหวัดน่าน ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้อง นางสาวเขมิกา ในข้อหาสมคบกันโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้สมคบ ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 มีปริมาณคำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์เกินกว่ายี่สิบกรัมไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตไว้แล้วในสำนวนการสอบสวนดังกล่าว
พนักงานอัยการผู้ตรวจสำนวนพิจารณาแล้ว ไม่มีข้อเท็จจริงใด ในสำนวนการสอบสวนจะเปลี่ยนแปลงไป เห็นควรสั่งฟ้อง นางสาวเขมิกาตามความเห็นเดิมที่มีคำสั่งไว้ ต่อศาลจังหวัดน่าน ในวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เป็นคดีหมายเลขดำ ที่ ย 670/2564
อย่างไรก็ดี มีข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในเวลาต่อมา นางสาวเขมิกา ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวชั้นฝากขัง และหลบหนีไปก่อนยื่นฟ้อง ศาลจังหวัดน่านจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว
สำนักข่าวอิศรา ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า
1. ทำไม นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ถึงได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว เพราะแม้จะมีสิทธิได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง แต่เนื่องจากมีสถานะเป็นผู้ต้องหารายสำคัญในคดีนี้ และก่อนหน้านี้ก็มีพฤติการณ์หลบหนีมาแล้วด้วย
2. คดีนี้ มีปริมาณยาเสพติดจำนวนมาก อยู่ในเกณฑ์ได้ประกันตัวหรือไม่? หลักทรัพย์ประกันตัวเท่าไร? นำมาจากที่ไหน?
แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแห่งใด ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนต่อสาธารณะ
ล่าสุด อัยการระดับสูงรายหนึ่งซึ่งเชี่ยวชาญในการทำคดียาเสพติดให้ความเห็นสำนักข่าวอิศราถึงข้อสังเกตเรื่องนี้ ว่า กรณี นางสาวเขมิกา ได้รับการประกันตัว ในชั้นฝากขัง ถือว่าเป็นข้อพิรุธสำคัญอย่างมากในคดีนี้
เพราะนางสาวเขมิกา ถือเป็นผู้ต้องหาคนสำคัญ ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางเชื่อมโยงขบวนการค้ายาเสพติดกลุ่มนี้ทั้งกระบวนการ ทั้งในการติดต่อประสานงานกับนายทุนต่างประเทศเจ้าของยาเสพติด การว่าจ้างกลุ่มนายธีนพันธ์ให้เป็นผู้ลำเลียงยาเสพติดผ่านประเทศไทย การติดต่อประสานงานผู้รับซื้อยาในประเทศมาเลเซีย รวมไปถึงติดต่อกลุ่มธุรกรรมการโอนเงินยาเสพติด ทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
"พฤติการณ์ของ เจ้เหมย ตามข้อมูลที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอไปก่อนหน้านี้ ถือว่าเป็นหัวใจหลักของขบวนการค้ายาเสพติดกลุ่มนี้อย่างมาก ปัญหาเรื่องนี้จึงอาจจะไม่ได้อยู่แค่กระบวนการทำสำนวนที่ผิดพลาด กรณีการสอบปากคำ นางสาวเขมิกา ในฐานะผู้ต้องหาคดีจับยาเสพติดแต่ไม่ได้สอบปากคำในฐานะพยาน คดีนอกราชอาณาจักร ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวน ตามป.วิ.อ. มาตรา 20 ที่จะต้องขออนุญาต ต่อ อัยการสูงสุด ก่อน ที่ส่งผลทำให้ต้องการมีแก้ไขสำนวนจนส่งฟ้องคดีไม่ทัน และต้องมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาสำคัญอีกหลายรายไปเท่านั้น การให้ประกันตัว เจ้เหมย ก่อนจะหลบหนีไป อาจเป็นความพยายามของคนบางกลุ่มในการตัดตอนคดีนี้อีกช่องทางหนึ่งด้วย" อัยการระดับสูงรายนี้ระบุ
อัยการระดับสูงรายนี้ ยังระบุด้วยว่า เกี่ยวกับประเด็นนี้ มีข้อมูลใหม่ปรากฏว่า การประกันตัวนางสาวเขมิกา อาจเกิดขึ้นในวันเดียวกับที่มีการขอฝากครั้งด้วย ขณะที่ผู้ต้องหากลุ่ม นายธีนพันธ์ นายสุรเดช และนายกมล ในฐานะผู้ถูกจ้างวานให้ลำเลียงยาเสพติด กลับไม่ได้รับการประกันตัว
ขณะที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบยืนยันข้อมูลพบว่า หลังการจับกุมตัวนางสาวเขมิกา ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ปปส.นำตัวส่งพนักงานสอบสวนวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง ครั้งที่ 1 วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 จากนั้น วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ศาลจังหวัดน่าน อนุญาตให้นางสาวเขมิกา ได้รับการประกันตัวไปจริง
จึงเป็นเรื่องที่ต้องไปติดตามดูว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการให้ประกันตัวนางสาวเขมิกา เป็นใครบ้าง? ใช้เหตุผลใดในการตัดสินใจเรื่องนี้? และมีใครอยู่เบื้องหลังสั่งการเรื่องนี้หรือไม่?
ที่น่าสนใจมากกว่านั้น คือ จากข้อมูลทางคดีที่สำนักข่าวอิศรา นำเสนอต่อเนื่องอยู่ในขณะนี้ มีข้อมูลสำคัญหลายส่วน ที่ชี้ให้เห็นถึงข้อสังเกต และข้อกังขาต่อคดีนี้หลายประการ
แต่ที่ผ่านมา หน่วยงานที่ เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของ ตำรวจ อัยการ ศาล นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้
กับสงวนท่าที ไม่ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงต่อสาธารณะ แต่อย่างใด
รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่นายสมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม กล่าวอ้างว่า มอบหมายให้ มาตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ดูเหมือนจะไม่ค่อยได้พูดหรือให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เท่าไหร่นัก
ทั้งที่ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะการปราบปรามยาเสพติดถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ด้วย
หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมไปถึงตัวนายกรัฐมนตรี ควรจะต้องรีบออกมาชี้แจงเพื่อทำความจริงให้ปรากฏต่อสังคมโดยด่วน
เพราะเมื่อท่านผู้คนจะฟัง แต่เมื่อท่านลงมือทำคนจะเชื่อถือและศรัทธา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage