องค์การเภสัชกรรม แจงไทม์ไลน์ติดต่อซื้อวัคซีน 'โมเดอร์นา' ยืนยันไม่ได้ล่าช้า ต้องรอ รพ.เอกชน รวบรวมเงิน - สำรวจความต้องการวัคซีน ถึงจะเซ็นสัญญาได้ คาดไตรมาส 4 ได้ 4 ล้านโดส ส่วนอีก 1 ล้านโดสมาต้นปี 65 ขณะที่กรมควบคุมโรค เผย สัญญาจัดซื้อวัคซีน 'ไฟเซอร์' อยู่ระหว่างตรวจสอบโดย อสส. คาด 5 ก.ค.ดำเนินการเสร็จตามขั้นตอน
------------------------------------------------------------
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) แถลงชี้แจงประเด็นสำคัญด้านการแพทย์และสาธารณสุขเรื่องวัคซีน นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีการทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาล่าช้า ว่า ก่อนการระบาดใหญ่ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ที่ได้รับมอบหมายให้ทำเรื่องนี้ เราได้ติดต่อไปที่บริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา โดยมีลำดับเวลา ดังนี้
วันที่ 25 ก.พ.2564 ติดต่อบริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา เพื่อสั่งจองวัคซีน 5 ล้านโดส ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้วัคซีนช่วงกลางเดือน มิ.ย.2564
วันที่ 28 ก.พ.2564 บริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา ตอบกลับมาว่า การผลิตมีจำกัดเนื่องจากความต้องการสูงมาก ทำให้สามารถส่งได้เร็วที่สุดคือไตรมาส 1 ของปี 2565
วันที่ 1 เม.ย.2564 อภ.ถามกลับบริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา ว่าได้ตั้งบริษัทใดมาผู้แทนจำหน่ายอย่างถูกกฎหมาย (Authorized dealer) เนื่องจากมีเอกชนมาแสดงตัวมากกว่า 2 รายว่าสามารถนำเข้าวัคซีนให้ไทยได้
วันที่ 2 เม.ย.2564 บริษัทโมเดอร์นา สหรัฐอเมริกา แจ้งว่า อยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด แต่เพียงผู้เดียว และหวังว่าจะสรุปสัญญากับบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ให้เร็วที่สุด
นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า บริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ออกแถลงการณ์ชี้แจงเมื่อวันที่ 15 พ.ค.ว่า การจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นา ต้องจัดซื้อผ่านตัวแทนภาครัฐเท่านั้น ในที่นี้คือองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากเป็นข้อกำหนดของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่งผลให้องค์การเภสัชกรรมถูกมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาครัฐ เพื่อนำมาขายต่อให้กับภาคเอกชน
นพ.วิฑูรย์ กล่าวอีก่วา หากถามว่าทำไมถึงช้า เนื่องจากวัคซีนตัวนี้ไม่มีการจัดซื้องบประมาณจากภาครัฐมา ถามว่าช้าตรงไหน ไทม์ไลน์ชัดอยู่แล้วว่าสินค้าจะมาปีหน้าด้วยซ้ำไป แต่มีการเจรจาต่อรองจนได้ประกาศต่อสาธารณชนว่าจะมาไตรมาส 4 ปีนี้ ถามว่าระหว่างนี้เราควรทำอะไร เนื่องจากเราต้องเอางบประมาณเอกชนไปซื้อ เราได้ประสานกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ที่มีโรงพยาบาลทั่วประเทศ 300 แห่ง ที่จะต้องรวบรวมยอด บางโรงพยาบาลใช้การยืนยันถึงเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อสะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงเพื่อประกอบการจัดซื้อ ไม่ใช่ว่าเจ้าใหญ่มีเงินเยอะ แต่ไม่มีข้อมูลอะไรเลย เพื่อมายืนยันความต้องารซื้อวัคซีน โดยขณะนี้มีตัวเลขแสดงความต้องการวัคซีน 9 ล้านโดสเศษ ในขณะที่เราสามารถจัดหาตอบสนองได้ในไตรมาส 4 นี้เพียง 4 ล้านโดสเท่านั้น และจะได้อีก 1 ล้านโดสในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งทางสหรัฐอเมริกาไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าวัคซีนจะมาวันไหน เดือนไหน เพียงแต่บอกว่ามาเป็นไตรมาสเท่านั้น
“ถามว่าทำไมองค์การเภสัชกรรม ยังไม่ยอมเซ็นสัญญาสักที ผมต้องมีเวลาให้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนรวบรวมเงินมาก่อน เอาเงินมาให้ผม ผมจึงไปเซ็นสัญญาได้ หากผมไปเซ็นสัญญาก่อน โดยที่ความต้องการไม่มีอยู่จริง องค์การเภสัชกรรมคงรับผิดชอบไม่ไหว เนื่องจากเป็นวัคซีนที่มีราคาแพงและมีจำนวนมากด้วย และจะเห็นว่า เราก็ตกลงกับโรงพยาบาลเอกชนไว้แล้วว่า ภายในเดือนนี้ไปรับเงินมัดจำหรือรวบรวมเงิน จากนั้นวางแผนไว้ว่าจะเซ็นสัญญากับบริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด ภายในสัปดาห์แรกของเดือนหน้า ซึ่งก็ได้สื่อสารไปมาโดยตลอด” นพ.วิฑูรย์ กล่าว
นพ.วิฑูรย์ กล่าวย้ำว่า เอกสารทั้งหมดเราได้ร่างไว้หมดแล้ว ส่วนข้อจำกัดที่เป็นความต้องการของต่างประเทศ ได้ส่งหนังสือไปถามสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ซึ่งเราเพิ่งได้รับเอกสารจาก บริษัทซิลลิค ฟาร์มา จำกัด เมื่อเช้าวันที่ 2 ก.ค.2564 จากนั้นเราได้รวบรวมและส่งไป อสส.ตอนช่วงเที่ยง ส่วนบางประเด็นอาจจะต้องนำไปหารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยซ้ำไป เพราะเป็นเรื่องสิทธิประโยชน์ อยู่นอกเหนืออำนาจเรา ส่วนการกระจายวัคซีนจากนี้ก็เห็นว่าจะต้องกระจายให้ถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ขนาดเล็กถึงขนาดใหญ่ทั่วประเทศ รวมถึงรวบรวมถึงสิทธิประโยชน์และประกันภัยส่วนบุคคลให้ด้วย
“ยืนยันตามเดิมว่าทางสหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าโมเดอร์นา ข้อเสนอที่ดีที่สุดน่าจะมาไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เพียงแต่ ต.ค.64 - ก.พ.65 ในจำนวนประมาณ 5 ล้านแรกนี้ เพราะฉะนั้นอาจจะเป็น 1 ต.ค.2564 หรือ 31 มี.ค.2564 ก็ได้ เขาตอบได้แค่กว้างๆ เท่านี้ครับ” นพ.วิฑูรย์ กล่าว
(ข่าวประกอบ : โชว์รายได้ล่าสุด 6 หมื่นล.! เปิดตัว ซิลลิค ฟาร์มา ตัวแทนผู้นำเข้าวัคซีนโควิดโมเดอร์นา)
นพ.วิฑูรย์ กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนตัวอื่น เราก็เฝ้าจับตาดูอยู่ตลอด รวมถึงเรื่องยาที่มีการวิจัยติดตามเพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ ทั้งนี้มีวัคซีนๅ mRNA อีกประมาณ 2-3 ยี่ห้อที่เรากำลังติดตามดูอยู่ในขณะนี้ รวมถึงวัคซีนชนิดเชื้อตายอื่นๆ และวัคซีนที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรมเองด้วย โดยผลวิจัยออกมาเป็นที่น่าพอใจ และจะดำเนินการทดลองในเฟส 2 อย่างช้าไม่เกิน 10 ส.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีวัคซีนทางเลือกยังมีโอกาสนำเข้าได้เร็วกว่ากำหนดการอีกหรือไม่ นพ.วิพูรย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนประมาณ 11,540 ล้านโดส ข้อมูล ณ วันที่ 23 มิ.ย. เฉพาะวัคซีนโมเดอร์นา มีความต้องการ 2,000 ล้านโดส ขณะเดียวกันทั่วโลกผลิตวัคซีนได้เพียง 9,000 ล้านโดส จะมีช่องว่างอยู่ 2,000 ล้านโดสที่ไม่สามารถตอบสนองได้ อย่างไรก็ตามเราก็ไม่ได้ย่อท้อ ทุกเรื่องที่ถูกปฏิเสธก็ยังพยายามต่อรองไปอย่างต่อเนื่อง
"เราไม่ได้ย่อท้อ ทุกเรื่องที่ถูกปฏิเสธ เราพยายามต่อรองไปอย่างต่อเนื่อง อย่างทุกวันนี้เราคุยกันทุกสัปดาห์ ขอร้องเขา บางครั้งนำเรียนผู้ใหญ่ หลายท่านก็ให้ความช่วยเหลือติดต่อสถานทูตให้ด้วย หากมีข่าวดีเราก็รีบแจ้ง บางครั้งเห็นข่าวว่าจะริบวัคซีนบางประเทศที่เซ็นสัญญาไม่ได้ เราก็รีบติดต่อไปแสดงความต้องการ แต่ยังได้รับคำตอบเหมือนเดิม ยืนยันว่าเราไม่ได้ล้มเลิก เมื่อถูกปฏิเสธไม่เคยย่อท้อ ขอเรียนว่าตอนนี้ ข้าศึกไม่ได้ประชิดบ้านเรา พวกเรากำลังตะลุมบอนกันอยู่ ขอความเห็นใจ ก็เอาความจริงมาพูด เบื่องต้นประมาณนี้ ทำดีที่สุดในสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดแบบนี้” นพ.วิพฑูรย์ กล่าว
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้กรมควบคุมโรคจัดหาวัคซีนมาตั้งแต่แรก คือ วัคซีนซิโนแวคที่นำเข้ามาในช่วงที่มีการระบาดของโควิด ตั้งแต่คลัสเตอร์สมุทรสาคร เราจัดหาวัคซ๊นมาตั้งแต่ ก.พ.2564 และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่มีการนำเข้าแอสตร้าเซนเนก้ามาอีกแสนกว่าโดส จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ มี.ค. - พ.ค.ที่ผ่านมา เรามีวัคซีนเข้ามาตลอดทุกเดือน ถึงวันนี้ฉีดไปแล้วมากกว่า 10 ล้านโดส โดยวัคซีนหลักยังเป็นแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวคที่จะทยอยนำเข้ามาทุกเดือน
นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้่เราได้เจรจาวัคซีนไฟเซอร์ ที่เป็น mRNA ซึ่งเพิ่งขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อ 24 มิ.ย.2564 โดยที่ผ่านมาลงนามไปแล้ว 2 ฉบับ คือ 1.เอกสารสัญญาเพื่อรับทราบข้อกำหนดเบื้องต้นว่าจะไม่เปิดเผยข้อมูลต่างๆ หรือ Confidential disclosure agreement และ 2.ข้อตกลงจองวัคซีนเบื้องต้น ที่เป็นทราบกันแล้วว่าเราจัดซื้อ 20 ล้านโดส ส่วนสัญญาฉบับที่ 3 อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียด อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาต้องมีความรอบคอบหลายด้าน เช่น เงื่อนไขในสัญญาของบริษัทผู้ผลิต อาทินำเงินมาจอง จ่ายเงินล่วงหน้า หรือไม่มีค่าปรับกรณีส่งมอบไม่ทันตามกำหนด และคาดว่าวัคซีนไฟเซอร์จะส่งมอบได้ในช่วงไตรมาส 4 เช่นกัน โดยขณะนี้ เราได้ส่งสัญญาจัดซื้้อวัคซีนไฟเซอร์ ให้ อสส.ตรวจสอบแล้ว คาดว่าวันที่ 5 ก.ค.นี้จะแล้วเสร็จ และบางรายละเอียดก็จะนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 6 ก.ค.นี้อีกด้วย
ข่าวประกอบ :
อสส.เพิ่งได้รับสัญญา'โมเดอร์นา' บ่ายสาม 2 ก.ค. - 'ไฟเซอร์' ถึงมือตั้งแต่ 28 มิ.ย.
องค์การเภสัชกรรมเผยส่งร่างสัญญาซื้อวัคซีน'โมเดอร์นา'ให้อัยการสูงสุดแล้ว
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage