"...ที่ผ่านมานางสาวเขมิกา ได้ว่าจ้างให้นายธีนพันธ์ ขนเฮโรอีนไปส่งได้สำเร็จโดยไม่ถูกจับกุม จำนวน 4 ครั้ง คือ ต้นเดือนตุลาคม 2563 เฮโรอีน จำนวน 20 แท่ง ปลายเดือนตุลาคม 2563 เฮโรอีน จำนวน 30 แท่ง กลางเดือนธันวาคม 2563 เฮโรอีน จำนวน 40 แท่ง และกลางเดือนมกราคม 2564 เฮโรอีน จำนวน 40 แท่ง..นอกจากนี้ นางสาวนีรา ยังมีหน้าที่ทำธุรกรรมการเงินให้กับกลุ่มลักลอบนำเฮโรอีนข้ามแดนไปมาเลเซีย โดยนางสาวเขมิกา จะประสานและสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่น WeChat กับนายหลง หรืออาหง ซึ่งมีร้านแลกเปลี่ยนเงินตราอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย แล้วให้นางสาวนีราไปรับเงินสดที่ร้านนายหลง หรือให้นายหลง โอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีของนางสาวนีรา หรือโอนไปให้นางสาวเขมิกา โอนต่ออีกทอดหนึ่ง..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ที่สุดแห่งปี : ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2564" เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 เกี่ยวกับปัญหาการส่งฟ้องคดียาเสพติดในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่มีการขยายผลจับกุมตัวการใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 7 ราย ยึดทรัพย์ได้เงินกว่า 2,175 ล้านบาท แต่ส่งฟ้องคดีไม่ทัน ซึ่งต่อมามีการตรวจสอบพบว่า จุดที่เป็นปัญหาสำคัญในการที่ไม่สามารถสั่งฟ้องคดีนี้ได้ทัน คือ หลังจากกุมตัวผู้ต้องหารายที่ 4 คือ นางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย มีการขยายผลการสอบสวนจนพบว่า การค้ายาเสพติดคดีนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุน ถือเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวน ตามป.วิ.อ. มาตรา 20 ที่จะต้องขออนุญาต ต่อ อัยการสูงสุด ก่อน
เบื้องต้น อัยการจังหวัดน่านได้มีการคืนสำนวนการสอบสวนคดีนี้ให้พนักงานสอบสวนโดยด่วนที่สุด เพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 และรายงานอัยการสูงสุด ตามระเบียบปฏิบัติแล้ว
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อเท็จจริงและข้อสังเกตสำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
- จับเฮโรอีน 100 แท่ง! เปิดข้อมูลคดียาเสพติด 'สมศักดิ์' แฉส่งฟ้องยึดทรัพย์ 2.1พันล.ไม่ได้ (1)
- อสส.สั่งสอบ! 'สมศักดิ์' แฉคดียาเสพติดน่าน ส่งฟ้องยึดทรัพย์ 2.1พันล.ไม่ได้- มีรับสินบน (2)
- ไม่มีสินบน! เปิดข้อมูล อัยการ แจงปัญหาฟ้องคดีจับเฮโรอิน 100แท่ง บกพร่องชั้น พนง.สอบสวน (3)
- ข้อสังเกต คดีจับเฮโรอิน100 แท่ง ทำไม 'เจ้เหมย' ผู้ต้องหารายสำคัญได้ประกันตัว? (4)
- เปิดไทม์ไลน์ คดีจับเฮโรอิน100แท่ง กังขา! ส่งสำนวนคืน ตร.- แก้ไขจริง ๆ วันเดียวเสร็จ (5)
ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง ที่ยังไม่ได้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ คือ พฤติการณ์การกระทำความผิดและโครงข่ายความเชื่อมโยงของผู้ต้องหาในขบวนการค้ายาเสพติดกลุ่มนี้ ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น 6 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
1. นายหลง ผู้สั่งการสูงสุด ไม่ปรากฎนามสกุล เป็นผู้สั่งการลำเลียง เฮโรอีน ดังกล่าว จากประเทศเมียนมาร์เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย เชื่อว่าลำเลียงผ่านทางพ่อเลี้ยงแสงนวล ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
2. นางสาวเขมิกา ใจปินตา เป็นผู้สั่งการ ประสานงาน ติดต่อรับโอน และโอนเงินค่าลำเลียงเฮโรอีนของกลาง ถูกดำเนินคดีฟ้องต่อศาลจังหวัดน่านแต่ได้รับการปล่อยชั่วคราวและหลบหนีไปในชั้นฝากขังก่อนยื่นฟ้อง
3. กลุ่มลำเลียงต้นทางในประเทศไทย ใช้คำศัพท์เรียกว่า "นักบิน" ประกอบด้วย นายธีนพันธ์ คำผาบูรณปัญญา นายสุรเดช กันธะโย และนายกมล คำพิมาร ซึ่งถูกฟ้องดำเนินคดีต่อศาลจังหวัดน่านแล้ว มีหน้าที่ขนส่ง ลำเลียงเฮโรอีนดังกล่าวไปส่งให้กับผู้รับปลายทาง ซึ่งเป็นกลุ่มลำเลียงปลายทางที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อนำเฮโรอีนไปส่งต่อให้กับผู้รับในประเทศมาเลเซีย
โดยนายธีนพันธ์ ติดต่อสื่อสารกับพ่อเลี้ยงแสงนวล และนางเขมิกาฯ รับโอนค่าลำเลียงขนส่งยา
4. กลุ่มลำเลียงปลายทาง ประกอบด้วย นางนีรา นายมูไฟโซ นายมูฮำมัดฟาอิส นายสมชาติ นายเจ๊ อุเสน ที่ร่วมกันทำหน้าที่รอรับเฮโรอีนดังกล่าวจากกลุ่มลำเสียงต้นทางที่จังหวัดนราธิวาส
โดยนางนีรา เป็นผู้ติดต่อประสานงานรับโอน โอนเงินค่าลำเลียงยาเสพติดให้กับกลุ่มลำเลียงต้นทาง ผ่านทางนายธีนพันธ์ ขณะที่นางนีรา ยังมีการติดต่อประสานงานกับนางเขมิกาฯและนายหลงด้วย
5. กลุ่มธุรกรรมทางการเงินประกอบด้วย นางดุลยลักษณ์ นางสาวณัฐพัชร์ นายชยพล นายสุชัย และนางตงเฉิน ร่วมกันทำหน้าที่โอนเงินหมุนเวียนการโอนในบัญชีกลุ่มธุรกรรมด้วยกัน เพื่อโอนเงินค่าลำเลียงเฮโรอีนดังกล่าวให้กับนางเขมิกา
6. กลุ่มรับยาเสพติดนอกราชอาณาจักร (ประเทศมาเลเซีย) ต่อจากกลุ่มลำเลียงปลายทางในราชอาณาจักร(จังหวัดนราธิวาส) ปรากฎชื่อ นายบัง และนายเดวิด ยังไม่ถูกกล่าวหาดำเนินคดี ทำหน้าที่รับเฮโรอีนแล้วจะนำเงินค่าซื้อเฮโรอีนซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศแลกเปลี่ยนเป็นงินไทยผ่านร้านแลกเปลี่ยนเงินตราชายแดนจังหวัดนราธิวาส - มาเลเซีย ซึ่งนายหลงเป็นเจ้าของแล้วขนเงินที่ได้จากการจำหน่ายเฮโรอีนเข้าสู่กลุ่มธุรกรรมหรือกลุ่มฟอกเงินต่อไป
สำหรับพฤติการณ์การกระทำความผิดและโครงข่ายความเชื่อมโยงของผู้ต้องหาในขบวนการค้ายาเสพติดกลุ่มนี้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ จับนักบินคาด่านตรวจโควิดน่าน
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เวลาประมาณ 18.30 น. ส่วนปฏิบัติการข่าวและปราบปรามยาเสพติด 4 (ปป.4) สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกับหน่วยงานอื่น จับกุมนายธีนพันธ์ คำผาบูรณปัญญา นายสุรเดช กันธะโย และนายกมล คำพิมาร ได้ที่ด่านตรวจโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 บ้านนาหวาย หมู่ที่ 5 ตำบลป่าคาหลวง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน พร้อมของกลาง คือ เฮโรอีน จำนวน 100 แท่ง น้ำหนักรวม 35 กิโลกรัม ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ ยี่ห้อฟอร์ด หมายเลขทะเบียน 3 ฒฆ 5465 กรุงเทพมหานคร
นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านหลวง ดำเนินคดีในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการสืบสวนขยายผลพบว่าเป็นกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดที่ลักลอบนำยาเสพติดจากพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปส่งที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส จึงได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานขออนุมัติออกหมายจับนางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือเจ้เหมย ตามหมายจับของศาลจังหวัดน่านที่ จ.43/2564 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2564
ต่อมาเจ้าพนักงานติดตามจับกุมตัวนางสาวเขมิกาได้ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่บ้านเลขที่ 18/19 หมู่ที่ 5 ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านหลวง ดำเนินคดี
โดยพนักงานอัยการจังหวัดน่านได้ยื่นฟ้อง นางสาวเขมิกา ต่อศาลจังหวัดน่านแล้วเป็นคดีหมายเลขดำที่ ย 670/2564 แต่ศาลจังหวัดน่าน มีคำสั่งเมื่อกรกฎาคม 2564 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบชั่วคราว เนื่องจากจำเลยซึ่งประกันตัวในชั้นศาลได้หลบหนีไป ตามคดีหมายเลขแดงที่ ย 653/2564
จากการสืบสวนสอบสวนนายธีนพันธ์ คำผาบูรณปัญญา และนางสาวเขมิกา ใจปินตา เพื่อขยายผล พบเครือข่ายการค้าเฮโรอีนข้ามชาติ ดังนี้
กลุ่มผู้ลำเลียงยาเสพติดเพื่อนำข้ามไปประเทศมาเลเซีย
เครือข่ายค้ายาเสพติดที่นางสาวเขมิกา ทำหน้าที่ประสานงานและสั่งการนั้น พบว่ามีนายหลง หรืออาหง ชาวจีน ซึ่งอยู่ที่เมืองปางซาง รัฐฉาน (ชายแดนเมียนมา-จีน) หุ้นส่วนเจ้าของโรงงานผลิตเฮโรอีน เป็นผู้สั่งการระดับสูงสุดในการสั่งการนำเฮโรอีนออกจากแหล่งผลิตในเมียนมา และมอบให้กับลูกค้าสั่งซื้อ
ในข่ายงานของนางสาวเขมิกา นั้น ลูกค้า คือ นายบัง ชาวมาเลเซีย โดยนางสาวเขมิกาทำหน้าที่ในการจัดหาผู้ลำเลียงและควบคุมการลำเสียงเฮโรอีนไปส่งให้นายบัง
นางสาวเขมิกา ได้ว่าจ้างนายธีนพันธ์ ให้ขนลำเลียงเฮโรอีนจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปส่งในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และว่าจ้าง นางสาวนีรา เจะเงาะ ให้รอรับเฮโรอีนจากนายธีนพันธ์ แล้วนำข้ามแดนไปส่งให้นายบัง ที่ประเทศมาเลเซีย
@ ช่องลับรถกระบะซุกซ่อนเฮโรอีน
โดยวิธีการลำเลียงนั้น นายธีนพันธ์ จะนำรถยนต์กระบะไปทำช่องลับด้านข้างกระบะสำหรับซุกซ่อนเฮโรอีน
จากนั้นขับรถยนต์ไปรับเฮโรอีนที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เพื่อนำไปส่งที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส
ในระหว่างการขนลำเลียง จะติดต่อกับนางสาวเขมิกา ทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อประสานงานและส่งมอบเฮโรอีน หลังจากนำเฮโรอีนส่งไปให้นายบัง ที่มาเลเซียแล้ว นางสาวเขมิกา จะจ่ายเงินค่าจ้างโดยโอนเข้าบัญชีนายธีนพันธ์
@ ทำมาแล้ว 4 ครั้ง 130 แท่ง ไม่ถูกจับ
ที่ผ่านมานางสาวเขมิกา ได้ว่าจ้างให้นายธีนพันธ์ ขนเฮโรอีนไปส่งได้สำเร็จโดยไม่ถูกจับกุม จำนวน 4 ครั้ง คือ ต้นเดือนตุลาคม 2563 เฮโรอีน จำนวน 20 แท่ง ปลายเดือนตุลาคม 2563 เฮโรอีน จำนวน 30 แท่ง กลางเดือนธันวาคม 2563 เฮโรอีน จำนวน 40 แท่ง และกลางเดือนมกราคม 2564 เฮโรอีน จำนวน 40 แท่ง
โดยนายธีนพันธ์ จะโทรศัพท์ติดต่อประสานงานกับนางสาวเขมิกา และนางสาวนีรา ก่อนที่จะเดินทางไปรับเฮโรอีนที่อำเภอแม่สาย และติดต่อกับผู้ที่รอรับเฮโรอีนที่อำเภอสุไหงโก-ลก ได้แก่ นายสมชาติ หรือเลาะ จำปีพันธ์ และ นายเจ๊อุเสน หรือยุ จำปีพันธ์ โดยนัดหมายรอรับรถยนต์ที่มีเฮโรอีนซุกซ่อนอยู่ในช่องลับจากนายธีนพันธ์
แล้วนายสมชาติ กับพวก จะลักลอบนำเฮโรอีนเข้าประเทศมาเลเซีย โดยมีนายไฟโซ อาแว คอยประสานงานกับนางสาวนีรา และคนในเครือข่ายของนายบังที่ประเทศมาเลเซีย
นอกจากนี้ นางสาวนีรา ยังมีหน้าที่ทำธุรกรรมการเงินให้กับกลุ่มลักลอบนำเฮโรอีนข้ามแดนไปมาเลเซีย โดยนางสาวเขมิกา จะประสานและสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่น WeChat กับนายหลง หรืออาหง ซึ่งมีร้านแลกเปลี่ยนเงินตราอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย แล้วให้นางสาวนีราไปรับเงินสดที่ร้านนายหลง หรือให้นายหลง โอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีของนางสาวนีรา หรือโอนไปให้นางสาวเขมิกา โอนต่ออีกทอดหนึ่ง
โดยบัญชีธนาคารที่นางสาวนีรา ใช้ในการรับโอนเงินค่าลำเลียงเฮโรอีน ได้แก่ บัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด ชื่อบัญชีนางสาวนีรา เจะเงาะ บัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ชื่อบัญชี นางสาวนีรา เจะเงาะ บัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด ชื่อบัญชี นายสมชาติ จำปีพันธ์ และบัญชีนาคารกรุงไทย จำกัด ชื่อบัญชี นายไฟโซ อาแว
จากการตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของกลางในคดีของนางสาวเขมิกา พบว่า รายการบันทึกหมายเลขในชื่อ "รา" พร้อมกับโทรศัพท์ ซึ่งนายธีนพันธ์ รับว่าเป็นผู้ประสานงานในการรับเฮโรอีน จากการตรวจสอบเบอร์โทรฯ มีการผูกใช้งานกับบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ชื่อบัญชี นางสาวนีรา เจะเงาะ
@ แจ้งยกเลิกงานแตก 'นักบิน' ถูกค้นบ้าน
พบข้อความสนทนาผ่าน WhatApp กับผู้ใช้ชื่อ "รา" มีการส่งภาพถ่ายสมุดบัญชีธนาคารกสิกรไทย จำกัด ชื่อ นางสาวนีรา เจะเงาะ และที่อยู่อานีรา เจะเงาะ และในการสนทนาระหว่าง "รา" กับนางสาวเขมิกา
สรุปความได้ว่า นางสาวนีรา กำลังรอรับยาเสพติดในพื้นที่สุไหงโก-ลก แต่นางสาวเขมิกา แจ้งยกเลิกเนื่องจากงานแตกแล้ว นักบิน(ผู้ลำเลียง) ที่เชียงราย ถูกค้นบ้าน
นอกจากนี้ในการสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่น WeChat ระหว่างนางสาวเขมิกา กับนายหลง หรืออาหง นางสาวเขมิกา ให้นายหลง โอนเงินสำหรับจ่ายให้ค่าจ้างนักบิน (ผู้ลำเลียง)
หลังจากนายหลงโอนเงินให้แล้ว นางสาวเขมิกา ได้โอนต่อไปเข้าบัญชีของนายธีนพันธ์ และบัญชี นางสาวนีรา ส่วนนายสมชาติ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมของรถยนต์ ที่มีการดัดแปลงทำเป็นช่องซุกซ่อนเฮโรอีน และนายธีนพันธ์ ติดต่อกับนายสมชาติ ขณะส่งมอบเฮโรอีนในโรงพยาบาลสุไหงโก-ลก บันทึกหมายเลขโทรศัพท์ ของนายสมชาติ ไว้ว่า "เลาะน้องเบอร์ใหม่"
ส่วนนายเจ้อุเสน เป็นญาติผู้พี่ผู้น้องกับนายสมชาติ นายธีนพันธ์ พบและรู้จัก เนื่องจากอยู่พร้อมกับนายสมชาติ ทุกครั้ง จึงบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ ของนายเจ้อุเสน ว่า "บังยุ"
สำหรับนายไฟโซ ใช้โทรศัพท์ติดต่อกับนางสาวเขมิกา นางสาวนีรา นายสมชาติ และนายเจ้อุเสน ในการลักลอบนำเฮโรอีนข้ามชายแดนไปประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อมีการส่งมอบเฮโรอีนแล้ว การจ่ายเงินค่าจ้างลำเลียง จะมีการทยอยจ่ายให้นายธีนพันธ์ โดยมีนายสมชาติ นายเจ๊อุเสน ติดต่อกับนายมูฮำมัดฟาอีส ยูโซะ ที่ใช้โทรศัพท์ให้ทำการโอนเข้าบัญชีธนาคาร (นอมินี) ที่นายธีนพันธ์ ใช้ในการรับโอน
ซึ่งตรวจสอบภาพผู้ฝากเงินจากกล้องวงจรปิดพบว่า เป็นนายมูฮำมัดฬาอีส โดยจากข้อมูลการใช้งานโทรศัพท์นายธีนพันธ์ กับกลุ่มผู้รอรับเฮโรอีนที่จังหวัดนราธิวาส ในห้วงเดือนธันวาคม 2563 มกราคม 2564 และครั้งที่ถูกจับกุม (18 กุมภาพันธ์ 2564 ) ทุกครั้ง กลุ่มผู้รอรับที่จังหวัดนราธิวาสจะมีการเตรียมการรอรับตั้งแต่นายธีนพันธ์ เดินทางขึ้นไปรับเฮโรอีน โดยมีนางสาวนีรา เป็นผู้ประสานงาน เมื่อมีการยืนยันจากนายธีนพันธ์ นางสาวนีรา ก็จะแจ้งไปยังนายไฟโซ ให้เตรียมการแจ้งกลุ่มรอรับ โดยมีการแจ้งให้นายสมชาติ นายเจ๊อุเสน ติดต่อกับนายธีนพันธ์ โดยตรงเพื่อรอรับรถยนต์
ครั้งที่นายธีนพันธ์ ถูกจับกุม (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 พบว่ามีการติดต่อระหว่างนายธีนพันธ์ และนางสาวนีรา ตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 เมื่อนายธีนพันธ์ ได้รับเฮโรอีนและกำลังเดินทาง ก็มีการโทรแจ้งนายไฟโซ ในการเตรียมการรอรับ นายไฟโช โทรแจ้งนายเจ๊อุเสน นายมูฮำมัดฟาอีส ติดต่อกับนายสมชาติ เชื่อว่าเป็นการติดต่อเตรียมการรอรับเฮโรอีน
ส่วนนายไฟโซ นั้น แม้นายธีนพันธ์ จะไม่รู้จักกับนายไฟโซ แต่จากคำให้การของนางสาวเขมิกา รับว่าติดต่อกับนางสาวนีรา และมีการโอนเงินค่าจ้างลำเลียงเข้าบัญชีธนาคารฯ นายไฟโซ
กลุ่มเครือข่ายที่ดำเนินการด้านธุรกรรมการเงิน
นางสาวเขมิกา ให้การในชั้นจับกุมว่า มีหน้าที่ทำธุรกรรมโอนและรับเงินโอนให้กับกลุ่มนายทุน ชื่อ นายหลง (หรืออาหง) ชาวจีน ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเมียนมา โดยนายหลง จะให้ลูกน้องนำสมุดบัญชีธนาคาร พร้อมบัตรเอทีเอ็ม โทรศัพห์มือถือพร้อมซิมการ์ดมาให้นางสาวเขมิกา ถือไว้ และใช้สำหรับโอนเงินค่าจ้างในการลำเลียงยาเสพติดเข้าบัญชีธนาคารปลายทางของกลุ่มผู้ลำเลียงตามคำสั่งของนายหลง
@ เขมิกา ได้ค่าตอบแทน 1.5-2 %แต่ละครั้ง ทำมาแล้ว 3-4 ปี
โดยนางสาวเขมิกา จะได้ค่าตอบแทน 1.5-2 % จากยอดเงินที่ทำการโอนแต่ละครั้ง ทำมาแล้ว ประมาณ 3-4 ปี
@ เปิดบริษัทหลายแห่งช่องทางฟอกเงิน
นายหลง เคยเล่าให้ฟังว่ายังมีกลุ่มรับทำธุรกรรมด้านการเงินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจะมีกลุ่มของนายบัง ชาวมาเลเซีย นำเงินค่ายาเสพติดให้เครือข่ายไปแลกเป็นเงินบาท จากนั้นจะมีอีกกลุ่มหนึ่งนำเงินใส่รถยนต์ลำเลียงจากชายแดนไทย-มาเลเซียส่งให้กับกลุ่มทำธุรกรรมการเงินในกรุงเทพมหานคร โดยมีการเปิดบริษัทหลายแห่งเพื่อใช้เป็นช่องทางในการฟอกเงิน
เมื่อตรวจสอบข้อมูลเส้นทางการเงินของนางสาวเขมิกา พบว่ามีการทำธุรกรรมทางการเงินโดยใช้บัญชี (นอมินี) ชื่อ นางสาววนิสา (สงวนนามสกุล) นางสาววรนุช (สงวนนามสกุล) และนายศักดา (สงวนนามสกุล) ในการโอนเงินค่าจ้างลำเลียงยาเสพติดไปยังบัญชีธนาคารของผู้ต้องหาในคดีนี้
จากการตรวจข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของนางสาวเขมิกา พบว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.59 น. นายหลง ใช้โทรศัพท์ (อินเตอร์เน็ตจีน) โทรหานางสาวเขมิกา แจ้งว่าจะให้ผู้ทำธุรกรรมการเงินในกรุงเทพมหานครโอนเงินค่าจ้างขนลำเลียงเฮโรอีนมาให้ นางสาวเขมิกา จึงให้เลขที่บัญชีไป
ต่อมาเวลา 16.50 น. นายหลง ใช้โทรศัพท์เบอร์เดิม (อินเตอร์เน็ตจีน) โทรแจ้งว่าโอนเงินมาให้แล้ว จัดการโอนไปบัญชีผู้ลำเสียงยาเสพติด
เวลา 14.59 น. ของวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 พบข้อมูลว่านายสุชัย โทรศัพท์ติดต่อกับนางสาวดุลยลักษณ์ (สงวนนามสกุล) จำนวน 2 ครั้ง หลังจากนั้นเวลา 15.27-15.29 น. นางสาวดุลยลักษณ์ จึงโอนเงินจากบัญชี MRS.KYU KYU และบัญชีของนางสาวดุลยลักษณ์ ไปให้นางสาวเขมิกา
จึงเชื่อได้ว่าการโอนเงินของนางสาวดุลยลักษณ์ เป็นการโอนเงินตามคำสั่งของนายหลง
จากการชักถามนางสาวเขมิกา ทราบว่านายหลง มีการว่าจ้างผู้ลำเลียงยาเสพติดหลายกลุ่ม และจากการตรวจสอบข้อมูลในเครื่องโทรศัพท์ของนางสาวเขมิกา พบการสนทนาผ่านแอพพลิเคชั่น WeChat กับนายหลง โดยมีการส่งภาพการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่มาเลเซียซึ่งจับกุมผู้ต้องหาได้พร้อมยาเสพติดจำนวนมากไปให้นายหลง และจากการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด 4 ซึ่งขยายผลจากการจับกุมนายปิยะพงษ์ ดิษฐ์บำรุง พร้อมของกลาง คือ ยาไอซ์ จำนวน 60 กิโลกรัม และการจับกุมนายบดินทร์ ตานะสาย พร้อมของกลาง คือ ยาไอซ์ จำนวน 100 กิโลกรัม พบว่าผู้กระทำผิดไปรับยาเสพติดจากนายแสงนวล ในท้องที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย
เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินที่โอนค่าจ้างลำเลียงไปให้นางสาวเขมิกา พบว่าผู้ทำธุรกรรมมีการเตรียมการและวางแผนจัดการด้านการเงินอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ กลุ่มผู้ทำธุรกรรมเป็นคนเชื้อชาติจีน ตระกูลเฉิน ที่ได้รับสัญชาติไทย ประกอบด้วยนางสาวผิง เฉิน หรือณัฐพัชร์ (สงวนนามสกุล) นายชยพล (สงวนนามสกุล) (สามีของนางสาวผิง เฉิน) และนางสาวตง เฉิน
โดยกลุ่มผู้ต้องหาได้ร่วมกันจัดตั้ง แจ้งจดทะเบียนนิติบุคคลโดยใช้สถานที่ดั้งเดียวกัน คือ อาคารพาณิชย์ย่านรัชดาภิเษก แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร มอบหมายให้นายสุชัย (สงวนนามสกุล) เป็นเจ้าบ้านและดูแลสถานที่ มีการเปิดกิจการเป็นบริษัทอยู่รวม 5 บริษัท
@ ใช้บัญชีแรงงานพม่า-นักท่องเที่ยวจีน โอนเงิน
นางสาวดุลยลักษณ์ เปิดบัญชีธนาคารของบุคคลที่ใกล้ชิดไว้สำหรับทำธุรกรรมจำนวนมาก เช่น นางวรรณรัตน์ (สงวนนามสกุล) , นางสาวประเทืองทิพย์ (สงวนนามสกุล), นางสาวศิริวรรณ์ (สงวนนามสกุล) มาทำธุรกรรมร่วมกับบัญชีตนเอง โดยรูปแบบการทำธุรกรรมของนางสาวดุลยลักษณ์ และกลุ่มนางสาวผิง เฉิน หรือณัฐพัชร์ (สงวนนามสกุล) กับพวก บัญชีที่ใช้ทำธุรกรรมเป็นชื่อบุคคลธรรมดา ไม่ใช่นิติบุคคล การโอนเงินแต่ละครั้ง ยอดเงินจะเป็นตัวเลขกลม ๆ ไม่มีเศษ และเวลาในการทำธุรกรรมส่วนใหญ่เป็นเวลากลางคืน และมีการนำเอาบัญชีธนาคารของแรงงานชาวเมียนมา คือ MR.AUNG THUYA และ MRS.KYU KYU มาใช้
นอกจากนี้ ยังมีการรับโอนเงินจากบัญชีของชาวจีนซึ่งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยวีซ่านักท่องเที่ยว มีรูปแบบคล้าย ๆ กัน คือ โอนเงินยอดตัวเลขกลม ๆ หลาย ๆ ครั้ง
เมื่อนางสาวดุลยลักษณ์ ได้รับโอนเงินจากบัญชีธนาคารชาวเมียนมาและชาวจีนแล้ว จะโอนเงินครั้งละจำนวนมากคล้าย ๆ รวบยอดไปยังบัญชีของนางสาวตง เฉิน นางสาวผิง เฉิน หรือณัฐพัชร์ และนายชยพล
ทั้งหมดนี่ เป็นพฤติการณ์การกระทำความผิดและโครงข่ายความเชื่อมโยงของผู้ต้องหาในขบวนการค้ายาเสพติดกลุ่มนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา รวบรวมมาได้
อย่างไรก็ดี กลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมตัวและส่งฟ้องศาลไปแล้ว มีเพียงแค่ กลุ่มลำเลียงต้นทางในประเทศไทย หรือ นักบิน ที่ประกอบด้วย นายธีนพันธ์ นายสุรเดช และนายกมล 3 คน เท่านั้น
ส่วนผู้เกี่ยวข้องคนอื่น ที่มีบทบาทสำคัญมากกว่า ยังคงลอยนวลไม่ถูกจับกุมตัวแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นเครือข่ายค้ายาเสพติดกลุ่มใหญ่ที่ทำร้ายและสร้างความเสียหายให้กับสังคมไทยมายาวนาน
ท่ามกลางข้อสังเกต เกี่ยวกับกระบวนการทำงานทั้งในส่วนของพนักงานสอบสวน ที่มีปัญหาในการทำสำนวนช่วงหลังการจับกุมตัวผู้ต้องหารายสำคัญ คือ นางสาวเขมิกา ใจปินตา หรือ เจ้เหมย มาได้ มีการขยายผลการสอบสวนจนพบว่า การค้ายาเสพติดคดีนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุน ถือเป็นคดีนอกราชอาณาจักร ที่ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวน เพราะจะต้องขออนุญาตอัยการสูงสุด ตามป.วิ.อ. มาตรา 20 ก่อน และข้อกังขาเรื่องระยะเวลาการแก้ไขสำนวนคดียาเสพติดของฝ่ายอัยการที่ค่อนข้างนานทั้งที่คดียาเสพติดสำคัญบางคดีใช้เวลาแค่วันเดียวก็สามารถทำได้ รวมไปถึงการอนุญาตให้ประกันตัว นางสาวเขมิกา ผู้ต้องหารายสำคัญที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวและหลบหนีไปในชั้นฝากขังก่อนยื่นฟ้อง
ดังที่เห็นและเป็นไปอยู่ในขณะนี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage