“....ความสัมพันธ์ของกลุ่มเอกชนที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคา พบว่า บริษัท ออคตากอน มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส จำกัด และบริษัท อินแทรค แอนด์ โค จำกัด มีนายชาติชาย จิตติยากูล เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยนายชาติชาย ยังเป็นกรรมการ บริษัท พี.ที. (พานทอง) อินเตอร์เทรด จำกัด ของคนสกุล ‘เบ็ญจศิริวรรณ’ ที่มี นายอดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ อดีตที่ปรึกษา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย ขณะที่ บริษัท ออคตากอนฯ เคยมี นายอดิศักดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะชี้แจงว่า ได้ลาออกในภายหลัง…”
...................................................
มหากาพย์คดีก่อสร้างสนามฟุตซอลพื้นที่ภาคเหนือ เดินทางมาถึงโค้งสุดท้ายแล้ว
เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2564 สื่อหลายสำนักรายงานข่าวอ้างคำให้สัมภาษณ์นายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ในเร็ว ๆ นี้ จะมีการแถลงมติการชี้มูลความผิดคดีทุจริตโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเป็นกรณีกระจายงบประมาณไปจัดทำสนามหญ้าเทียม มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเกี่ยวข้องด้วย
มีรายงานข่าวแจ้งว่า กรณีดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอลในพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ โดยผู้ถูกกล่าวหาปัจจุบันเป็น ส.ส. ของพรรคการเมืองหนึ่ง โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ส.ส. รายดังกล่าว กับพวกที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเจ้าหน้าที่จำนวนมาก โดยพบว่ามีพฤติการณ์คล้ายกับกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนักการเมือง อดีตผู้บริหารระดับสูงใน สพฐ. กับพวกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ก่อนหน้านี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย รายหนึ่ง กับพวกที่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผู้บริหารโรงเรียน รวมทั้งสิ้น 16 สำนวน โดย ส.ส. รายนี้ถูกชี้มูลในทุกสำนวน ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 123/1 และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาในหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2543 (พ.ร.บ.ฮั้วฯ) ด้วย
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบที่มาที่ไป
สำนักข่าวอิศรา สรุปข้อมูลให้ทราบ ดังนี้
ความเป็นมาของโครงการก่อสร้างสนามสนามฟุตซอล เกิดจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในยุค รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2555 กว่า 600 ล้านบาท ให้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ รวม 17 จังหวัด
โดยงบประมาณดังกล่าวได้มาจากการแปรญัตติของ ส.ส. ที่ระบุเป็นค่าก่อสร้าง-ปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารประกอบ และสิ่งก่อสร้างที่ชำรุดทรุดโทรมที่ประสบอุบัติภัย แต่กลับนำไปก่อสร้างสนามฟุตซอล โดยเจาะจงส่งงบประมาณไปในจังหวัดข้างต้นที่กลุ่มการเมืองต้องการ โดยกลุ่มการเมืองไปติดต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา หรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ให้นำงบประมาณไปก่อสร้างตามโรงเรียนที่กำหนด โดยกำหนดให้ดำเนินการตามแนวทางการจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา การกำหนดราคากลาง รวมทั้งร่างบันทึกการกำหนดขอบเขตงาน (TOR) เป็นต้นทั้งนี้เพื่อต้องการให้บริษัทห้างร้านของกลุ่มการเมืองดังกล่าวเป็นผู้ได้รับงาน
ในส่วนของภาคเหนือนั้น สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่า มีเอกชนเป็นผู้ชนะการประกวดราคาอย่างน้อย 6 แห่ง ได้แก่ บริษัท ออคตากอน มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส จำกัด บริษัท ลีกา ฟุตซอล จำกัด บริษัท อินแทรค แอนด์ โค จำกัด หจก.เอ็ม ที 9 ก่อสร้าง บริษัท มหวัฒน์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด และบริษัท แก้วเก้า คอนแทร็คติ้ง จำกัด รวมอย่างน้อย 49 สัญญา วงเงินประมาณ 112 ล้านบาทเศษ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีฟุตซอลพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.อุตรดิตถ์ จ.น่าน จ.พะเยา จ.พิษณุโลก จ.ตาก และ จ.สุโขทัย หลังจากนั้นเมื่อปี 2559 มีการแจ้งข้อกล่าวหาแก่ ส.ส. กลุ่มผู้บริหารท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ระดับสูงใน สพฐ. เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงเอกชนทั้ง 6 แห่งข้างต้นด้วย (อ่านประกอบ : รวม 15 สำนวน! คดีสร้างสนามฟุตซอลฉาวภาคเหนือ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาอีก 2 ราย, เปิดทุกสัญญา 90 ล.เอกชนสร้างสนามฟุตซอลภาคเหนือก่อน ป.ป.ช.แจ้งข้อหา)
สำหรับความสัมพันธ์ของกลุ่มเอกชนที่เป็นผู้ชนะการประกวดราคา พบว่า บริษัท ออคตากอน มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส จำกัด และบริษัท อินแทรค แอนด์ โค จำกัด มีนายชาติชาย จิตติยากูล เป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยนายชาติชาย ยังเป็นกรรมการ บริษัท พี.ที. (พานทอง) อินเตอร์เทรด จำกัด ของคนสกุล ‘เบ็ญจศิริวรรณ’ ที่มี นายอดิศักดิ์ เบ็ญจศิริวรรณ อดีตที่ปรึกษา รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย ขณะที่บริษัท ออคตากอนฯ และบริษัท ลีกา ฟุตซอล จำกัด เคยมี นายอดิศักดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนจะชี้แจงว่า ได้ลาออกในภายหลัง
สำหรับบริษัท ลีกาฟุตซอล จำกัด บริษัท ออคตากอน มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิส จำกัด และ บริษัท อินแทรค แอนด์ โค จำกัด ของ เป็นผู้ชนะการประกวดราคาอย่างน้อย 28 แห่ง
พฤติการณ์ตามการไต่สวนของ ป.ป.ช. เบื้องต้นพบว่า 1.มีการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน โดยพื้นคอนกรีตไม่ถูกต้องตามคุณลักษณะเฉพาะ นำวัสดุแผ่นยางสังเคราะห์สำหรับสนามในร่มมาใช้ในสนามกลางแจ้งทำให้ไม่สามารถใช้งานได้ และไม่มีความทนทาน เป็นการใช้วัสดุผิดประเภท เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการก่อสร้าง
2.ราคาแพงเกินจริง
3.ผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นพื้นที่ของนักการเมือง และนักการเมืองเป็นผู้รับเหมา (อ่านประกอบ : ย้อนรอยคดีทุจริตสนามฟุตซอลสพฐ.ก่อนป.ป.ช.รูดม่านปิดสำนวนเชือด'ส.ส.-บิ๊กขรก.-ครูนับร้อย', จำแนก5กลุ่ม ครูเอี่ยวนับร้อย'ส.ส.-บิ๊กสพฐ.'โดนด้วย! ป.ป.ช.จ่อฟันคดีทุจริตส.ฟุตซอลทั่วปท.)
ทั้งหมดคือที่มาที่ไปคดีทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอลพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนที่โฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. จะเตรียมแถลงมติชี้มูลความผิด ส.ส. กับพวกที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการในเร็ว ๆ นี้
ส่วน ส.ส. รายดังกล่าวคือใคร ต้องติดตามในการแถลงข่าวกันต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบสนามฟุตซอลจาก https://static.posttoday.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/