"...ปัญหาน่าจะเกิดขึ้นในกระบวนการของพนักงานสอบสวน ที่น่าจะไม่ทราบหรือไม่เข้าใจแต่แรกว่า คดีนี้จะเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เพราะจับคนได้เพียง 3 คนในตอนแรกก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริง ว่ามีนายทุนต่างชายมาเกี่ยวข้อง เพราะข้อมูลส่วนนี้ มารับทราบในช่วงของคดีที่ 2 จับ ที่มีการจับกุมตัว นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย มาได้ และมีการพูดถึงมีนายทุนอยู่ต่างประเทศพม่า ทางเมียวดีดังกล่าว เมื่อการสอบปากคำ นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ซึ่งถือพยานปากสำคัญ ไม่ได้สอบเป็นพยานไว้ และเมื่อมีการนำตัวส่งฟ้องศาล นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ได้รับการประกันตัว แล้วหลบหนีไป ยังตามตัวกลับมาไม่ได้ คดีจึงมีความบกพร่องในส่วนนี้..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ที่สุดแห่งปี : ผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2564" เมื่อวันที่ 8 ต.ค.2564 เกี่ยวกับปัญหาการส่งฟ้องคดียาเสพติดในพื้นที่จังหวัดน่าน ที่มีการขยายผลจับกุมตัวการใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องจำนวน 7 ราย ยึดทรัพย์ได้เงินกว่า 2,175 ล้านบาท แต่ส่งฟ้องคดีไม่ทัน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระแสข่าวว่า มีการเรียกสินบนจ่ายเงินใต้โต๊ะจำนวนมาก
อันนำมาซึ่งคำสั่งของอัยการสูงสุด (อสส.) ที่ให้อธิบดีอัยการภาค 5 ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ว่าปัญหาเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำที่มาที่ไปเกี่ยวกับคดีนี้มานำเสนอให้สาธารณได้รับทราบไปแล้วว่า คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2564 เวลาประมาณ 18.30 น. ส่วนปฏิบัติการข่าวและปราบปรามยาเสพติด 4 (ปป.4) สำนักงาน ป.ป.ส. ได้ร่วมกับหน่วยงานอื่น จับกุม นาย ธ. นาย ส. และ นาย ก. ได้ที่ด่านตรวจโรคติดต่อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด 19 บ้านนาหวาย หมู่ที่ 5 ตำบลป่าคาหลวง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน พร้อมของกลาง คือ เฮโรอีน จำนวน 100 แท่ง น้ำหนักรวม 35 กิโลกรัม ที่ซุกซ่อนอยู่ภายในรถยนต์ ยี่ห้อฟอร์ด
เบื้องต้น มีการนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านหลวง ดำเนินคดีในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษประเกท 1 (เฮโรอีน) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย โดยไม่ได้รับอนุญาต
จากการสืบสวนขยายผลพบว่า เป็นกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดที่ลักลอบนำยาเสพติดจากพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปส่งที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส จึงได้มีการรวบรวมพยานหลักฐาน พร้อมขออนุมัติออกหมายจับ นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ตามหมายจับของศาลจังหวัดน่าน ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2564
ในการสืบสวนสอบสวน นาย ธ. และ เจ้เหมย เพื่อขยายผล พบว่า เป็นเครือข่ายการค้าเฮโรอีนข้ามชาติโดยเครือข่ายค้ายาเสพติดที่ เจ้เหมย ทำหน้าที่ประสานงานและสั่งการนั้น มี นายหลง หรือ อาหง ชาวจีน ซึ่งอยู่ที่เมืองปางซาง รัฐฉาน (ชายแดนเมียนมา-จีน) หุ้นส่วนเจ้าของโรงงานผลิตเฮโรอีน เป็นผู้สั่งการระดับสูงสุดในการสั่งการนำเฮโรอีนออกจากแหล่งผลิตในเมียนมา และมอบให้กับลูกค้าสั่งซื้อ ซึ่งในข่ายงานของเจ้เหมย นั้น ลูกค้า คือ นายบัง ชาวมาเลเซีย โดย เจ้เหมย ทำหน้าที่ในการจัดหาผู้ลำเลียงและควบคุมการลำเสียงเฮโรอีนไปส่งให้นายบัง แต่ทีมงานถูกรวบตัวเสียก่อน ขณะที่ผลการสอบสวนพบว่ามีการทำ เป็นขบวนการเชื่อมโยงกัน มีเครือข่ายแบ่งกลุ่ม แบ่งหน้าที่ แบ่งงานอย่างชัดเจนลำเลียงส่งต่อเป็นทอด ๆ ให้ลูกค้า ปลายทางนอกราชอาณาจักร มีการรับค่าตอบแทนในการทำหน้าที่ต่างๆ มีกระบวนการจัดการฟอกเงินและอำพรางเงินด้วย
ข้อมูลสำคัญอีกส่วนหนึ่ง ที่สำนักข่าวอิศรา ทิ้งท้ายไว้ คือ อะไรเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้ส่งฟ้องคดีไม่ทัน จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กระแสข่าวว่า มีการเรียกสินบนจ่ายเงินใต้โต๊ะจำนวนมากดังกล่าว
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในข้อเท็จจริงคดีนี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน
ในส่วนคดีแรก มีการจับกุมผู้ต้องหาได้ 3 ราย เมื่อ 7 พ.ค.64 ยื่นฟ้องไปเมื่อ 14 พ.ค.64 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลจังหวัดน่าน
คดีส่วนที่สอง เป็นจับกุม นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ผู้ต้องหาที่ 4 ในระหว่างการสอบสวนมีการขยายผลเกี่ยวกับยาเสพติดได้ความว่า มีนายทุนอยู่ประเทศพม่า และฟ้องไปเมื่อ 27 ก.ค.64 อย่างไรก็ดี ผู้ต้องหารายนี้ ได้รับการประกันตัว ก่อนที่จะหลบหนีไป
คดีส่วนที่สาม เมื่อวันที่ 3, 5 ก.ค.64 ขยายผลจับผู้ต้องหาได้เพิ่มอีก 7 ราย
ขณะที่ แหล่งข่าวสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า จุดที่เป็นปัญหาสำคัญของเรื่องนี้ อยู่ที่ในส่วนคดีที่ 2 ที่มีการจับกุม นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ที่จากการขยายผลการสอบสวน ได้รับทราบว่า การค้ายาเสพติดคดีนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุน ถือเป็นคดีนอกราชเอาณาจักร ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวนต้องขออนุญาต ต่อ อสส.ก่อน
ขณะที่ในการสอบสวน นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ดำเนินการในฐานะผู้ต้องหาคดีที่ 2 แต่ไม่ได้สอบไว้ในฐานะพยาน เรื่องการค้ายาเสพติดนี้มีชาวต่างชาติเป็นนายทุนด้วย
เบื้องต้น สำนักงานอัยการน่าน จึงรายงานเป็นคดีสำคัญไปที่เขต 5 แล้วส่งเรื่องไปตั้งคณะกรรมการพิจารณา ผลสุดท้ายลงความเห็นว่า เป็นคดีนอกราชอาณาจักร ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวนต้องขออนุญาตต่อ อสส.ก่อน
เมื่อพนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนคดีนี้แทน ตามป.วิ.อ. มาตรา 20 จึงเป็นการสอบสวนที่ไม่ชอบตามกฎหมายแห่งป.วิ.อ. มาตรา 20 พนักงานอัยการจังหวัดน่านไม่มีอำนาจฟ้องผู้ต้องหาคดีนี้ หรือพิจารณารับสำนวนคดีนี้ไว้
คณะทำงานจึงส่งเรื่องคืนวันที่ 29 ก.ย. 64 อัยการน่านมารับสำนวนจาก ภาค 5 เมื่อวันที่ 30 ก.ย. และประสานตำรวจมารับสำนวนไปในวันเดียวกัน
ขณะที่วันที่ 30 ก.ย. เป็นวันครบกำหนดผัดห้องฝากขังครั้งที่ 7 พอ เมื่อครบวัน คดีที่ 3 ไม่อาจฟ้องผู้ต้องหาอีก 7 ราย ได้ในวันนั้น ศาลจึงสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 7 รายไป
แหล่งข่าวกล่าวว่า "จากข้อมูลจะเห็นว่าเรื่องอยู่ในการพิจารณาของอยู่ที่คณะทำงานเพียง 3-4 วัน เท่านั้น กระบวนการสอบสวนของพนักงานอัยการจึงไม่น่าจะมีการทุจริตอะไรเกิดขึ้น แต่ปัญหาน่าจะเกิดขึ้นในกระบวนการของพนักงานสอบสวน ที่น่าจะไม่ทราบหรือไม่เข้าใจแต่แรกว่า คดีนี้จะเป็นคดีนอกราชอาณาจักร เพราะจับคนได้เพียง 3 คนในตอนแรกก็ไม่ปรากฎข้อเท็จจริง ว่ามีนายทุนต่างชายมาเกี่ยวข้อง เพราะข้อมูลส่วนนี้ มารับทราบในช่วงของคดีที่ 2 จับ ที่มีการจับกุมตัว นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย มาได้ และมีการพูดถึงมีนายทุนอยู่ต่างประเทศพม่า ทางเมียวดีดังกล่าว "
"เมื่อการสอบปากคำ นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ซึ่งถือพยานปากสำคัญ ไม่ได้สอบเป็นพยานไว้ และเมื่อมีการนำตัวส่งฟ้องศาล นางสาว ข. หรือ เจ้เหมย ได้รับการประกันตัว แล้วหลบหนีไป ยังตามตัวกลับมาไม่ได้ คดีจึงมีความบกพร่องในส่วนนี้"
" เบื้องต้น อัยการจังหวัดน่านได้มีการคืนสำนวนการสอบสวนคดีนี้ให้พนักงานสอบสวนโดยด่วนที่สุด เพื่อดำเนินการตาม ป.วิ.อ. มาตรา 20 และรายงานอัยการสูงสุด ตามระเบียบปฏิบัติแล้ว" แหล่งข่าวระบุ
ข้อมูลส่วนนี้ สอดคล้องกับคำชี้แจง ของนายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อัยการสูงสุด ที่ยืนยันว่า คดีนี้น่าจะมีประเด็นเพิ่มเติมในด้านอำนาจสอบสวน ก็คือว่าจะเป็นความผิดนอกราชอาณาจักรหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็เกี่ยวกับอำนาจสอบสวน เพราะว่าในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น อัยการจะมีอำนาจฟ้องคดีได้ การสอบสวนต้องชอบด้วยกฎหมาย”
@ สิงห์ชัย ทนินซ้อน
เช่นเดียวกับที่ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ระบุว่า คดียาเสพติดดังกล่าว มีทั้งสั่งจากเมียนมา มีทั้งสั่งจากประเทศไทย เป้าหมายก็คือไปที่ประเทศมาเลเซีย ก็เลยมีข้อเท็จจริงในสำนวนว่าเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร ทางสำนักงานอธิบดีอัยการภาค 5 ก็มองว่าการสอบสวนคดีนอกราชอาณาจักรนั้นอำนาจสอบสวนเป็นของอัยการสูงสุด สำนักงานอธิบดีอัยการไม่มีอำนาจ จึงได้มีการส่งสำนวนกลับไป ไปสอบสวนให้มันถูกต้องก่อน
อสส.แจงปมคดีจับเฮโรอีน 100 แท่ง เอี่ยวความผิดนอก ปท. ต้องทำสำนวนให้เรียบร้อย
ทั้งหมดนี้ เป็นคำชี้แจงของฝ่ายอัยการต่อกรณีปัญหากระบวนการสอบสวนในคดีนี้ ที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันล่าสุด
ส่วนข้อเท็จจริงในชั้นกระบวนการของพนักงานสอบสวน ว่ามีปัญหาเกิดขึ้นตามที่ฝ่ายอัยการระบุหรือไม่ คงต้องรอฟังคำชี้แจงจากผู้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรงอีกครั้ง
โดยเฉพาะคำถามสำคัญที่ว่า พนักงานสอบสวน ไม่ทราบข้อกฎหมายเรื่องคดีนอกราชอาณาจักร ที่ตำรวจไม่มีอำนาจสอบสวนต้องขออนุญาตต่อ อสส.ก่อน
จนทำให้คดีใหญ่ซึ่งน่าจะนับเป็นผลงานชิ้นโบแดงของตำรวจไทย
ต้องมีปัญหา "ตกม้าตาย" แบบนี้เลยหรือ?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage