กระทรวงสาธารณสุขเผยสถานการณ์ครองเตียงล่าสุดทะลุ 3 หมื่น แม้จะเพิ่มเตียง แต่บุคลากรแพทย์เพิ่มยาก เปิดให้ผู้ป่วยอาการน้อย หรือสีเขียว รักษาตัวเองที่บ้าน หรือภายในชุมชนได้ พร้อมให้ รพ.เอกชนใช้ Antigen Rapid Test ตรวจผู้ป่วย รองรับความต้องการตรวจหาเชื้อของประชาชนที่มีเพิ่มขึ้น
...................................................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2564 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าวเรื่องการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดย นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการแยกตัวที่บ้าน (Home Isolation) และ การกักตัวในชุมชน (community Isolation) เดิมทีเราไม่อยากใช้มาตรการนี้ ถ้าไม่จำเป็นเพราะมีผลเสีย 2 อย่าง คือ ผลเสียด้านสุขภาพของผู้ติดเชื้อถ้าอยู่ที่บ้านคนเดียวไม่มีใครช่วยดูแล ถ้าสุขภาพแย่ลงอาจเปลี่ยนจากอาการสีเขียวเป็นสีแดงและเสียชีวิตได้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ผลเสียที่ 2 ผลเสียต่อชุมชน ซึ่งจากการทบทวนจากต่างประเทศ มีหลายประเทศ เช่น อังกฤษใช้การกักตัวที่บ้าน แต่ทำไม่ได้ 100% ทำให้แพร่เชื้อสู่ครอบครัว และเมื่อออกไปข้างนอกก็แพร่เชื้อในชุมชนได้ ดังนั้นถ้าไม่จำเป็นจึงไม่อยากทำเรื่องนี้
แต่วันนี้ที่จำเป็นเนื่องจากอัตราการครองเตียงพบว่า อัตราการครองเตียงประจำวัน ในกทม.และปริมณฑล ข้อมูลเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2564 เดิมครองเตียง 19,629 เตียง แต่ล่าสุดวันที่ 9 ก.ค.2564 อัตราครองเตียงขึ้นมาถึง 30,631 เตียง แค่ 1 เดือนผ่านไปอัตราครองเตียงขึ้นถึงหมื่นเตียงต่อวัน นี่คือภาระที่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกำลังประสบอยู่
"ผู้ป่วยที่มีมีอาการไม่มากและไม่มีอาการ หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวหรือเขียวอ่อนรวมแล้ว 76% ส่วนสีเหลือง 20% สีแดง 4% แต่ตรงนี้ต้องใช้เตียงไอซียูจะเห็นข้อมูลเดิม 714 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 1,206 ราย ถือว่าเพิ่มเกือบเท่าตัว จึงเป็นเหตุผลว่า เครื่องมือ อุปกรณ์ เพิ่มไม่ยาก แต่บุคลากรเพิ่มยาก และที่มีอยู่ก็เหนื่อย หลายคนติดเชื้อ การจะขยายเตียงเพิ่ม บุคลากรก็จะไม่ไหว จึงเป็นที่มาต้องมีการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชน (Community Isolation)" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
สำหรับการกักตัวที่บ้านและชุมชนนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า จะนำผู้ป่วยที่มีอาการสีเขียวอ่อน เขียวแก่เข้าในระบบดังกล่าว โดยการแยกกักตัวนั้น จะต้องทำได้จริงๆ คือ ต้องนอนคนเดียว แยกของกินของใช้ แยกขยะของเสีย ห้องน้ำใช้ร่วมกันได้ แต่ขอให้ผู้ติดเชื้อใช้คนสุดท้ายและทำความสะอาดห้องน้ำทุกครั้ง และสัมผัสกับคนให้น้อยที่สุด แต่ถ้าคนที่ไม่มีห้องนอนแยกหรือไม่สามารถแยกกักตัวจากที่บ้าน (Home Isolation) ได้ให้ใช้ การกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ซึ่งใช้หลักการ คือ บ้าน วัด และโรงเรียน อย่างไรก็ตามทั้ง 2 แนวทางนี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจผู้ป่วย โดยจะมีการประเมินร่วมกันระหว่างผู้ป่วยเอง แพทย์พยาบาล และภาคประชาสังคมหรือคนกลาง ในการประเมินร่วมกันและหาแนวทางที่เหมาะสม
นอกจากนี้ได้ทำช่องทางสื่อสารติดตามอาการทุกวัน โดยจัดระบบวิดีโอคอลเทเลคอนเฟอร์เร้น เพื่อเป็นช่องทางสื่อสาร ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเพื่อติดตามอาการทุกวัน รวมถึงยังมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉิน ขณะที่สถานพยาบาลต้องมีการลงทะเบียน พร้อมให้ที่วัดไข้และเครื่องวัดออกซิเจนในเลือด ที่สามารถทำเองได้เพื่อเช็คว่าปอดยังดีอยู่หรือไม่
ส่วนการเช็คออกซิเจนนั้น นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เราจะให้ผู้ป่วยลุกนั่งออกกำลังกาย 1 นาที ก่อนทำขอวัดออกซิเจนก่อน พอออกเสร็จวัดอีกทีหนึ่ง หากค่าออกซิเจนในกระแสเลือดลดลงกว่า 3% ก็จะต้องมาโรงพยาบาล ซึ่งเราได้เตรียมระบบส่งต่อผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินไว้ด้วย ถ้าอาการแย่ลงจะได้แอดมิดที่โรงพยาบาล
"เรื่องการบริหารจัดการเตียง มีแนวคิดว่าให้คนที่อยู่โรงพยาบาล 7-10 วันแล้วไม่มีอาการให้กลับไปแยกกักตัวที่บ้าน เพื่อให้มีเตียงเพิ่ม 40-50% และสามารถรับผู้ป่วยใหม่ได้ นอกจากนี้ในส่วนของ การกักตัวในชุมชน (Community Isolation) อาจไม่ใช่แค่วัดและโรงเรียน แต่แคมป์คนงาน หมู่บ้านหรืออื่นๆ ก็ทำได้ ถ้ามีที่แยกตัว แต่ไม่ควรเกิน 200 คน และต้องมีสิ่งแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะ" นพ.สมศักดิ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ผู้ป่วยสีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่ จะให้ใช้ระบบการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชน (Community Isolation) ทั้งหมด โดยที่ผ่านมาโรงพยาบาลราชวิถีได้ทำไปแล้ว จนมีบางรายหายเป็นปกติ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยในสองส่วนนี้กำลังจะเพิ่มขึ้น เดือนที่แล้วมี 20 รายที่เข้าระบบ วันนี้กำลังรวบรวมน่าจะมีจำนวน 400-600 รายแล้ว จึงฝากให้ประชาชน พิจารณา 2 แนวทางดังกล่าว พร้อมยืนยันว่ามาตรการที่เตรียมไว้เพื่อให้ประชาชนปลอดภัยที่สุด
นพ.สมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ต้องยอมรับว่าวันนี้เตียงไม่พอจริงๆ ซึ่งจะขยายเตียงได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ไม่ไหว ดังนั้นเพื่อประคองสถานการณ์ให้ผ่านไปได้ต้องใช้การแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และชุมชน (Community Isolation) ดังกล่าว ซึ่งหากภายใน 2 สัปดาห์นี้ กดกราฟลงมาไม่ได้และยังทำทุกอย่างเหมือนเดิม จะมีปัญมาก แต่ถ้าทุกภาคส่วนร่วมมือกัน ภายใน 2 สัปดาห์นี้ จะทำให้ลดลงได้ 40-50% และเราจะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันที่พบผู้ป่วยมากขึ้นและมีผู้ที่ต้องการเข้ารับการตรวจเชื้อเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ออกแบบระบบ ว่า สถานพยาบาลที่ไหนตรวจพบผู้ติดเชื้อต้องรับแอดมิด แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป จะเห็นข่าวโรงพยาบาลเอกชนไม่รับตรวจ เพราะเตียงเต็ม วันนี้จึงได้แจ้งสถานพยาบาลเอกชนว่าให้รับตรวจเชื้อให้ประชาชน โดยใช้ชุดตรวจโควิดอย่างง่าย หรือ Antigen Rapid Test เพื่อให้ตรวจง่ายขึ้น ซึ่งหากโรงพยาบาลเอกชนใดตรวจผู้ป่วยแล้ว ถ้ามีพบผลบวกให้พิจารณาใช้ทั้ง 2 แนวทาง คือ ถ้ามีเตียงและผู้ป่วยเข้าหลักเกณฑ์ให้หาเตียงให้ แต่ถ้าไม่สามารถหาเตียงได้ให้ทำมาตรการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) เพื่อให้ประชาชนเข้ารับการดูแลต่อในระบบ
ทั้งนี้หากพบผู้ป่วยหลายคนแข็งแรงดี มีข้อกำหนดเหมาะสมก็จัดให้ทำการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ได้เลย เพื่อช่วยลดภาระ และลดความตื่นตระหนกของภาคประชาชน จึงฝากสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ไม่ต้องกลัวว่าตรวจแล้วไม่มีที่แอดมิด เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องตระเวนหาตรวจตามที่ต่างๆ
อ่านข่าวประกอบ:
สธ.เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีรับผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้าน-เผยแนวปฏิบัติการกักตัว
แยกของใช้ อยู่ให้ห่างผู้อื่น! ข้อควรปฏิบัติหากป่วยโควิดและต้องกักตัวที่บ้าน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage