"...สัญญาการซื้อขายทุเรียน ระหว่าง อคส. กับ บริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด วงเงิน 25 ล้านบาท เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 ตามสัญญาเลขที่ อคส.ทร.363/2563 เกิดขึ้นหลังการลงนามในสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 112,500 ล้านบาท ของ อคส. ที่กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 31 ส.ค.2563 เพียง 1 วันเท่านั้น...นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้องกับการทำบันทึกขออนุมัติการดำเนินงานเพื่อลงนามในสัญญา บางรายก็เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันกับที่ดำเนินงานโครงการซื้อขายถุงมือยาง 112,500 ล้านบาท ของ อคส. ด้วย..."
.............................
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกกรณี องค์การคลังสินค้า (อคส.) ทำสัญญาซื้อขายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จากเอกชนรายหนึ่ง วงเงินกว่า 25 ล้านบาท เพื่อนำมาขายต่อให้กับเอกชนอีกหนึ่ง โดย อคส. จะได้กำไรจากการขายทุเรียนดังกล่าวต่อกิโลกรัมประมาณ 3 บาท
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้ สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังต่อไปนี้
หนึ่ง.
ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด ได้ทำหนังสือแจ้งขอให้ อคส. เสนอราคาจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จำนวน 250 ตัน เพื่อใช้ส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าของบริษัทในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
เบื้องต้น อคส. ได้ตรวจสอบข้อมูลทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ที่บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด ต้องการรับซื้อ แต่ไม่มีในสต็อกของ อคส.
อคส. จึงได้ดำเนินการจัดทำหนังสือเชิญชวน ผู้มีอาชีพรวบรวมและจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทอง จำนวน 3 ราย ให้เสนอราคาจำหน่ายทุเรียนพันธุ์หมอนทองให้กับ อคส.
ปรากฎว่า บริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด เสนอราคาต่ำสุด (อีกสองบริษัท ยังไม่ทราบชื่อ)
อคส. จึงตกลงเลือกบริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด ในการรับซื้อสินค้าทุเรียน เพื่อนำไปขายต่อให้กับ บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด
โดย อคส. ตั้งราคาจำหน่ายต้นทุนซื้อราคากิโลกรัมละ 100 บาท คิดอัตราผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 3 ของต้นทุนซื้อ คิดเป็นราคาที่เสนอขายให้กับ บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด กิโลกรัมละ 103 บาท รวมค่าขนส่งถึงปลายทาง ซึ่ง อคส.จะได้เงินตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้ คือ ได้เงินต้นทุนจำนวน 25 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าทุเรียน 250 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 100 บาท คืน รวมกำไรผลตอบแทน จากการราคาตั้งขาย กิโลกรัมละ 103 บาท เป็นจำนวนเงิน 750,000 บาท
สอง.
มีข้อเท็จจริงปรากฎว่า หลังจากที่ อคส. จ่ายเงินค่าทุเรียนให้กับ บริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด ไปแล้ว จำนวน 25 ล้านบาท ปัจจุบัน อคส. ยังไม่ได้รับเงินค่าสินค้า 25 ล้านบาท บวกกำไร 750,000 บาท จาก บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด แต่อย่างใด
สาม.
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด และ บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด พบว่าเป็นเอกชนกลุ่มเดียวกัน
โดย นาง จันทิพย์ ริยะวงค์ ปรากฎชื่อเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นทั้ง 2 บริษัท
สี่.
ปัจจุบันสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) อยู่ระหว่างการตรวจสอบเรื่องนี้ โดยมีการเรียกเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาหมดแล้ว เหลือแค่รอสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ จากข้อมูลทั้งหมด สำนักข่าวอิศรา เห็นว่า มีเงื่อนปมสำคัญ 2 ประเด็นหลักเกิดขึ้นในกรณี คือ
1. ในเมื่อ บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด เป็นเอกชนกลุ่มเดียวกับ บริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด ซึ่งมีทุเรียนอยู่ในมือ อยู่แล้ว ทำไมจะต้องมาติดต่อมาเสนอให้ อคส. จัดหาทุเรียนและกินส่วนแบ่งกำไร 3 บาท จากการขายในราคา 103 บาทต่อกิโลกรัมดังกล่าว (ต้นทุน 100 กิโลกรัม บวกกำไรที่อคส.จะได้รับ 3 บาท)
2. เจ้าหน้าที่อคส.รายใด ที่เป็นผู้ติดต่อชักนำให้ บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด เข้ามาเสนอขอซื้อทุเรียนจาก อคส.ดังกล่าว
3. การดำเนินการลักษณะนี้ ของอคส. เป็นไปตามระเบียบกฎหมายหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมพบว่า สัญญาการซื้อขายทุเรียน ระหว่าง อคส. กับ บริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด วงเงิน 25 ล้านบาท เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2563 ตามสัญญาเลขที่ อคส.ทร.363/2563 เกิดขึ้นหลังการลงนามในสัญญาซื้อขายถุงมือยาง 112,500 ล้านบาท ของ อคส. ที่กำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนของกระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 31 ส.ค.2563 เพียง 1 วันเท่านั้น
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ที่ผู้เกี่ยวข้องกับการทำบันทึกขออนุมัติการดำเนินงานเพื่อลงนามในสัญญา บางรายก็เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันกับที่ดำเนินงานโครงการซื้อขายถุงมือยาง 112,500 ล้านบาท ของ อคส. ด้วย
ส่วนรูปแบบสัญญา ก็มีการอ้างใช้แบบสัญญาซื้อขายข้าว ที่ผ่านการตรวจสอบจากอัยการสูงสุดมาใช้เหมือนกรณีการทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางด้วย
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า จุดเริ่มต้นในการดำเนินงานโครงการทุเรียน ถูกระบุว่า มีนักการเมืองในภาคใต้ มาติดต่อกับผู้บริหารระดับสูงของ อคส. ให้ช่วยดำเนินงานโครงการฯ นี้ให้หน่อย ผู้บริหารฯ รายนี้ จึงได้สั่งการให้ เจ้าหน้าที่กลุ่มเดียวกับที่ดำเนินงานโครงการถุงมือยางเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย
"ในข้อเท็จจริงแล้วโครงการทุเรียน อาจจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ถ้าหากการดำเนินธุรกิจเป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ หลังจากที่ อคส.จ่ายเงิน จำนวน 25 ล้านบาท ค่าสินค้าให้กับบริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด ไปแล้ว บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด ก็ไปรับสินค้าจากบริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด ไปขายต่อ เมื่อขายเสร็จแล้ว ก็นำเงินบวกกำไรมาจ่ายคืนให้กับ อคส. แต่ปรากฎว่าการจ่ายเงินกลับมีปัญหาเกิดขึ้น อคส.ยังไม่ได้เงิน และในการทำสัญญาซื้อขายระหว่างกันก็มีปัญหาเรื่องการวางเงินค้ำประกัน 5 % ล่าช้าด้วย ซึ่งปัจจุบัน อคส.ได้มีการแต่งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้เป็นทางการไปแล้ว" แหล่งข่าวระบุ
ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นอย่างไร คงต้องติดตามตรวจสอบกันต่อไป
อย่างไรก็ดี ในช่วงบ่ายวันที่ 1 ก.ย.2564 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามโทรศัพท์ขอสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด และ บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด เพื่อให้ยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีกครั้ง
ผ่านเบอรโทรศัพท์หมายเลข 081-15997XX ซึ่งเป็นเบอร์ติดต่อบริษัท ลีโรจน์นนท์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด
ได้รับแจ้งจากผู้ชายคนหนึ่ง อ้างว่า เป็นน้องชายของ นาง จันทิพย์ ริยะวงค์ ระบุว่า พี่สาวอยู่ระหว่างเดินทางไปจังหวัดยะลา เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ใหม่ ไม่สามารถติดต่อได้
เมื่อถามว่า บริษัท ซื่อหยวนพาณิชย์ จำกัด และ บริษัท วรรัตน์ เฟรชฟรุ๊ต จำกัด เป็นบริษัทเดียวกันหรือไม่
ผู้ชายคนนี้ ตอบว่า "เป็นบริษัทเดียวกัน เราทำธุรกิจขายสินค้าหลายยี่ห้อ"
"ส่วนเรื่องการขายทุเรียนให้กับ อคส. ไม่ทราบ แต่ตอนนี้ราคาทุเรียน กิโลกัรมละ 180 กว่าบาทแล้ว คงไม่มีใครเอามาขายให้ในราคา กิโลกรัมละ 100 บาทได้" ผู้ชายที่อ้างว่า เป็นน้องชายของ นาง จันทิพย์ ริยะวงค์ ระบุ
อ่านประกอบ :
- โมเดลเดียวถุงมือยาง! สตง.แจ้งเปิดสอบสัญญาซื้อขายทุเรียน อคส. 25 ล้าน (1)
- ล้วงหนังสือ สตง.แจ้งเปิดสอบสัญญาซื้อขายทุเรียน อคส. 25 ล.-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดนด้วย (2)
- ผู้ว่าฯ สตง.ยันลุยสอบสัญญาทุเรียน อคส. 25 ล้านจริง - คนใน พณ.แฉพฤติการณ์ชัดว่าถุงมือยาง (3)
- พฤติการณ์! สัญญาทุเรียน 25 ล้าน อคส.ซื้อมา-ขายไป เอกชนกลุ่มเดียวกัน (4)
- โชว์หลักฐาน 2 เอกชนกลุ่มเดียวกัน อคส. ทำสัญญาทุเรียน ซื้อมา-ขายไป 25 ล้าน (5)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage