'ประจักษ์ บุญยัง' ผู้ว่าฯ สตง. ยืนยัน 'อิศรา' สตง.ลุยสัญญาซื้อขายทุเรียน อคส. 25 ล้านจริง ได้เอกสารหลักฐานมาครบแล้ว รอสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องเพิ่ม - คนใน พณ. แฉข้อมูลใหม่มีวางเงินค้ำประกันสัญญาล่าช้า พฤติการณ์ปัญหาชัดกว่าถุงมือยางแสนล้าน
.................................
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข่าวกรณีในช่วงเดือนมีนาคม 2564 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งองค์การคลังสินค้า (อคส.) เพื่อขอส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบข้อมูลกรณีการทำสัญญาซื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ระหว่าง อคส.กับเอกชน ว่าการดำเนินการเป็นไปตาม กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ มาตรฐาน และคู่มือการปฏิบัติของ อคส. หรือไม่ พร้อมขอให้ อคส. จัดส่งข้อมูลเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาใช้ประกอบการตรวจสอบด้วย
โดยการทำสัญญาซื้อขายทุเรียนดังกล่าว อคส. ได้ทำสัญญาซื้อขายทุเรียนกับเอกชนรายหนึ่ง จำนวน 250 ตัน มูลค่างานตามสัญญาประมาณ 25 ล้าน ก่อนที่จะนำไปขายต่อให้กับบริษัทเอกชนอีกรายหนึ่ง เพื่อนำไปขายต่อให้กับลูกค้าในมือแล้ว ขณะที่ อคส. จะได้กำไรต่อกิโลกรัมละ 3 บาท จากราคาขาย 103 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งแบ่งเป็นราคาต้นทุน กิโลกรัมละ 100 บาท บวกราคาค่าตอบแทนที่ อคส.จะได้รับ 3 บาท แต่ปรากฏว่า หลังจากทำสัญญาซื้อขายไปแล้ว จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ที่เข้ามารับซื้อสินค้าทุเรียนต่อจาก อคส. ยังไม่ได้จ่ายเงินจำนวน 25 ล้านบาท พร้อมกำไรกิโลกรัมละ 3 บาท ให้กับ อคส. แต่อย่างใด (โมเดลเดียวกับการซื้อขายถุงมือยาง)
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า นอกจากการทำสัญญาซื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทองแล้ว อคส. ยังทำสัญญาซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบเดียวกันด้วย
- โมเดลเดียวถุงมือยาง! สตง.แจ้งเปิดสอบสัญญาซื้อขายทุเรียน อคส. 25 ล้าน
- ล้วงหนังสือ สตง.แจ้งเปิดสอบสัญญาซื้อขายทุเรียน อคส. 25 ล.-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดนด้วย
ล่าสุด นายประจักษ์ บุญยัง ผู้ว่า สตง. ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ขณะนี้ สตง. อยู่ระหว่างตรวจสอบการทำสัญญาซื้อทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ระหว่าง อคส.กับเอกชนจริง รวมถึงสินค้าเกษตรบางชนิดด้วย
"ขณะนี้เราได้รับมอบเอกสารที่เกี่ยวข้องมาหมดแล้ว อยู่ระหว่างการรอสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเท่านั้น " นายประจักษ์ บุญยังระบุ
เมื่อถามว่า โมเดลการทำสัญญาซื้อขายทุเรียน และสินค้าเกษตรอื่น เหมือนกับกรณีการทำสัญญาซื้อขายถุงมือยางหรือไม่
ผู้ว่า สตง. ตอบว่า "ต้องรอผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ก่อน แต่กรณีนี้ มีจุดเริ่มมาจากการตรวจสอบการดำเนินงานตามปกติ เมื่อตรวจสอบพบความผิดปกติ ส่อว่าจะมีปัญหาไม่สุจริตเกิดขึ้น ก็จะมีการส่งเรื่องไปยังฝ่ายสืบสวนให้เข้าดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกต่อ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการสืบสวน ถ้าหากพบหลักฐานการกระทำความผิดชัดเจน ก็จะมีการส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รับไปสืบสวนตามขั้นตอนทางกฎหมาย"
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า การทำสัญญาซื้อขายทุเรียนกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ดังกล่าว นับเป็นครั้งแรก ที่ อคส. ที่ทำสัญญาซื้อขายสินค้าเกษตรแบบนี้ ส่วนรูปแบบการดำเนินการก็มีลักษณะเดียวกันกับการซื้อขายถุงมือยางที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในขณะนี้ โดยที่อคส. จะไปซื้อสินค้ามาจากเอกชนรายหนึ่งก่อนแล้ว ทำสัญญาขายให้กับเอกชนอีกราย เพื่อหวังกินกำไรส่วนต่างจากราคาขายประมาณ 3-4 บาท
"แต่กรณีการทำสัญญาซื้อขายทุเรียนตอนนี้มีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เพราะหลังจากที่ อคส. จ่ายเงินให้เอกชนรายแรกไปแล้ว เอกชนรายสองที่นำสินค้าไปขายต่อ ยังไม่ยอมจ่ายเงินค่าสินค้าให้กับ อคส. ทั้งต้นทุนและกำไรที่จะได้รับ ขณะที่ในขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายทราบว่ามีปัญหาเรื่องความล่าช้าในการวางเงินค้ำประกันสัญญาด้วย แม้วงเงินการซื้อขายจะอยู่แค่ 25 ล้านบาท น้อยกว่าถุงมือยางมาก แต่เท่าที่ทราบปัญหาน่าจะหนักกว่าเรื่องถุงมือยางแสนล้าน รวมถึงพฤติการณ์ในขั้นตอนการทำงานที่ส่อว่าจะมีปัญหามากด้วย" แหล่งข่าวระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage