ครม.มีมติเห็นชอบเพิ่มหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือผลกำไรมาแบ่งปันกัน และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. ... กำกับดูแลเอ็นจีโอ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินสากล
............................
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.256 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2564 ว่า ตามที่ ครม. มีมติเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 อนุมัติหลักการร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือผลกำไรมาแบ่งปันกัน และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ. …. โดยให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) นำไปประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมาย และเปิดรับความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม. พิจารณาอีกครั้ง ในวันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบเพิ่มเติมหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรฐานสากลด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Anti-Money Laundering and Combating the Financing of terrorism: AML/CFT ) จำนวน 8 ข้อ ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเสนอ สำหรับสาเหตุที่ต้องเพิ่มเติมหลักการร่างกฎหมายในครั้งนี้
น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกของกลุ่มต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Group on Money Laundering: APG) ประเทศสมาชิกจะต้องเข้ารับการประเมินการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล โดยผลการประเมินความสอดคล้องด้านกฎหมายองค์กรไม่แสวงหากำไรของไทยรอบที่ 3 มีความสอดคล้องเพียงบางส่วน จึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหากำไร ในส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล จำนวน 8 ประเด็น ประกอบด้วย
1. การจดทะเบียนและการเปิดเผยข้อมูลการจดทะเบียน เนื่องจากปัจจุบันยังมีองค์กรไม่แสวงหากาไรจำนวนมากที่ไม่ได้จดทะเบียน และการลงโทษยังไม่เหมาะสม
2. การเก็บรักษาข้อมูลวัตถุประสงค์ของกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และชื่อบุคคลที่เป็นเจ้าของหรือมีอำนาจควบคุม และการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากไม่ชัดเจนว่ามีข้อมูลดังกล่าวและสาธารณชนสามารถเข้าถึงได้
3. การจัดทางบการเงินประจำปีที่แยกรายละเอียดของรายรับและรายจ่าย เนื่องจากกฎหมายที่มีอยู่ไม่ครอบคลุมองค์กรไม่แสวงหากำไรต่างประเทศ
4. การควบคุมการใช้เงินให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจการตรวจสอบของนายทะเบียน รวมถึงการตรวจสอบบัญชีเป็นไปอย่างครบถ้วนและการใช้จ่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่
5. มาตรการยืนยันตัวตนผู้รับประโยชน์และการจัดเก็บเอกสารแสดงตนของผู้บริจาค เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว และไม่มีกระบวนการที่ชัดเจนในการรับบริจาคจากต่างประเทศ
6. การเก็บรักษารายการธุรกรรมอย่างน้อย 5 ปี และการเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำกับดูแลเรื่องดังกล่าว
7. บทลงโทษที่มีประสิทธิผล ได้สัดส่วน และมีผลยับยั้งการกระทำผิด เนื่องจาก การลงโทษยังขาดในด้านประสิทธิผล ความเหมาะสม และมีผลยับยั้งการกระทำผิดขององค์กรไม่แสวงหากำไร
8. การให้ข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรกับหน่วยงานต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจเปิดเผยข้อมูลองค์กรไม่แสวงหากำไรกับหน่วยงานต่างประเทศ และไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรไม่แสวงหากำไรกับต่างประเทศ
น.ส.รัชดา กล่าวด้วยว่า หากประเทศไทยไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกำกับดูแลองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากลอาจส่งผลให้ไทยไม่ผ่านการประเมินรอบที่ 4 ในปี 2568 และอาจถูกจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีข้อบกพร่องเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องติดตามและรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ เมื่อ สคก. ได้ดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว จะมีการเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอีกครั้ง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage